'คลัง' การันตี G-Token ไม่เกี่ยวดิจิทัลวอลเล็ต ขีดเส้น 45 วันสรุป คาดเปิดจำหน่ายได้ก่อน ก.ค.
GH News May 13, 2025 05:06 PM

‘คลัง’ การันตี ครม.ไฟเขียวกู้เงินผ่านรูปแบบ G-Token วงเงิน 5 พันล้านบาท ไม่เกี่ยวกู้เงินอุ้มดิจิทัลวอลเล็ต ขีดเส้นทำงานร่วม ก.ล.ต. 45 วัน ก่อนเคาะสรุปรายละเอียด คาดเปิดจำหน่ายได้ไม่เกินเดือน ก.ค. 2568 ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เพื่อความคล่องตัว ยืนยันไม่กระทบ Yield Curve ของประเทศ

13 พ.ค. 2568 – นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2568 เห็นชอบวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหรหนี้สาธารณะ โดยการออกสินทรัพย์ดิจิทัลโทเคน (Token) ว่า ยืนยันว่าการเสนอขายโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token : G-Token) ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการกู้เงินภายใต้กรอบการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2568 ตามปกติ ไม่เกี่ยวข้องกับแผนการกู้เงินพิเศษของรัฐบาล หรือการกู้เงินเพื่อรองรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตแต่อย่างใด และการดำเนินการในส่วนนี้ไม่ได้อยู่ในรูปของเงินตรา เพราะอยู่ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี (บิทคอยน์) ด้วย

ทั้งนี้ G-Token ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือการระดมทุนรูปแบบใหม่ที่ยังอยู่ระหว่างที่ประเทศพัฒนาแล้วต่าง ๆ กำลังจะดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน อันเป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการระดมทุนและขยายฐานนักลงทุนให้มีความหลากหลายและครอบคลุมอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของโลกปัจจุบันมากยิ่งขึ้นการพัฒนา G-Token ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของกระทรวงการคลังในการนำเทคโนโลยีประยุกต์ใช้กับเครื่องมือทางการเงินเพื่อเพิ่มศักยภาพการระดมทุน เพิ่มความคล่องตัว และความโปร่งใสส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม (Financial Inclusion) ตลอดจนเพิ่มช่องทางของโอกาสและทางเลือกในการกระจายการลงทุนได้หลากหลายมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศให้เป็นแหล่งระดมทุนที่ยั่งยืน ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินในระดับภูมิภาคของประเทศ โดยการดำเนินการนั้นได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งได้มีการให้ข้อคิดเห็นเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

“การออก G-Token ครั้งนี้ จะเป็นการที่รัฐบาลกู้เงินตรงจากประชาชน ซึ่งยืนยันและย้ำอีกครั้งว่าไม่เกี่ยวอะไรกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการกู้เงินปกติของรัฐบาล ซึ่ง G-Token นี้ เป็นการแก้จุดอ่อนของพันธบัตรออมทรัพย์ให้ครอบคลุมและเข้าถึงประชาชน โดยเฉพาะในส่วนของคนรุ่นใหม่ เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพกรออกไปยังกลุ่มเริ่มต้นทำงานให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น อีกทั้งในกรณีที่ผู้ถือครองประสงค์จะเปลี่ยนมือ ตรงนี้ก็จะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการส่งเสริมนโยบายของประเทศและโลกในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล” นายพชร กล่าว

นายพชร กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ 45 วัน สบน. จะต้องทำงานร่วมกับ ก.ล.ต. เพื่อกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งหมด โดยเบื้องต้นคาดว่า G-Token ที่จะออกนั้นจะมีอายุไม่เกิน 1 ปี โดยต้องกำหนดระยะเวลาให้สั้นเพื่อความคล่องตัว และจะต้องไม่กระทบกับเส้นแสดงอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในแต่ละช่วงอายุ (Yield Curve) ส่วนวงเงินจะไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งตามแผนน่าจะสามารถเปิดจำหน่ายได้ไม่เกินเดือน ก.ค. 2568 ส่วนช่องทางในการซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) รวมถึงอาจจะไม่มีการกำหนดระยะเวลาการถือครอง 6 เดือนก่อนเปลี่ยนมือ เหมือนกับการซื้อขายพันธบัตรของรัฐบาล โดยรายละเอียดทั้งหมดต้องรอความชัดเจนภายหลังการทำงานร่วมกับ ก.ล.ต.

สำหรับการกำหนดผลตอบแทนนั้น ผอ.สบน. ยืนยันว่า ผลตอบแทนของ G-Token จะต้องมีความจูงใจนักลงทุนได้ในระดับหนึ่ง เมื่อเทียบเคียบกับดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์ ซึ่งโดยปกติการที่รัฐบาลออกตราสารหนี้หรือการกู้เงินโดยตรงจากประชาชนนั้นจะมีการบวกอัตราดอกเบี้ยเพิ่มให้เป็นพิเศษจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ปกติอยู่แล้ว

“วงเงิน G-Token ที่จะออก ไม่เกิน 5,000 ล้านบาทนั้น เป็นวงเงินข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ระบุว่าควรดำเนินการในสัดส่วนที่เหมือนเป็นการทดลองระบบก่อน ขณะที่แผนการออกพันธบัตรออมทรัพย์ในปีงบประมาณ 2568 นั้น อยู่ที่ 100,000 ล้านบาท ดำเนินการไปแล้ว 35,000 ล้านบาท ยังเหลือวงเงินอีก 65,000 ล้านบาท โดยการดำเนินการตรงนี้จะต้องดูตามความจำเป็นในการใช้เงิน และต้องพยายามทำให้ต้นทุนของรัฐต่ำที่สุด” นายพชร ระบุ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.