จัดการขยะอินทรีย์ BSF หนุนคัดแยกขยะต้นทาง มุ่งลดฝังกลบ ขจัดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม
ข่าวสด May 14, 2025 10:00 AM

สสส. บุก EEC จับมือ ทร. – มทร.ธัญบุรี – สวนต้องก้าว ขยายผลจัดการขยะอินทรีย์ด้วย BSF พร้อมหนุนคัดแยกขยะต้นทาง มุ่งลดฝังกลบ ขจัดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมจากขยะมูลฝอย

13 พ.ค. 68 – ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศาสตร์ทหารเรือ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กองทัพเรือ (ทร.) สวนต้องก้าว และภาคีเครือข่าย

เปิดการดำเนินงานการจัดการขยะมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างยั่งยืนและจัดการขยะอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพในสภาพควบคุมสิ่งแวดล้อมด้วยหนอนแมลงทหารดำ (Black Soldier Fly: BSF) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางในระดับชุมชนและแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ ด้วยแนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชนและการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยได้ดำเนินงานใน 4 พื้นที่ต้นแบบใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออก-จังหวัดชลบุรี, ภาคใต้-จังหวัดสงขลา, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-จังหวัดขอนแก่น และภาคเหนือ-จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขยายผลมาจากดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

พลเรือเอก สุชาติ ธรรมพิทักษ์เวช ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ และประธานกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ กล่าวว่า “พลเรือเอกจิรพล ว่องวิทย์ /ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs)

โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่กองทัพเรือรับผิดชอบและมีส่วนในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โครงการการจัดการขยะมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างยั่งยืนและการจัดการขยะอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพผ่านการเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำ โดยนำร่องในพื้นที่ของศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กองทัพเรือ จึงถือเป็นก้าวสำคัญของการสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการขยะที่สะท้อนถึงการบูรณาการองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ

ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยึดโยงกับความสมดุล พอประมาณและยั่งยืน กองทัพเรือพร้อมเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่เพียงแต่สร้างความมั่นคงทางทะเล หากยังรวมถึงความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ อาหาร และพลังงานของประเทศอีกด้วย จึงขอขอบคุณทุกหน่วยงานและภาคเอกชนที่ร่วมกันผลักดันโครงการฯ ให้เกิดขึ้นในครั้งนี้และพร้อมที่จะขยายผลต่อไปในพื้นที่ EEC และอื่นๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป ”

นายศรีสุวรรณ ควรขจร ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า “ปัญหาขยะมูลฝอยในประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะขยะอินทรีย์ที่มีสัดส่วนสูง ปัจจุบันถูกนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบ ไม่มีการแปรรูป หรือใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ นับว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรอย่างมาก อีกทั้งยังสร้างก๊าซเรือนกระจก (มีเทน) ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

ดังนั้นการจัดการขยะมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างยั่งยืน และการจัดการขยะอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพในสภาพควบคุมสิ่งแวดล้อมด้วยหนอนแมลงทหารดำ (BSF) จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนตั้งแต่ต้นทาง เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่งเสริมการคัดแยกขยะ และพัฒนาการจัดการขยะอินทรีย์ที่เป็นเทคโนโลยีชีวภาพ สามารถย่อยสลายขยะอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ และควบคู่กับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

รศ.ดร.ปัญญา มินยง สำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวเสริมว่า “โครงการนี้มีการดำเนินการใน 4 จังหวัดเป้าหมาย 4 ภูมิภาคที่มีปริมาณขยะสูงของแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ชลบุรี สงขลา ขอนแก่น และเชียงใหม่ สามารถกำจัดขยะอินทรีย์ได้มากถึง 1,600 กิโลกรัมต่อวัน และผลิตตัวอ่อนแมลงทหารดำได้ไม่ต่ำกว่า 400 กิโลกรัมต่อวัน สามารถนำไปแปรรูปเป็นโปรตีนสัตว์ทางเลือก ลดต้นทุนอาหารสัตว์ในชุมชน แล้วยังสามารถการลดขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิดโดยเฉพาะขยะอินทรีย์ที่ต้องนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบมากกว่า 10%

โดยโครงการยังส่งเสริมให้ชุมชน ผู้ประกอบการ ภาคีมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการขยะมูลฝอย ตั้งแต่การตั้งจุดคัดแยกขยะ การนำส่งเศษอาหาร/ขยะอินทรีย์มาเลี้ยง BSF ไปจนถึงการเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผลการดำเนินงาน และได้จัดทำคู่มือการเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำและแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยระดับครัวเรือน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มเกษตรกร และประชาชนทั่วไปสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

ขณะเดียวกันยังได้มีการพัฒนาฐานข้อมูลผลกระทบทางชีวภาพขึ้น ใช้ในการติดตามและประเมินผลในระยะยาว ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดนโยบายระดับท้องถิ่นและระดับประเทศอีกด้วย”

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.