“ทรู-ดีแทค” ควบรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้ชื่อ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ครบรอบ 2 ปีไปหมาด ๆ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา
ในวันเดียวกันนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี. แต่งตั้ง “ซิกเว่ เบรกเก้” (อดีตซีอีโอเครือเทเลนอร์ และโคซีอีโอ ดีแทค) ขึ้นเป็นประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัล ทำงานขึ้นตรงกับ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือ ซี.พี.
ถัดจากนั้นไม่กี่วัน บอร์ดบริหารของ “ทรู” มีมติแต่งตั้ง “ซิกเว่” ขึ้นเป็นประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม หรือ “กรุ๊ปซีอีโอ” ทรู คอร์ปอเรชั่น ด้วยอีกตำแหน่ง
การกลับมาอีกครั้งของ “ซิกเว่” ท่ามกลางบริบทธุรกิจ เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจึงน่าสนใจ ทั้งบทบาทใน ซี.พี. ซึ่งมีทั้งขาที่เกี่ยวกับดิจิทัลเทคโนโลยีใน Ascend Group ที่มีทั้ง Ascend money, Ascend Commerce True IDC, Ascend bit
และล่าสุดใน ทรู กับภารกิจในการขับเคลื่อนผลักดันองค์กรไปอีกขั้น หลัง “ทรู-ดีแทค” ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก และเจ็บปวดร่วมกันมาแล้วในการปรับจูนหลายสิ่งที่ (เคย) แตกต่างกันให้เป็นหนึ่งเดียวจากการรวมบริษัท (วันแรกที่รวมกันมีคนเกือบสองหมื่น ปัจจุบันเหลือไม่ถึงหมื่น)
แต่หากมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น เมื่อ “ซี.พี.-เทเลนอร์” นำโดย “ศุภชัย และซิกเว่” ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรแบบเท่าเทียม (Equal Partnership) นี่อาจเป็นสิ่งที่ได้เตรียมการไว้แล้วตั้งแต่ต้น
ครั้งนั้น ศุภชัย และซิกเว่ พูดถึงภูมิทัศน์ธุรกิจ และการแข่งขันที่จะเปลี่ยนไปมาก จากการมาถึงของเทคโนโลยีดิจิทัล, เอไอ และคลาวด์ว่า เปรียบได้ดังพายุใหญ่ (Perfect Storm) ที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก รวมไปถึงการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมที่จะไม่เหมือนเดิม และไม่ใช่แค่ตลาดในประเทศเท่านั้น
บนเป้าหมายในการทรานส์ฟอร์ม “ทรู” จากบริษัทโทรคมนาคม สู่บริษัทเทคโนโลยี (Technology Company)เป็น National Champion ที่จะไปแข่งขันในระดับภูมิภาค หรือระดับโลกด้วย
“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสร่วมพูดคุย “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือ ซี.พี. หลากหลายแง่มุมที่ไกลและกว้างกว่าธุรกิจ และการแข่งขัน
“ศุภชัย” มองว่า ภูมิทัศน์ธุรกิจที่เปลี่ยนไปจากปัจจัยด้านเทคโนโลยี ทำให้องค์กรต้องทรานส์ฟอร์มเข้าสู่ Cloud และ AI เพื่อให้อยู่ในห่วงโซ่ของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอัตราเร่งที่เร็วมาก ๆ จึงเป็นโอกาสของ “ทรู” ในฐานะ Innovator
“ในระบบเศรษฐกิจใหม่ หรือดิจิทัลอีโคโนมี มีตัวเล่นคือ เอไอ, คลาวด์ และโรโบติก กำลังตามมา แต่ Digital จะไม่จำกัดแค่ในประเทศ ขณะที่โทรคมนาคมมีข้อจำกัด เรื่องการตั้งเสาสัญญาณ ความถี่ก็ใช้ได้แค่ในประเทศ ต่างจาก Digital ทำให้เราสามารถที่จะเข้าไปช่วยทุกอุตสาหกรรมที่จะดิจิทัลไรซ์ได้”
