ประชุมแม่น้ำข้ามแดนนัดแรก เชียงรายดันสร้างฝายดักตะกอนแก้ปัญหาสารโลหะหนักปนเปื้อนแม่น้ำกก-แม่น้ำสาย ตั้งคณะทำงาน 4 ชุด นักวิจัยติงคิดให้รอบคอบ หวั่นไม่มีที่ทิ้งสารพิษ-มีบทเรียนจากลำห้วยคลิตี้
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ห้องธรรมลังกา ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำแม่น้ำข้ามพรมแดนลุ่มน้ำโขงเหนือ ครั้งที่ 1/2568 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ รวมทั้งนักวิชาการมหาวิทยาลัยต่างๆและเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการหารือในหลายประเด็นเกี่ยวกับคุณภาพน้ำกกและน้ำสายโดยผลการตรวจครั้งที่ 2ของการประปามีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโลหะหนักทั้งแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ส่วนการเก็บตัวอย่างล่าสุดของประปาแม่สายเมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม นอกจากนี้ได้มีการหารือในเรื่องการเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินและตะกอนหน้าดินเพื่อให้สะท้อนค่าที่แท้จริงของการสะสมสารโลหะหนักในแม่น้ำ
ที่ประชุมได้หารือถึงการทำฝายดักตะกอน มีการนำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนในที่ประชุมในรายละเอียด อย่างไรก็ตามผลการตรวจทั้งหมดจะถูกนำเสนอในรายละเอียดในคณะทำงานก่อนนำเสนอในขั้นตอนต่อไป
สำหรับเรื่องงบประมาณในการดำเนินการในการตรวจวัดของแต่ละหน่วยงาน ที่ผ่านด้านประปาชุมชนได้รับการสนุบสนุนจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้การสนับสนุน 800,000 บาท และผู้ว่าราชการจังหวัดได้ขอให้ทาง อบจ.ให้การสนับสนุนงบประมาณในการตรวจวัดคุณภาพน้ำประปาชุมชน และได้ขอให้ทาง กปภ.ได้เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดเนื่องจากค่าโลหะหนักที่ปนเปื้อนมีความเปลี่ยนแปลงในการพัดพาจากแหล่งต้นน้ำ และให้สื่อสารให้ประชาชนให้มีความมั่นใจในความปลอดภัย
ในที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการตั้งคณะทำงาน 4 คณะ ประกอบด้วย ด้านวิชาการและข้อมูล ด้านการค้นหาแหล่งที่มาของปัญหาคุณภาพน้ำ การลดผลกระทบ และการจัดการเฝ้าระหวัง ติดตามตรวจสอบ และจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศคุณภาพน้ำ โดยมี ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ เป็นประธาน
ด้านการมีส่วนร่วม และสื่อสาร ส่งเสริมการมีส่วนร่วม รณรงค์ รับฟังความคิดเห็นจากชุมชน มี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย เป็นประธาน ด้านกฎหมายและกรจัดทำแผนบูรณาการด้านคุณภาพน้ำ ผอ.สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1 เป็นประธาน และด้านการสนับสนุนข้อมูลการประสานงานระหว่างประเทศ ผบ.กองกำลังผาเมือง เป็นประธาน
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าโดยแผนงานการดำเนินการและงบประมาณจะนำไปหารือในคณะทำงานแต่ละคณะให้เร่งรีบนำเสนอแผนเร่งด่วนที่มีความจำเป็นสำหรับมาตรการเฉพาะหน้าและแผนระยะสั้นต้องมีการแก้ไขรับมือกับปัญหา และในระยะยาวในเรื่องแหล่งน้ำขอให้ กปภ.ได้หาน้ำต้นทุนที่จะนำมาผลิตน้ำประปาหากปัญหาที่ต้นน้ำไม่ได้
