การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ถือเป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศจัดเก็บภาษีศุลกากรจากทุกประเทศคู่ค้าในอัตราสูงลิ่วเมื่อวันที่ 2 เมษายน ซึ่งทรัมป์อ้างว่าเป็น Liberation Day หรือวันปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ซึ่งเป็นการเรียกเก็บภาษีที่สะเทือนทั้งโลก และถูกเตือนจากทุกฝ่ายว่าจะทำให้เศรษฐกิจของทั้งสหรัฐและทั่วโลกถดถอย ก่อความเดือดร้อนสาหัสแก่คนทั้งโลก
ภาษีศุลกากรที่สูงเกินคาดหมายอย่างน่าตกใจ ถูกนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เตือนว่าจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น ทรัมป์ก็ยังเรียกร้องให้เฟดลดดอกเบี้ย และถึงขั้นในวันที่ 17 เมษายน ข่มขู่จะ “ปลด” เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด มีผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งหนักอีกรอบ ไม่ต่างจากช่วงวันที่ 3-7 เมษายน หลังประกาศเก็บภาษีแบบครอบคลุม ก่อนเวลาต่อมาในวันที่ 22 เมษายน ทรัมป์จะถอนคำพูด และอ้างว่าไม่มีเจตนาจะปลดประธานเฟดก่อนครบวาระ อย่างไรก็ตาม ก่อนประชุมเฟดเพียงไม่กี่วัน ทรัมป์ก็ออกมากดดันอีกรอบให้เฟดลดดอกเบี้ย
อย่างไรก็ดี มติที่ประชุมของคณะกรรมการเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย โดยตรึงไว้ที่ระดับเดิม 4.25-4.5% ด้วยเหตุผลที่ว่า “ความเสี่ยง” ด้านการว่างงาน และเงินเฟ้อ “สูงขึ้น”
ด้าน “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด แถลงและตอบคำถามผู้สื่อข่าวหลังการประชุมว่า หากอัตราภาษีศุลกากรที่ประกาศไปแล้ว ยังคงระดับไว้สูงอย่างต่อเนื่อง ก็มีแนวโน้มจะทำให้เงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจเติบโตน้อยลง อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน เร็วเกินไปที่เฟดจะสามารถบอกได้ว่าต้องเลือกให้ความสำคัญกับอะไรก่อน ระหว่างการรักษาอัตราการจ้างงานหรือควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย แต่อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันถือว่าอยู่ในจุดที่ดีในระหว่างที่รอความชัดเจนด้านนโยบายภาษีของทรัมป์
“นโยบายการเงินปัจจุบันของเฟด เข้มงวดแบบพอประมาณเท่านั้น ทำให้อยู่ในจุดที่ดีสำหรับรอดูสถานการณ์ไปก่อน เพื่อให้เห็นความชัดเจนของภาษีศุลกากร เราไม่คิดว่าจำเป็นต้องเร่งรีบ”
ขณะเดียวกัน เฟดจะไม่ลดดอกเบี้ยเพื่อป้องกันล่วงหน้า (Preemptive) แม้ว่าเงินเฟ้อจะอยู่สูงกว่าเป้าหมาย และคาดหมายว่ามีความเป็นไปได้ว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นอีกในระยะสั้น สถานการณ์ในขณะนี้ไม่ได้อยู่ในจุดที่จะสามารถป้องกันล่วงหน้า เพราะเราไม่รู้ว่าจะตอบสนองอย่างไรจึงจะถูกต้อง จนกว่าจะเห็นข้อมูลมากขึ้น
ประธานเฟดยอมรับว่า หากทรัมป์คงภาษีศุลกากรในระดับสูงอย่างเช่นปัจจุบัน อาจทำให้เป้าหมายของเฟดที่จะดึงเงินเฟ้อลงมาให้อยู่ในกรอบต้องล่าช้าออกไป เป็นไปได้ว่าอย่างน้อยปีหน้า เฟดก็คงไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในการเข้าถึงเป้าหมายเงินเฟ้อ
“มีความไม่แน่นอนอยู่มากเรื่องภาษี ทั้งในแง่ขนาด ขอบเขต และระยะเวลาการคงอยู่ของภาษี”
เมื่อถูกถามว่า การเรียกร้องจากประธานาธิบดีทรัมป์ให้ลดดอกเบี้ย มีผลต่อการตัดสินใจของเฟดหรือไม่ ประธานเฟดตอบว่า “ไม่มีผลอะไรเลย” เพราะเราก็จะทำหน้าที่เหมือนเดิม คือใช้เครื่องมือของเฟดในการรักษาเสถียรภาพราคาเพื่อประโยชน์ของชาวอเมริกัน เราจะพิจารณาเฉพาะข้อมูลเศรษฐกิจ แนวโน้มเศรษฐกิจ และสมดุลของความเสี่ยง