“ศุภชัย” พูดถึงการแต่งตั้ง ซิกเว่ เบรกเก้ เป็นกรุ๊ปซีอีโอ ทรู ด้วยว่า มุมมอง ประสบการณ์ที่มีความเป็น “สากล” ความเข้าใจตลาดเอเชีย เพราะเป็นผู้นำเทเลนอร์เข้ามาบุกเอเชีย เคยเป็นสมาชิกสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) และอยู่ในประชาคมยุโรป ทำให้เขาได้เห็นการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์โซลูชั่นและด้านโทรคมนาคม ซึ่งในโลกนี้มีแค่นี้ คือ อเมริกา ยุโรป และจีน จึงทำให้ “ทรู” มีมุมมองที่ไกลขึ้น
“ผมพูดตรง ๆ เลยนะ ผมเคารพคุณซิกเว่มานานแล้ว หรือแม้กระทั่ง คุณสมชัย (สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ซีอีโอ เอไอเอส) ผมก็เคารพ เพราะจริง ๆ คู่แข่งเรา ถือเป็นอาจารย์เรา เราจะมีศัตรูแบบให้ไม่สบายใจไปทำไม ไม่มีประโยชน์”
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา แค่การรวมทีมสองทีม (ทรู-ดีแทค) เข้าด้วยกันก็ยากแล้ว และจากนี้ถึงเวลาที่ต้องกลับมาโฟกัสเรื่องการสร้างนวัตกรรม และการแข่งขัน โดยคุณซิกเว่จะมาเข้ามาเสริมทีมให้แข็งแกร่งขึ้น
ไม่เฉพาะแค่ใน “ทรู” แต่ยังรวมไปถึงเครือ ซี.พี. ที่จะต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจด้วย
“ที่ผ่านมาถือว่า คุณเต๋า (มนัสส์ มานะวุฒิเวช) ทำมาได้ดีแล้ว ถ้าเราบอกว่าเป็นยุคเอ็นเตอร์ไพรส์โซลูชั่น ไอโอที เราต้องโฟกัสและบุกไปข้างหน้า ก็ต้องใช้กำลังของผู้บริหารที่โฟกัสลงไปเต็มที่ โดยคุณเต๋าจะรับผิดชอบตรงนี้ในกลุ่มธุรกิจดิจิทัล ดาต้า และลูกค้าองค์กร เรื่องบรอดแบนด์ยังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมือถือไม่โตแล้ว เราจะเน้นโซลูชั่นเบส และเทคพาร์ตเนอร์ ทำให้มีโฟกัส ถึงจะมีโอกาสโตขึ้นไป”
ส่วนคุณชารัด เมห์โรทรา จะดูเรื่องมือถือเป็นหลัก ซึ่งก็เป็นมาตรฐานที่ได้เรียนรู้จากกลุ่มเทเลนอร์
“ศุภชัย” บอกว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคดาต้าเซ็นเตอร์, จีพียู (ชิปประมวลผลกราฟิก), เอไอ ทำให้การลงทุนจากนี้ไปจะมาที่แอเรียเหล่านี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ เลยยุคโทรคมนาคมไปแล้ว ถือเป็นการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจใหม่ และในเมื่อ เรา (ทรู) ทำให้เทคโนโลยี 3G และ 4G เข้าถึงทุกคนมาแล้ว ดังนั้น ต่อไปจะต้องทำให้ “เอไอ” เข้าถึงทุกคน
ถ้าทุกคนเข้าถึง AI ได้ ก็จะลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะความเหลื่อมล้ำที่ผ่านมา คือ การเข้าถึงความรู้
เป็นสิ่งที่ต้องวางพื้นฐาน และตามให้ทัน ซึ่งของบริษัท “บิ๊กเทค” ทั้งหลายจะเป็นระบบปิด แต่สำหรับ “ทรู” ต้องการให้ทุกอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามาใช้งานได้ และนำไปสู่เป้าหมายต่อไป คือ การทำให้ “เอไอ” เข้าถึงทุกคนใน “ราคา” ที่เหมาะสม
นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ซึ่งต้องทำตามมาด้วย คือ การสร้างทักษะใหม่ให้กับ “คน”
“การสร้างทักษะใหม่ ไม่ควรรอ 16 ปีแล้วออกมาทำงาน แต่ควรได้ทดลองทำงานไป เรียนไป เป็นระบบนิเวศใหม่ที่เครือ ซี.พี. ต้องทำ เหมือนที่ปัญญาภิวัฒน์ทำ แต่จะต้องไปถึงการวิจัย และพัฒนาปูพื้นฐานเรื่อง Data Center, GPU เพื่อเทรนเอไอ ในแง่เชิงลึกต้อง Learning by Doing”
