เปิดใจศิลปินรุ่นใหม่รางวัลศิลปกรรมช้างเผือก
GH News May 12, 2025 03:08 PM

เปิดเผยแรงบันดาลใจเป็นครั้งแรกของศิลปินเจ้าของรางวัลช้างเผือกเวทีประกวดงานศิลปะใหญ่ที่สุดในไทยขณะนี้  นิรัชพร น่วมเจิม พูดคุยถึงเรื่องราวการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะสามมิติ“ตะเพี๊ยนตะเพียน” กับโจทย์ท้าทาย“น้ำกับความเปลี่ยนแปลง” ที่ใครหลายคนอยากรู้ พร้อมชมการแสดงนิทรรศการ “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 14 “ กลางเมืองที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

นิรัชพร น่วมเจิม ศิลปินรางวัลช้างเผือกผู้คว้าเงินรางวัลหนึ่งล้านบาท กล่าวว่า ผลงานชื่อ “ตะเพี๊ยนตะเพียน” พูดถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่หายไปจากการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ ผลจากการกระทำของมนุษย์  โดยหยิบวัสดุเหลือใช้จากเครื่องมือหาปลาในท้องถิ่นนำมาสานเป็นปลาตะเพียน สัตว์สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ สื่อสารให้กลายเป็นความอุดมสมบูรณ์ที่หายไป พร้อมทั้งนำเสนอตัวละครของชาวบ้านและเรื่องราววิถีชีวิตชนบทที่ใช้ชีวิตผูกพันกับแม่น้ำลำคลอง ชิ้นงานครอบด้วยกล่องอะคริลิกสีแดง ตู้กระจกที่สะท้อน และใส่เสียงประกอบเพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมงานศิลปะ สะท้อนให้เห็นตัวเราและเรื่องราวในอดีต วันหนึ่งปลาตะเพียนอาจมีให้ชมที่พิพิธภัณฑ์เท่านั้น เป็นวัตถุที่บอกเล่าเรื่องราวอันล้ำค่าต่อไป

สำหรับการประกวด“ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 14 “  มีศิลปินลงชิงชัยทั้งหมด 391 คน  ผลงานส่งประกวด 458 ชิ้น ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นทั้งหมด 52 ชิ้น นอกจากรางวัลศิลปกรรมช้างเผือก ยังมีรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “Waterworld” โดย เญอรินดา แก้วสุวรรณ รับเงินรางวัล 500,000 บาท รางวัลคุณหญิงวรรณา ได้แก่ “ธาราแห่งความงอกงาม” โดย ธีรพล สีสังข์ รับเงินรางวัล 400,000 บาท รางวัล CEO AWARD ได้แก่ “จุดเริ่มต้น – Genesis” โดย นารา วิบูลย์สันติพงศ์ รับเงินรางวัล 250,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 5 รางวัล รางวัลละ 200,000 บาท ประกอบด้วยพงศ์ศิริ คิดดี   ,สิทธิพนธ์  เลาะไชยสงค์, อนันต์ยศ จันทร์นวล, ธีรพล โพธิ์เปียศรี และ บุญมี แสงขำ และรางวัลชมเชยอีก 12 รางวัล รางวัลละ 100,000 บาท

นิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประกวดศิลปกรรมช้างเผือกเกิดจากความตั้งใจอันดีของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)  เพื่อเฟ้นหาศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่มีทักษะความสามารถทางศิลปะอันโดดเด่นในการสร้างสรรค์ศิลปะแบบเหมือนจริง (Realistic) และศิลปะรูปลักษณ์ (Figurative Art) โดยยึดถือความเหมือนจริงเป็นแก่นสำคัญ เพื่อให้ผลงานเหล่านี้เป็นอีกแนวทางสำคัญเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านศิลปะร่วมสมัยให้ขยายไปสู่การรับรู้ของสังคมในวงกว้าง เริ่มครั้งแรกปี พ.ศ. 2554 และจัดต่อเนื่องทุกปี ปีนี้ได้นับการตอบรับจากศิลปินร่วมแสดงฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ตีความจากโจทย์”น้ำกับความเปลี่ยนแปลง”  แต่ละคนสร้างผลงานที่น่าสนใจในรูปแบบและแนวทางที่แตกต่างอย่างน่าประทับใจ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงเป็นองค์ประธานในการพระราชทานรางวัลจนถึงปัจจุบัน

เญอรินดา แก้วสุวรรณ รางวัลชนะเลิศจากผลงาน “Waterworld” เทคนิคเย็บปักถักร้อย กล่าวว่า ผลงาน  สะท้อนถึงวัฏจักรน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ แรงบันดาลใจจากการไปดำน้ำเห็นแนวปะการังเสื่อมโทรมจากปะการังฟอกขาว เสนอผ่านมุมมองใหม่ปรับเปลี่ยนวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตที่อยู่อาศัยทั้งบนบก ขั้วโลกเหนือ และสิ่งแวดล้อม มาไว้ในน้ำ ทำให้เป็นโลกใต้น้ำ มีการพึ่งพิงโอบอุ้มซึ่งกันและกัน ใช้น้ำเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ เพราะน้ำเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิต อยากให้ทุกคนที่เห็นผลงานชิ้นนี้ตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ หันกลับมาดูแลเอาใจใส่ธรรมชาติและระบบนิเวศรอบตัว

ขณะที่ ธีรพล สีสังข์ คว้ารางวัลคุณหญิงวรรณาจากผลงาน“ธาราแห่งความงอกงาม”  บอกว่า น้ำกับต้นไม้มีความสัมพันธ์กัน ทำให้เติบโตงอกงาม กระจายเมล็ดพันธุ์ที่แข็งแกร่ง สร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์เป็นที่พักพิงของสรรพสิ่ง  บนโลก ในการสร้างชิ้นงานตนนำลวดทองแดงมาบิดขมวดเป็นขนาดต่างๆ สร้างรูปทรงใบของต้นไม้และประกอบจากยอดต้นไม้ลงมาจนกลายเป็นต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านใบได้รับแสงอย่างสมบูรณ์ แล้วติดตั้งเข้ากับคลื่นน้ำที่เป็นวัสดุสแตนเลส  เป็นการเสนองานศิลปะอีกรูปแบบที่ชวนให้มาชม

นิทรรศการศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 14 จัดแสดงผลงาน ณ  ห้องนิทรรศการ ชั้น 9 หอศิลป์กรุงเทพ และผลงานบางส่วนจะจัดแสดงให้ชมอีกครั้งในงาน Sustainability EXPO 2025 (SX2025) เพื่อเผยแพร่ผลงานสู่สายตาของกลุ่มคนที่หลากหลายขึ้น ระหว่างวันที่ 26 ก.ย. – 5 ต.ค. 2568 Zone Better World ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.