นอกจากนี้ พาวเวลล์ยังตอบประเด็นที่ถูกถามว่า หลังจากถูกทรัมป์วิจารณ์ ได้ขอเข้าพบกับทรัมป์บ้างหรือไม่ ประธานเฟดกล่าวว่า ไม่เคยขอเข้าพบกับทรัมป์ หรือประธานาธิบดีคนไหนเลย และตนจะไม่ทำเช่นนั้น ไม่มีเหตุผลอะไรสำหรับตนที่จะขอเข้าพบ แต่มันมักจะตรงข้ามเสมอ (ประธานเฟดสื่อความหมายว่า หากจะมีการขอพบ ฝ่ายการเมืองจะเป็นผู้ขอพบ)
ส่วนกรณีที่ฝ่ายรัฐบาลกำลังเจรจากับคู่ค้ารายใหญ่เพื่อต่อรองเรื่องภาษีนั้น พาวเวลล์ชี้ว่า อาจจะส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ “ภาษีศุลกากรที่ทรัมป์ประกาศไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน สูงกว่าตัวเลขที่เราใส่ไว้ในคาดการณ์มาก ๆ แต่เมื่อมีการเจรจากับคู่ค้าสำคัญหลายราย ก็ดูเหมือนกำลังเข้าสู่เฟสใหม่ ดังนั้น ผลที่จะออกมาจึงมีความสำคัญอย่างมาก”
เดวิด เคลลี่ หัวหน้านักกลยุทธ์ระดับโลกของเจพีมอร์แกน แอสเซต แมเนจเมนต์ ระบุว่า หากดูจากความหมายแฝงที่ซ่อนอยู่ในแถลงการณ์ของคณะกรรมการ มันคือการส่งเสียงเตือนไปยังรัฐบาลว่า “นโยบายของคุณ กำลังนำไปสู่เงินเฟ้อและอัตราว่างงานที่สูงขึ้น”
อาชิชห์ ชาห์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ลงทุนของโกลด์แมน แซคส์ แอสเซต แมเนจเมนต์ ให้ความเห็นว่า การจ้างงานล่าสุดที่ดีกว่าคาด สนับสนุนให้เฟดตัดสินใจตรึงดอกเบี้ยไว้ที่เดิม และมีแนวโน้มว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยอีกในการประชุมครั้งหน้า ตลาดแรงงานหรือการจ้างงานต้องอ่อนแอเพียงพอ จึงจะทำให้เฟดผ่อนคลายนโยบายการเงิน
อย่างไรก็ตาม ความอ่อนแอของตลาดแรงงานใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะแสดงออกให้เห็นชัดเจน ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าการประชุมครั้งหน้า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม
การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดครั้งนี้เป็นไปตามที่ตลาดส่วนใหญ่คาดหมาย ขณะเดียวกันตลาดและนักลงทุนมีความกังวลว่า เศรษฐกิจจะถดถอยมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยโกลด์แมน แซคส์ ได้ปรับเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจถดถอยจาก 35-45% เป็น 60%
ส่วนจีดีพีสหรัฐ ไตรมาสแรกปีนี้ (2025) หดตัว 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2024 ที่เติบโต 2.4% ซึ่งทรัมป์ไม่ยอมรับว่าเกิดจากภาษีศุลกากร และกล่าวโทษว่า เป็นความผิดของ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีคนที่แล้ว และบอกว่า หากจีดีพีไตรมาส 2 หดตัวอีก เขาก็จะกล่าวโทษว่าเป็นเพราะไบเดน แม้ว่าทรัมป์จะรับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2025 โดยทรัมป์อ้างว่า กว่าจีดีพีจะติดลบ ไม่ได้ใช้เวลาแค่วันหรือชั่วโมง แต่ใช้เวลานานกว่านั้น
ในวันเดียวกับการประชุมเฟด ประธานาธิบดีทรัมป์ให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่ลดภาษีให้กับจีนที่สหรัฐเรียกเก็บสูงสุดที่ 145% เพื่อจูงใจให้จีนยอมมาเจรจา ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์ 3 วันก่อนที่สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ มีกำหนดจะหารือกับตัวแทนจากจีน ที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งต่างจากการพูดก่อนหน้าที่ทรัมป์ส่งสัญญาณว่า ภาษีที่เก็บจากจีนจะไม่ทรงตัวในระดับสูงเท่ากับที่เคยประกาศไป