ขณะที่ตัวแทนกรมกิจการชายแดนทหาร รายงานว่า ที่ผ่านการหารือระดับท้องถิ่นคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (Town Bordership Thai-Mynmar) ได้ส่งหนังสือแจ้งปัญหาสารโลหะหนักในแม่น้ำสาย แม่น้ำกก เป็นครั้งที่ 2 แล้ว และจะนำไปเข้าสู่ที่ประชุม RBC ฝ่ายไทยในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ เพื่อจะได้เข้าที่ประชุม คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) ครั้งที่ 37 ที่เชียงใหม่ และนำเสนอต่อที่ประชุม TBC ที่เมียนมา ในเดือนสิงหาคม รอยืนยันวันที่แน่นอน และในช่วงปลายเดือนจะมีประชุม คณะกรรมการระดับสูง (HLC) ไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ 39 ไทยเป็นเจ้าภาพ
ฝ่ายเลขานุการ สทนช. กล่าวว่า ขอให้หน่วยงานที่มีแผนงานที่ชัดเจนเสนอมาได้ เช่น ฝายชะลอน้ำสร้างประโยชน์ถ้ามันเกิดประโยชน์จริง สามารถดักสารเคมีได้ พิจารณาว่าจะทำอย่างไรจะมีงบประมาณ ทำฝายชะลอในพื้นที่ เช่น เชียงใหม่รอยต่อเมียนมา และเพิ่มในจุดต่างต่างของลำน้ำ การตรวจคุณภาพน้ำ มีแผนอย่างไร เพื่อจะได้งบประมาณเพิ่ม และได้เห็นด้วยว่ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่มีห้องแลป จะเสนอแผนงบประมาณการทำแลปมาตรฐานตรวจคุณภาพน้ำในพื้นที่
น.ส.สมพร เพ็งค่ำ นักวิจัยอิสระและผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบทางสุขภายโดยชุมชน ( Community Health Impact Assessment Platform หรือCHIA Platform) กล่าวถึงแนวความคิดสร้างฝากดักตะกอนกั้นแม่น้ำกกบริเวณที่ไหลเข้าประเทศไทยใน ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงราย ว่า ควรศึกษาให้รอบคอบก่อนเพราะเป็นเรื่องใหญ่เนื่องจากแม่น้ำกกเป็นแม่น้ำที่มีความกว้าง การสร้างฝายดักตะกอนก็เหมือนการสร้างเขื่อนซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในภาพรวม เช่น ปลาที่เคยว่ายไป-มาก็ไม่สามารถทำได้อีก และการปิด-เปิดน้ำควรทำอย่างไร เพราะไม่ใช่แค่สร้างประตูปิดเปิดเท่านั้น
“แม้ว่าการสร้างฝายดักตะกอนจะเป็นมาตรการชั่วคราว แต่ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการนำตะกอนจำนวนมากที่มีสารโลหะหนักเข้มข้ม เราจะจัดการอย่างไร เคยมีบทเรียนจากเหมืองคลิตี้ซึ่งเป็นแค่ลำห้วยเล็กๆ เมื่อสร้างฝายดักตะกอนแล้วก็ไม่รู้เอาไปไว้ที่ไหน ตอนแรกจ้างบริษัทเอกชนไปฝังกลบที่ จ.สระบุรี แต่ต้นทุนสูงมาก แถมตอนหนังชาวบ้านสระบุรีก็ไม่ยอม ในที่สุดต้องนำไปฝังกลบที่คลิตี้บน แต่นั่นแค่ลำห้วยเล็กๆ แต่แม่น้ำกกทีมีขนาดตะกอนมหาศาล จะจัดการอย่างไร ยิ่งถ้าเกิดอุทกภัยใหญ่ ฝายหรือเขื่อนชั่วคราวจะอยู่ได้แค่ไหน” น.ส.สมพร กล่าว
น.ส.สมพรกล่าวว่า ทางออกที่ดีที่สุดคือรัฐบาลต้องเร่งเจรจาให้ปิดเหมืองทองที่อยู่ตอนบนโดยเร็วเพราะมิฉะนั้นความเสี่ยงต่างๆจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