‘ศุภชัย’ ลงพื้นที่อยุธยา ติดตามการนำ อววน. แก้ปัญหาให้ปชช. เดินหน้าเสริมแกร่งมหาวิทยาลัยในพื้นที่
GH News May 14, 2025 04:43 AM

‘ศุภชัย’ ผู้ช่วย รมว.อว. ลงพื้นที่อยุธยา ติดตามการนำ อววน. แก้ปัญหาให้ประชาชน เดินหน้าเสริมแกร่งมหาวิทยาลัยในพื้นที่ สร้างชุมชนเข้มแข็ง และบัณฑิตที่มีทักษะแห่งอนาคต

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม  2568 นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) พร้อมกล่าวมอบนโยบายในหัวข้อ “ทิศทางการขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการเทคโนโลยีการผลิตพืช การเกษตรแห่งอนาคต รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดย มทร.สุวรรณภูมิ โดยมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ประธานคณะทำงาน รมว.อว. นายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, นายประดิษฐ์ สังขจาย สส.พรรคภูมิใจไทย จ.พระนครศรีอยุธยา, ศ.พิเศษ ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม นายกสภา มทร.สุวรรณภูมิ รศ.ดร.ประมุข อุณหเลขกะ อธิการบดี มทร.สุวรรณภูมิ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา เข้าร่วม ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา

โดยเมื่อเดินทางไปถึง นายศุภชัย ได้เข้าร่วมกิจกรรม Morning Talk กับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยกล่าวว่า แนวคิดของกระทรวง อว. คือ มหาวิทยาลัยต้องทำงานเพื่อประชาชน ต้องมีการขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลาและได้ประโยชน์ในสิ่งที่ทำ ตนได้ติดตามผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยภายใต้สังกัดกระทรวง อว. ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยมีศักยภาพอย่างเหลือล้น สามารถลงไปแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน โดยนำเอาความรู้ที่มีไปสนับสนุนการทำงานของประชาชน นำเอาจุดเด่นไปต่อยอดให้กับประชาชน เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิที่สามารถนำทักษะ ความรู้ ความสามารถที่มีมาบูรณาการการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถอยู่รอดได้ในสังคมปัจจุบัน

จากนั้น ผู้ช่วย รมว.อว. ได้มอบนโยบายในหัวข้อ “ทิศทางการขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ว่า บทบาทการอุดมศึกษาในการขับเคลื่อนเป้าหมายประเทศ ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาอุดมศึกษาออกเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาศักยภาพคน (Capacity Building) ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมระบบนิเวศวิจัยอุดมศึกษา (Research Ecosystem Building) และยุทธศาสตร์ที่ 3 จัดระบบอุดมศึกษาใหม่ (Higher Education Transformation) โดยมุ่งเน้นนโยบายหลัก (Flagship Policies) ที่ครอบคลุม 3 มิติ ประกอบด้วย (1) ด้านการจัดการศึกษา มุ่งเน้นการผลิตกำลังคนตามความต้องการของประเทศ

การฝึกอบรมทักษะอาชีพและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (2) ด้านการวิจัย สร้างนวัตกรรม และบริการวิชาการ โดยกลไกการส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและบริการวิชาการ การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์และสร้างผู้ประกอบการใหม่ และ (3) ด้านการบริหารจัดการ มุ่งเน้นให้เกิดธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา การยกระดับคุณวุฒิและตำแหน่งวิชาการอาจารย์ นอกจากนี้จำเป็นต้องมีกฎหมายและเครื่องมือสนับสนุนในการขับเคลื่อนการอุดมศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า หัวใจของกระทรวง อว. ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคต มี 2 ภารกิจหลัก คือ การเตรียมคนไทยให้พร้อมกับศตวรรษที่ 21 และการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบให้กับประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยอยู่บนแนวคิดว่ามหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยต้องไม่ใช่แค่ ‘แหล่งสอนหนังสือ” แต่ต้องเป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหาและสร้างโอกาสใหม่ให้กับชุมชนและเพื่อให้ทุกอย่างเกิดขึ้นจริง กระทรวง อว. จึงมุ่งเน้นการปฏิรูป 3 ด้าน คือ ระบบบริหาร กฎหมาย และงบประมาณ เพื่อให้สถาบันในพื้นที่มีอิสระในการคิด มีความรับผิดชอบในการลงมือทำ นี่คือ Transformation Code ที่จะพาเราสู่ Thailand 5.0 อย่างแท้จริง

“นอกจากนี้ กลไกสำคัญที่กระทรวง อว. ผลักดันอย่างจริงจังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นั่นก็คือ “University Holding Company’ หรือ ‘บริษัทโฮลดิ้งของมหาวิทยาลัย’ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างใหม่ในการบริหารจัดการธุรกิจนวัตกรรม จากงานวิจัยและองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย” เป้าหมายคือให้ Holding Company กลายเป็นสะพานนวัตกรรมที่ต่อยอดองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยสู่เศรษฐกิจจริง สิ่งที่เราคาดหวังจากการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่แค่การผลิตบัณฑิต แต่คือการผลิต ‘คน’ ที่พร้อมจะอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลง เราต้องการให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ที่สร้างนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดกว้างสำหรับทุกวัย และเป็นระบบการศึกษาที่เปิดให้คนเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตจากทุกที่ ทุกเวลา บัณฑิตที่มีทั้ง “ทักษะ’ และ “ความหมาย” คือ คนรุ่นใหม่ที่มีทักษะอนาคต (Future Skills) มีความรู้ที่ใช้ได้กับการทำงานจริง (Knowledge suitable for work) และที่สำคัญคือ เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยทั้งในระดับพื้นที่และระดับโลก“
นายศุภชัย กล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.