กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตือนประชาชนให้เฝ้าระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษกัดต่อยในช่วงฤดูฝน พร้อมแนะนำวิธีป้องกันการบาดเจ็บจากสัตว์มีพิษในช่วงฤดูฝน ดังนี้
- สำรวจเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง
- นอนบนที่นอนหรือเตียงที่สูงเหนือพื้นดินและใช้มุ้งกาง
- ไม่เดินในที่รก
- ตรวจสอบจุดเสี่ยงและสังเกตตามมุมอับของบ้านเป็นประจำ
- ทำความสะอาดบ้านเรือน
- ถางหญ้าและตัดแต่งต้นไม้ให้โล่ง
- จัดให้บริเวณทางเดินมีแสงสว่างเพียงพอ
โดยสัตว์มีพิษนบางชนิด ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้และที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูมีหลายชนิด เช่น
งูพิษ
งูมักอาศัยในที่ชื้นแฉะ เช่น ท่อระบายน้ำ พื้นที่รก หรือแม้แต่ในชักโครก สายพันธุ์ที่พบมาก ได้แก่ งูเห่า งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ งูเหลือม งูหลาม เป็นต้น
- การป้องกัน: ปิดช่องทางที่งูสามารถเข้าบ้านได้ ตรวจสอบระบบท่อไม่ให้มีรูรั่วหรือรอยแตก ใส่ตะแกรงท่อระบายน้ำทุกอัน ป้องกันไม่ให้งูเลื้อยขึ้นจากท่อระบายน้ำ หรืออาจจะโรยปูนขาวไว้รอบๆ บริเวณบ้าน เพื่อป้องกันมิให้งูเลื้อยเข้ามา พร้อมหมั่นตัดหญ้าอยู่เสมออย่าปล่อยให้รก
- อันตราย: งูมีพิษมักจะฉกเหยื่อ หรือแผ่แม่เบี้ย พิษของงูบางชนิด เช่น งูแมวเซา อาจทำให้เลือดออกมากและไตวายเฉียบพลัน
- การปฐมพยาบาล: ห้ามกรีดหรือดูดแผล ไม่ควรขันชะเนาะ แต่ให้รีบนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที
แมลงก้นกระดก
หรือที่เรียกกันว่า ด้วงก้นกระดก ด้วงก้นงอน หรือ ด้วงปีกสั้น เป็นแมลงขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ลำตัวมีสีดำสลับส้มเป็นปล้องๆ จุดเด่นของแมลงชนิดนี้คือเมื่อเกาะแล้วจะมีลักษณะเหมือนก้นกระดกขึ้นมา ชอบแสงสว่าง มักพบเข้ามาตอมหลอดไฟในบ้านเรือนช่วงฤดูฝนและร่วงหล่นตามพื้น
- อันตราย: ทำให้เกิดอาการแสบร้อนเป็นรอยไหม้หลังจากสัมผัสพิษประมาณ 8-12 ชั่วโมง โดยส่วนมากมักเกิดจากการสัมผัส ปัด หรือบี้ตัวแมลง จนทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง หากโดนตาอาจทำให้ตาบอด
- การป้องกัน: ปิดหน้าต่างในเวลากลางคืน ใช้ผ้าม่านกันแมลง
- การปฐมพยาบาล: เมื่อโดนพิษจากแมลงก้นกระดก ให้รีบล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาดด้วยน้ำสบู่หลายครั้ง ประคบเย็น หรือใช้น้ำเกลือสำหรับล้างแผลล้างทันที แต่หากเกิดตุ่มน้ำและรอยแดงขึ้นแล้วสามารถทายาเพื่อรักษารอยแดงซึ่งจะหายไปเองประมาณ 2-3 วัน แต่หากมีอาการรุนแรงเนื่องจากแพ้พิษให้รีบพบแพทย์
ผึ้ง ต่อ แตน