“ศุภชัย” กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีโชค (Winfall) หรือจะเรียกว่าเป็น “ส้มหล่น” ก็ได้สองเรื่อง 1.การเข้ามาลงทุน “ดาต้าเซ็นเตอร์” ของบิ๊กเทคต่าง ๆ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ละรายลงทุนหลักพันล้านเหรียญสหรัฐ แต่จะทำอย่างไรให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนไทย และประเทศไทย มากกว่า “ค่าไฟ” และแรงงานส่วนน้อย
“เวลาเขามาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ หรือโรงงานที่เป็นไฮเทค จะต้องให้นำเรื่องอาร์แอนด์ดีมาด้วย มาสอนคนไทยอีกที ทั้งไมโครซอฟท์ อเมซอน เอ็นวีเดีย กูเกิล ถ้าตั้งศูนย์เอไอ หรือ R&D ระดับภูมิภาคในไทย และเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยไทย จะทำให้มหาวิทยาลัยไทยอัพเกรดทันที เพราะทรัพยากรที่สำคัญที่สุด คือ คน”
ส้มหล่นเรื่องที่สอง คือ ด้านการผลิต โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์, ออโตเมชั่น และอีวี
“เราแข่งกับเวียดนาม เพราะมาเลเซียไม่ใช่ฐานด้านการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ความโชคดีของเรา มาจากมาตรการไชน่า+1 ต่างประเทศที่ลงทุนในจีน ย้ายส่วนหนึ่งมาที่เรา เราได้กันครึ่ง ๆ กับเวียดนาม”
ขณะที่นักลงทุนจีนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจะมาที่ประเทศไทย หรือถ้าไปอินโดนีเซียก็เพื่อเสิร์ฟตลาดอินโดนีเซีย แต่ถ้าเสิร์ฟตลาดอาเซียนจะเลือกมาลงทุนในไทย จึงควรกำหนดเงื่อนไขที่ดี และมีการกำกับดูแลที่โปร่งใส เช่น ไม่ให้ต่างชาติถือหุ้น 100%
ศุภชัย ยกตัวอย่างว่า ที่มาเลเซีย กำหนดเลยว่า 1.ต้องมีโลคอล ถือหุ้นด้วย 30% เพื่อสร้างเช็กแอนด์บาลานซ์ 2.ต้องมาตั้งศูนย์อาร์แอนด์ดี และ 3.นำห่วงโซ่อุปทานเข้ามา และมิกซ์โลคอล 40-50% ด้วย
“ถ้าให้เขาถือ 100% เผลอ ๆ เราจะไม่ได้ภาษีเลย เพราะทรานส์เฟอร์ไพรซิ่งไปอยู่ประเทศอื่นหมด คือมาผลิตที่ไทย มีแต่เจ๊าอย่างเดียว ไม่กำไรไม่ขาดทุน ก็จะไม่มีภาษีจ่ายให้รัฐ”
หรือกรณีสิงคโปร์ กำหนดว่าจะต้องจ้างงานคนในประเทศด้วย โดยรัฐบาลออกให้ 2 ปี เพื่อสร้าง “แรงงานที่มีทักษะ” หรือถ้าส่งคนไปทำงานเมืองนอกก็จะซับซิไดซ์อีกสองปี เพื่อให้คนสิงคโปร์เก่งขึ้น เป็นต้น
“เราต้องทำให้เทียบเท่า หรือดีกว่า เพื่อดึงทุนเข้ามา และ Match Fund ลงคู่กัน”
แต่ทุนที่สำคัญกว่าเงิน คือ ทุนมนุษย์
“ศุภชัย” ย้ำว่า ประเทศไทยอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ที่ได้เปรียบ แต่ต้องการความต่อเนื่องของนโยบายรัฐ มีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในหลายด้าน ทั้งศูนย์กลางด้านการค้า, ด้านเทคโนโลยี, วิจัย และพัฒนา, ด้านการศึกษา, ด้านเกษตร และอาหาร รวมถึงการดึงคนที่มีทักษะด้านต่าง ๆ เข้ามา
“สิงคโปร์ มีประชากร 4 ล้าน แต่มีต่างชาติที่เข้ามาทำงาน 2 ล้าน รวมเป็น 6 ล้าน ถ้าไทยดึงคนเข้ามาทำงานได้สัก 5 ล้านคน จีดีพีจะขยับตัวสูงขึ้นได้อีก เพราะเขาเข้ามาต้องมีที่อยู่อาศัย มีการใช้จ่าย มีการจ่ายภาษี ภาคอสังหาฯที่ซบเซาจะกลับมาได้เลย แต่ต้องทำให้เขารู้สึกว่ามาอยู่แล้วปลอดภัย มีระบบภาษีที่ดึงดูด และมีกระบวนการในการคัดกรอง”
ถ้าทำได้ก็จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วมาก