สถานการณ์เศรษฐกิจ “ติดกับดักหนี้” และ “กับดักคน” ด้วยหนี้ครัวเรือนด้อยคุณภาพสูง ทั้งหนี้ประชาชน เกษตรกร แรงงาน ครู นักศึกษา รวมถึงเอสเอ็มอี ด้วยอัตราหนี้เสียเพิ่มขึ้นตามด้วยหนี้นอกระบบเติบโต แบบหนี้แพร่ระบาดถ้วนหน้าทุกช่วงวัย ทั้งที่ประเทศไทยมีทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 9 ขจัดความยากจนข้ามรุ่นและความคุ้มครองทางสังคม หมุดหมายที่ 12 ยกระดับกำลังคนให้มีสมรรถนะสูง กับบทบาทนโยบายการศึกษา ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ต่อเนื่องทุกช่วงวัย กับ แนวคิดนโยบายของรัฐบาล ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส
รัฐบาลมีหลากหลายมาตรการ อาทิ ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านขั้นตอน “Earn to learn” ส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีรายได้และเรียนรู้ง่ายตลอดชีวิต โครงการ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ตโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน หรือ ODOS และสร้างศูนย์การเรียนรู้แบบ TCDC และ TK Park ให้ครบทุกจังหวัดเป็นมาตรการที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษา แต่ปัญหาความท้าทายของระบบการศึกษาประเทศไทย ที่ถูกประเมินจัดอันดับจาก IMD 2024 อันดับ 54 ของโลก ขณะที่สิงคโปร์อันดับ 3 และมาเลเซียอันดับ 44 หากมองย้อนกลับไปปี 2020 ถึงปัจจุบันไทยยังอยู่ในเกณฑ์ช่วงอันดับ 53-56 อีกทั้ง ILO จัดอันดับผลิตภาพแรงงานของโลก ปี 2025 ผลิตภาพแรงงานไทย อันดับ 104 ของโลก และอันดับ 4 ของอาเซียน ตามสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย ตามลำดับ ขณะที่การเติบโตของผลิตภาพแรงงานไทยน้อยกว่าคู่แข่งในอาเซียน คือ เวียดนามและอินโดนีเซีย
ดังนั้น ความท้าทายการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติเชิงลึกด้านการศึกษา จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กำลังคนและทำให้กำลังคนเพิ่มขีดความสามารถประเทศไทย ใน 3 ประเด็นที่รัฐต้องขับเคลื่อนโดยเร็ว
1.ลดรายจ่าย ลีน (Lean) ลดต้นทุนใช้ทรัพยากรในการบริหารจัดการ เชิงพื้นที่ ข้ามหน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ คุณภาพการสอนและนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาเข้ามาช่วยลดต้นทุนและลดภาระงานของครูอาจารย์ รวมทั้งแก้ไขหนี้ครูอาจารย์ ผู้กู้ กยศ. ให้ได้รับโอกาส รับความเป็นธรรม และมีระบบฐานให้กู้อย่างรับผิดชอบและดอกเบี้ยเป็นธรรม
ปี 2567 งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ 328,000 ล้านบาท มีครู 557,639 คน มีนักเรียน 11.98 ล้านคน มีโรงเรียน 56,100 แห่ง สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 35,026 แห่ง ร้อยละ 62 นอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 21,074 แห่ง ร้อยละ 38 งบประมาณกระทรวงการอุดมศึกษาฯ146,000 ล้านบาท ด้านอุดมศึกษา 114,970 ล้านบาท ร้อยละ 79 มีอาจารย์ 205,449 คน มีนักศึกษาอุดมศึกษา 1.38 ล้านคน สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา 177 แห่ง อัตราการเกิดลดลง แต่ผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นด้วยประชากรสูงวัยกว่า 13.6 ล้านราย แต่ระดับการศึกษาผู้สูงวัยร้อยละ 82 จบประถมศึกษาและต่ำกว่า และมีผู้สูงอายุที่ยังทำงาน 4.74 ล้านคน จึงต้องการเตรียมความพร้อมประชากรก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย ให้มีขีดความสามารถและต้องมียุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมเร่งด่วน
2.เพิ่มรายได้ กับการออกแบบหลักสูตรการเรียนที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน ผู้ประกอบการเศรษฐกิจและสังคม และต้องสอดคล้องกับทักษะขีดความสามารถ การเพิ่มรายได้ของครู อาจารย์ที่สอนด้วย หากเปรียบเทียบการศึกษาเกาหลี อัตราเงินเดือนครู อาจารย์เทียบเท่าผู้พิพากษา และเหตุผล คือ เราต้องการคุณภาพบุคลากรประเทศในระดับใด เราต้องให้ความสำคัญและผลตอบแทนให้สูงเพื่อดึงดูดคนเก่ง มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นครู อาจารย์ ขณะที่ยุทธศาสตร์การส่งเสริมยกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา ต้องทำอย่างเป็นระบบ สนับสนุนด้านทุนการศึกษาและเน้นในอุตสาหกรรมเป้าหมายประเทศ อาทิ ดิจิทัลเทคโนโลยี AI เทคโนโลยีวิศวกรรมการแพทย์ วิศวกรรมเกษตรและอาหาร พลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น อีกทั้งรูปแบบ Up skills บัณฑิตและแรงงานปรับเปลี่ยนวุฒิการศึกษาในสาขาที่ขาดแคลนเร่งด่วน โดยนำสาขาใกล้เคียงมายกระดับตามหลักสูตรที่ตลาดแรงงานต้องการให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม รวมทั้งสร้างทางเข้าให้นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการ แรงงาน เกษตรกร และประชาชน เข้าถึงการเรียนรู้ โดยเฉพาะทักษะภาษาอังกฤษ คนไทยถูกจัดอันดับจาก EF (Education First) ปี 2567 ที่ 106 จาก 116 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับ 21 จาก 23 ประเทศในเอเชีย ทั้งต้องมีกระบวนการสร้างโอกาสทางภาษามากกว่า 1-2 ภาษา อาทิ จีนแมนดาริน ฮินดี เรื่องจะช่วยเพิ่มรายได้และโอกาสการจ้างงาน พร้อมกับทักษะด้านดิจิทัล ต้องสร้างประชากรรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมโลก สิ่งสำคัญ คือ นำไปใช้ประโยชน์สร้างผลิตภาพเพิ่มคุณค่าการดำเนินชีวิตหรืออาชีพ
“ความเป็นผู้ประกอบการ คิดและทำแบบผู้ประกอบการที่มีภาวะความเป็นผู้นำ มีวิสัยทัศน์ มีความคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดผลิตภาพ และความคิดรับผิดชอบทำงานเป็นทีม มีคุณธรรม จริยธรรม รับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างมีธรรมาภิบาล โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐาน และสร้างวินัยทางการเงิน พอเพียง พอประมาณ ประมาณตน สร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง”
3.ขยายโอกาส กับทางเลือกทางรอดเยาวชนที่ครอบครัวรายได้ต่ำ และเห็นความจำเป็นความสำคัญของการส่งบุตรหลานให้มีการศึกษาที่สูงขึ้นเป็นโอกาสยกระดับฐานะชีวิตความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก้าวข้ามความยากจนข้ามรุ่น เพิ่มโอกาสทางสังคม คือ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. แต่จากการบริหารจัดการที่ประเทศเข้าสู่ความเสี่ยงในการอนาคตส่งผลต่อการลดโอกาส ลดจำนวนนักศึกษาใช้ กยศ. เป็นกลไกสร้างการเข้าถึงการศึกษามากขึ้น เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอและหนี้เสียเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องทบทวนการบริหารจัดการกองทุน กยศ. เชื่อมโยงสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการจับคู่งานสร้างรายได้หลังการจบการศึกษาตามความต้องการเพื่อให้ชำระเงินคืน กยศ. ได้รวมทั้งการสร้างวินัยทางการเงินให้ผู้กู้ยืม ผลงาน กยศ.ที่ผ่านมาสามารถสร้างการเข้าถึง 7,157,291 ราย มูลค่า 804,535 ล้านบาท แบ่งเป็นระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย 1,274,110 ราย (ร้อยละ 17.8) ปวช. 699,484 ราย (ร้อยละ 9.8) ปวส. 1,230,662 ราย (ร้อยละ 17.2) อนุปริญญาและปริญญาตรี 3,951,736 ราย (ร้อยละ 55.2) ปริญญาโท 1,299 ราย (ร้อยละ 0.02) ปี 2567 มีเงินให้กู้ยืม 51,278 ล้านบาท ผู้กู้ยืม 837,009 ราย นอกจากนี้ให้กู้ยืมเพื่อยกระดับทักษะสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงมากมาย อาทิ เพิ่มทักษะดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น
หากปี 2568 และปีต่อๆ ไป วงเงินไม่เพียงพอสร้างโอกาสทางการศึกษารองรับบปริมาณความต้องการและจำเป็นของการศึกษาจะเป็นอุปสรรคต่อการยกระดับทักษะ สมรรถนะกำลังคน การพัฒนาประเทศที่ต้องเร่งสร้างขีดความสามารถแข่งขันในเวทีโลกนอกจากนั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง
การศึกษาภาคบังคับ ตอบโจทย์จริงไหม บังคับใครได้บ้าง ในเมื่อครอบครัวไม่มีความสามารถส่งบุตรหลานเรียนหนังสือ คือ ครอบครัวรายได้ต่ำแม้การดำรงชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก ถึงเวลาต้องทบทวนความเสมอภาคทางการศึกษาและวันนี้ถึงเวลาต้องทบทวนแง่ปฏิบัติตามยุทธศาตร์ชาติหรือยัง!!