เป็นแมลงที่มีเหล็กใน เมื่อต่อยแล้วเหล็กในแทงจะหลุดและปล่อยน้ำพิษผึ้งจะตายหลังต่อย ผึ้งที่ต่อยศัตรู คือ ผึ้งงาน และผึ้งนางพญา ต่อ แตนตัวเมียมีเหล็กในและต่อมพิษเช่นเดียวกับผึ้ง แต่เมื่อต่อยศัตรูแล้ว จะๆไม่ปล่อย หรือทิ้งเหล็กใน จึงทำให้สามารถใช้เหล็กในต่อยศัตรูได้อีกหลายครั้ง
- อันตราย: ต่อมพิษมีส่วนประกอบที่เป็นสารเคมีแตกต่างกันไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ เข้าสู่ร่างกาย แล้วมีผลทำให้เกิดอาการเจ็บปวด กล้ามเนื้ออักเสบ คันบวม เม็กเลือดแดงแตก ออกฤทธิ์ ต่อระบบประสาท
- การป้องกัน: เมื่อเห็นรังผึ้ง ต่อ แตน อย่าเข้าไปใกล้ และอย่านำสิ่งของใดๆ ขว้างปาใส่รัง เพราะจะทำให้มันบินมากัดต่อยได้ และไม่ควรใส่เสื้อผ้าสีสดใส หรือน้ำหอมในบริเวณที่สัตว์เหล่านี้อยู่ เพราะจะดึงดูดสัตว์เหล่านี้มาไต่ตอม เสี่ยงต่อการถูกกัดต่อย
- การปฐมพยาบาล: ควรรีบนำเหล็กในออกจากแผลทันที (เฉพาะผึ้ง) จากนั้นล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่เพื่อบรรเทาความรุนแรงของอาการ ประคบน้ำแข็งบริเวณที่โดนต่อยประมาณ 20 นาที ทุก ๆ 1 ชั่วโมง ถ้าปวดมากให้กินยาพาราเซตามอล และควรกินยาแก้แพ้ร่วมด้วย หากคลื่นไส้ อาเจียนปวดท้องหรือมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรือถูกกัดต่อยเป็นจำนวนมากกว่า 20 จุด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
ตะขาบ
เป็นสัตว์กินเนื้อหรือกินซาก ชอบซุกตัวในที่อับชื้นและรก เช่น ใต้ตุ่มน้ำ กองไม้
- อันตราย: พิษทำให้ปวด บวม แดง บางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเนื้อตายเฉพาะที่
- การป้องกัน: รักษาความสะอาดบริเวณบ้าน กำจัดเศษไม้ใบไม้
- การปฐมพยาบาล: ล้างบริเวณแผลด้วยน้ำสะอาด ประคบความเย็นหรือน้ำแข็ง ถ้าปวดให้กินยาพาราเซตามอล ทาบริเวณที่ถูกกัดหรือต่อยด้วยครีมสตีรอยด์ หรือแอมโมเนีย ถ้ามีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจลำบาก และรู้สึกตัวน้อยลง จะต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
แมงป่อง
เป็นสัตว์มีพิษที่ออกหากินเวลากลางคืน ซ่อนตัวในที่ชื้น เช่น ใต้กองไม้ ใบไม้
- อันตราย: พิษมีผลต่อระบบประสาทและโลหิต อาจทำให้กล้ามเนื้อกระตุก อาเจียน ชัก
- การป้องกัน: อุดรูที่พื้นและผนังที่แตกร้าว รักษาความสะอาดภายในบ้าน
- การปฐมพยาบาล: ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ประคบเย็น และพบแพทย์หากอาการรุนแรง คล้ายกันกับตะขาบ
ทั้งนี้ เมื่อถูกสัตว์มีพิษกัดต่อยให้ใช้หลัก 4 จ. คือ
- จดจำลักษณะสัตว์
- จัดการล้างแผลด้วยน้ำสะอาด
- จำกัดบริเวณที่ถูกกัด ไม่เกา ไม่ถู และ
- จำกัดการเคลื่อนไหวน้อยที่สุด
หากผู้ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อยมีอาการรุนแรงให้รีบแจ้ง 1669 หรือหน่วยแพทย์เพื่อนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว