วันที่ 12 พ.ค.68 นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสข่าวพรรคภูมิใจไทย (ภท.) จะโหวตคว่ำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 เพราะเกี่ยวข้องกับคดีการฮั้ว ส.ว. ว่า ตนไม่อยากให้สังคมคล้อยตามข่าวเช่นนี้ เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต่างก็ทำตามอำนาจหน้าที่ที่เขามี และข่าวที่ออกมาก็ไม่ได้มีการระบุว่าพรรคการเมืองใดอยู่เบื้องหลัง ซึ่งจากที่มีการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคต่างก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับ พท.ในฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28-30 พฤษภาคมนี้ เป็นอย่างดี ฉะนั้น ย้ำว่าไม่อยากให้ข่าวเช่นนี้ออกมาแล้วทำให้สังคมเกิดความไขว้เขว ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาล
เมื่อถามว่า ยังยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยสามารถคุยกับพรรคภูมิใจไทย และพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นได้ใช่หรือไม่ นายดนุพร กล่าวว่า ถูกต้อง ทุกพรรคยังร่วมมือทำงานให้ประชาชนได้ และ พ.ร.บ.งบประมาณ ไม่ใช่เป็นงบประมาณของพรรคเพื่อไทย อย่างเดียว แต่พรรคการเมืองที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลนั้น งบประมาณของทุกกระทรวงต่างก็อยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ แน่นอนว่าหากงบประมาณฉบับนี้ไม่ผ่านจริงๆ รัฐบาลมีสองทางเลือกคือนายกรัฐมนตรีต้องลาออกหรือยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ ตนจึงไม่อยากให้ข่าวที่ออกมาโจมตีพรรคภูมิใจไทย เช่นนี้สร้างความไม่น่าเชื่อถือให้รัฐบาล
เมื่อถามว่า ยังมั่นใจในเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่ นายดนุพร กล่าวว่า ใช่ เพราะผู้ใหญ่ในพรรคหรือแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีเองก็บอกเสมอว่าได้มีการพูดคุยกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลอย่างใกล้ชิดมาตลอด หรือบางครั้งก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะมีการเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาพูดคุยอยู่บ่อยครั้ง และทุกคนก็ยังยืนยันว่าพร้อมที่จะสนับสนุนเรื่องงบประมาณและกฎหมายต่างๆ ของรัฐบาลที่จะเข้าสู่สภา
เมื่อถามว่า มองว่ากระแสข่าวที่ออกมาในช่วงก่อนที่งบประมาณจะเข้าสู่การพิจารณาในสภา มีนัยยะอะไรหรือเป็นเกมการเมืองหรือไม่ นายดนุพรกล่าวว่า ทุกครั้งที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จะเข้าสู่สภา ก็จะมีข่าวเช่นนี้ออกมาทุกครั้ง ไม่ใช่เรื่องแปลก ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าอยากให้มีการปรับ ครม.หรือไม่ หรือบางคนอาจจะอยากถูกเชิญเข้ามาร่วมรัฐบาลหรือไม่ หรือบางพรรคที่ได้เสียงแล้วไม่มีการเชิญให้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็อาจจะอยากให้ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่แล้วกลับมาเป็นรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งก็เป็นไปได้
นายดนุพร กล่าวต่อว่า นี่เป็นเรื่องธรรมชาติของการเมืองก่อนที่จะมีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ เข้าสู่การพิจารณาของสภา ถือเป็นสองครั้งที่จะสามารถล้มรัฐบาลได้คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และงบประมาณที่เมื่อไม่ผ่าน รัฐบาลต้องไป ฉะนั้นเมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านไปเรียบร้อย และนายกรัฐมนตรีได้รับเสียงสนับสนุนท่วมท้น สามารถอยู่ต่อได้ จะมีอะไรบ้างที่ทำให้รัฐบาลเกิดการสั่นคลอนนั่นก็คือเรื่องงบประมาณ
“ทำให้ต้องมีการตีข่าวว่ารัฐบาลไปต่อไม่ได้แล้ว พรรคนั้นพรรคนี้ไม่โหวตให้ เพื่อที่จะเขย่าให้รัฐบาลลาออก เป็นเกมการเมือง แต่เรายังเชื่อมั่นในพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคว่าเรายังสามารถร่วมกันได้ดี” นายดนุพร กล่าว
เมื่อถามว่า ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ยุบสภาใช่หรือไม่ นายดนุพร กล่าวว่า แน่นอนครับ แม้การทำงานในพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะมีความเห็นต่างบ้างใน บางประเด็น แต่ก็ไม่หนักหนาถึงขั้นที่จะพูดคุยกันไม่ได้ และเมื่อมีความเห็นต่างผมก็เชื่อว่าหัวหน้าพรรคจะสามารถพูดคุยกันได้