น้องๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านฉางหลาง อ.สิเกา จ.ตรัง ใช้เวลาวันหยุดร่วมกันปลูกหญ้าทะเลที่ท่าเรือหาดปากเมง อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เพื่อเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน หญ้าทะเลทั้งหมดเป็นฝีมือการเพาะของพวกเขาเองจากศูนย์เรียนรู้หญ้าทะเล โรงเรียนบ้านฉางหลาง ทุกคนทั้งสนุกและได้ความรู้จากพี่ๆ เจ้าหน้าที่อุทยาน
“หนูชอบมากที่ได้มาปลูกหญ้าทะเลกับเพื่อนๆ หนูอยากให้หญ้าทะเลที่เราเพาะปลูกเองโตเร็วๆ จะได้เป็นที่อยู่ของสัตว์ทะเล โดยเฉพาะพะยูนจะได้มีหญ้าทะเลเป็นอาหารมากขึ้น หญ้าทะเลยังช่วยฟอกอากาศ ช่วยลดมลพิษในน้ำ ถ้าทะเลบ้านเราอุดมสมบูรณ์ สัตว์น้ำก็จะเพิ่มขึ้น ชาวประมงก็มีรายได้เพิ่ม ขอให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ทะเลและหญ้าทะเลกันนะคะ” น้องกอหญ้า ด.ญ.กนกวดี ถ่อแก้ว ชั้น ป.5 กล่าว
อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมกำหนดเขตอนุรักษ์พะยูนเป็นจุดแรกของไทยบริเวณหาดปากเมง เนื้อที่ 1,300 ไร่ มาตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากพะยูนเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนใกล้สูญพันธุ์ ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดตรังซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประชากรพะยูนมากที่สุดในประเทศ
ศูนย์เรียนรู้หญ้าทะเลโรงเรียนบ้านฉางหลางเกิดขึ้นเพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายนี้และกลายเป็นโมเดลการอนุรักษ์พะยูนและทะเลไทย โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนผ่านกิจกรรมการเพาะเลี้ยงและปลูกหญ้าทะเล เพื่อให้เป็นถิ่นอาศัยและแหล่งอาหารชั้นดีของสัตว์ทะเล ทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนฯ โดยกักเก็บไว้ในรูปแบบชีวมวล เป็นพื้นที่ปลอดภัยของสัตว์น้ำในการวางไข่ หลบซ่อนศัตรู และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ช่วยลดมลพิษในทะเลและปรับปรุงคุณภาพน้ำ
สุดใจ ตั้งคีรี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านฉางหลาง กล่าวว่า โรงเรียนบ้านฉางหลางซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมผลักดันให้นักเรียนและชุมชนร่วมกันดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เราทำกิจกรรมลงพื้นที่สำรวจหญ้าทะเลบริเวณเขาแบนะ นักเรียนร่วมกันเก็บหญ้าทะเลที่ลอยขึ้นมาที่ชายหาดเพื่อนำมาเพาะขยายพันธุ์ และลงมือปลูกหญ้าทะเลที่ดูแลกันเองในเขตพื้นที่ เกิดการมีส่วนร่วมและรักในทรัพยากรทางธรรมชาติ ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของนักเรียน
ฟาร์มอนุบาลลูกกุ้งภาคใต้ ซีพีเอฟ เป็นภาคส่วนสำคัญที่เข้ามาร่วมเสริมสร้างขีดความสามารถแบบมีส่วนร่วมกับสถาบันการศึกษา นักเรียน และชุมชน โดยทีมจิตอาสานำอุปกรณ์มามอบให้โรงเรียน ทั้งถังเพาะหญ้าทะเล การเดินระบบน้ำใหม่ ตรวจสอบระบบไฟฟ้า และปรับปรุงอาคารใหม่ เพิ่มกระเบื้องใสเพื่อเพิ่มการรับแสง อุปกรณ์ที่ติดตั้งสามารถเพาะหญ้าทะเลได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 กิ่งต่อปี ทางโรงเรียนต่อยอดจำหน่ายกิ่งหญ้าทะเลให้หน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปปลูกต่อ เกิดรายได้หมุนเวียน