พิชัย เผย 5 ข้อเสนอ เจรจาภาษี เชื่อ รมว.คลังสหรัฐ ส่งสัญญาณดี หวังลดภาษีเหลือ 10%
GH News May 14, 2025 04:00 PM

‘พิชัย’ เชื่อ รมว.คลังสหรัฐ ส่งสัญญาณดี หวังลดภาษีเหลือ 10% มองไม่ได้ดำเนินการช้าไป รอลุ้นได้คิวเจรจาเร็วๆ นี้

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 14 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจานโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกาว่า ล่าสุดประเทศไทยได้ยื่นข้อเสนอไปยังสหรัฐ ผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) ถึงสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ USTR เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา

สำหรับข้อเสนอโดยสรุปมี 5 ข้อ ได้แก่

1.ไทยจะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับสหรัฐ มุ่งเน้นไปที่การเสริมความร่วมมือธุรกิจอาหารแปรรูปไทยและสหรัฐ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยการใช้จุดแข็ง 2 ประเทศร่วมกัน โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพื่อเป็นวัตถุดิบแปรรูปและส่งออกไปตลาดโลก และหารือร่วมภาคเกษตรของสหรัฐที่เป็นฐานเสียงสำคัญทางการเมืองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

2.เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ โดยไทยมีแผนเพิ่มการนำเข้าสินค้าจำเป็น อาทิ พลังงาน (น้ำมันดิบ, ก๊าซธรรมชาติเหลว, แอลเอ็นจี, อีเทน) เครื่องบินและชิ้นส่วน, อาวุธยุทโธปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เกษตรอย่างข้าวโพด ถั่วเหลือง และเนื้อวัว เพื่อกระชับความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ และตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจในประเทศ

ทั้งนี้ ผู้แทนกระทรวงพลังงงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และเอกชนภาคพลังงานไทย ได้เดินทางไปรัฐอะแลสกา เพื่อหารือผู้ว่าการรัฐอะแลสกาและบริษัทเอกชนด้านพลังงานในสหรัฐ เพื่อวางแนวางความร่วมมือในการซื้อขายพลังงานต่อไป

3.เปิดตลาดและลดอุปสรรคทางการค้า การลดภาษีนำเข้าภายใต้ระบบ MFN จำนวน 11,000 รายการ ลง 14% รวมถึงการลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของความร่วมมือ อีกทั้งลดโควตาและข้อจำกัดพร้อมเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐ เช่น เชอรี่ แอปเปิ้ล ข้าวสาลี ข้าวโพด และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์

4.บังคับใช้กฎหมายถิ่นกำเนิดสินค้าเคร่งครัดผ่านการบังคับใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อแก้ปัญหาการสวมสิทธิสินค้า “Made in Thailand” โดยสินค้าจากประเทศที่ 3 ส่งออกผ่านไทยไปสหรัฐ ซึ่งจะเพิ่มการเฝ้าระวังเพื่อรักษาภาพลักษณ์สินค้าไทยในตลาดสหรัฐ

5.ส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐ ภาครัฐสนับสนุนการขยายการลงทุนของเอกชนไทยในสหรัฐภายใน 4 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน เช่น โครงการลงทุน LNG ในรัฐอลาสก้า และการลงทุนฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่ ปัจจุบันเอกชนไทยลงทุนในสหรัฐ 70 แห่ง ใน 20 มลรัฐ สร้างงานมากกว่า 16,000 ตำแหน่ง มูลค่าการลงทุน 16,000 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ นางนลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย รวมถึงภาคเอกชนชั้นำนของไทย อยู่ระหว่าง เดินไทยไปเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี ประเทศสหรัฐ เพื่อร่วมงาน 2025 SelectUSA Investment Summit เพื่อขยายกิจการและต่อยอดการลงทุนในสหรัฐ

นายพิชัยกล่าวว่า ล่าสุด นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้แสดงท่าทีเป็นบวกต่อข้อเสนอของไทย โดยได้พูดถึงประเทศไทยในการขึ้นเวที Saudi Arabia Investment Forum เมื่อวันที่ 13 พ.ค.68 จากการที่นายสก็อตต์ เบสเซนต์ มีท่าทีเป็นบวก และกล่าวว่าเป็นข้อเสนอที่ดี แบบเดียวกับที่พูดถึงข้อเสนอของประเทศอินโดนีเซียและไต้หวัน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสัญญาณบวกจากระดับนโยบายของ สหรัฐ และคาดได้ว่าได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในระดับ working level ให้พิจารณาในรายละเอียดต่อไป ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณในการดำเนินการต่อไป สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สหรัฐพิจารณาให้ความสำคัญ และพร้อมที่จะหารือเพื่อหาข้อยุติในส่วนของมาตรการภาษีต่างตอบแทน และจะนำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ต่อไป

รองนายกฯและ รมว.คลังกล่าวว่า เรามีการพูดคุยกันเป็นระยะในระดับผู้ปฏิบัติงาน ข้อเสนอของเราเป็นข้อเสนอที่อยากเรียกว่าเป็นข้อเสนอที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ ถึงแม้เราจะมีการนำเข้ามากขึ้น แต่เราก็คิดถึงการส่งออกมากขึ้นด้วย และเมื่อเรานำเข้ามากขึ้น การส่งออกก็มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐมีความต้องการสินค้าของเราอยู่ และทำอย่างไรไม่ให้ผู้ผลิตในไทยได้รับผลกระทบ ยืนยันว่าของที่นำเข้าต้องเป็นของที่ไทยประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และส่งผลดีต่อต้นทุนผลิตสินค้าแปรรูปของไทยเพื่อที่จะนำไปส่งออก

เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยกับสหรัฐภายในเดือน พ.ค.นี้หรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า มีหลายประเทศ ซึ่งจากที่เห็นวิธีการ เขาจะพยายามตกลงกับประเทศใหญ่ๆ ก่อน เพราะจะมีเงื่อนไขเยอะ มีสินค้าหลายประเภท เราพอจะเดาได้ว่าเมื่อมีหลักใหญ่ๆ ของหลายประเทศ เขาก็จะใช้เป็นกรอบ อาจใช้เป็นแนวทางในเรื่องแบบเดียวกัน ในส่วนของเราสิ่งที่เป็นประเด็นอยู่มีมาก เพราะในส่วนที่เราโฟกัสเข้าไปเรื่องของการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เขาต้องการส่งออกก็ตรงกัน

นายพิชัยกล่าวว่า ส่วนที่จะคุยเมื่อไหร่นั้น ตนเชื่อว่าในระดับเจ้าหน้าที่ทราบแล้ว ถ้าคุยแล้วนอกเหนือจากนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เชื่อว่าเขาคงรอเวลา เพราะเจ้าหน้าที่ที่ทำงานจริงๆ ในส่วนของ USTR มีเจ้าหน้าที่อยู่ประมาณกว่า 200 คน ต้องแบ่งงานกันทำ จึงขึ้นอยู่กับว่าจะคุยกันเมื่อไหร่

เมื่อถามถึงการพูดคุยในระดับรัฐมนตรี นายพิชัยกล่าวว่า จากที่ดูตอนนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐเดินทางไปต่างประเทศเยอะ ถ้ามีจังหวะดีๆ ท่านก็คงจัดคิวดูว่าใครจะอยู่ในกลุ่มที่จะเข้าไป ซึ่งหวังว่าจะเกิดขึ้นในเร็ววัน เพราะในระยะเวลา 90 วันที่ให้ไว้ ขณะนี้ผ่านมาเกือบ 2 เดือนแล้ว

เมื่อถามถึงการลงทุนในสหรัฐเป็นสินค้าประเภทไหน นายพิชัยกล่าวว่า สิ่งที่เราจะไปลงทุนต้องมีลักษณะ 2 อย่างคือ 1.เรามีขีดความสามารถที่จะดำเนินการ ซึ่งในระยะหลังเรามีความสามารถในด้านกระบวนการผลิตและบริการในส่วนของรถยนต์ และ 2.สิ่งที่เรามีความชำนาญ และต้องการนำเข้า ซึ่งต้องดูว่านอกจากนำเข้าแล้วเราไปลงทุนร่วมได้หรือไม่

เมื่อถามว่า ขณะนี้ภาษีจีนอยู่ที่ 30% แต่ของไทยอยู่ที่ 36% มีความกังวลเรื่องนี้หรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า ตัวเลขเหล่านั้นสะท้อนได้ 2 เรื่อง โดยคำนึงถึงขนาดเศรษฐกิจ คำนึงแต่สัดส่วนที่ประเทศคู่ค้าได้เปรียบดุลการค้าจากสหรัฐ สิ่งที่เรากำลังจะทำต่อไปลดสัดส่วนการดุลการค้าได้แน่นอน และเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย เมื่อลดการขาดดุลได้ตนคิดว่าตัวเลขก็ไม่น่าจะอยู่อย่างนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ ยังเป็นไปตามเป้าหมายเดิมหรือไม่ คือการลดการเกินดุล 5% ใน 5 ปี นายพิชัยกล่าวว่า แน่นอน เมื่อเราทำแบบนี้ก็มานั่งเปรียบเทียบดูว่ามีอะไรเพิ่ม อะไรลด เราจะโชว์ให้เขาดูว่าการลดการขาดดุลใน 5 ปีมีเท่าไหร่ เพราะจริงๆ สิ่งที่จะมีผลเยอะคือสิ่งที่จะนำเข้ามา เช่น ภาคปิโตรเคมี ภาคพลังงาน รวมถึงเครื่องบิน และเรามีข้อมูลให้ดูว่าสิ่งที่เกินดุลของสหรัฐ หลายบริษัทก็อาจจะนำสิ่งนี้มาพิจารณาด้วย

เมื่อถามว่า คาดการณ์ตัวเลขภาษีจะอยู่ที่เท่าไหร่ นายพิชัยกล่าวว่า วันนี้ทุกคนได้แต่คาดเดาว่าสหรัฐต้องการตัวเลขภาษีเพิ่มขึ้น และมองเห็นตัวเลข 10% น่าจะใช้ขั้นต่ำเท่านี้ ซึ่งจะทำให้สินค้าบางประเภทมีอัตราที่เสี่ยงไป ในส่วนของเราสิ่งที่เกี่ยวข้องจริงๆ คือสินค้าเกี่ยวกับยานยนต์ เชื่อว่าคงได้ใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ เพราะตนก็ไม่เห็นประเด็นที่เราแตกต่างกับคนอื่น หากการเจรจาจบ

เมื่อถามย้ำว่า คาดหวังที่ 10% ใช่หรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า คิดว่าเกือบทุกชนิด สหรัฐคงคิดว่าน่าจะยืนอยู่ในระดับ 10%

เมื่อถามว่า รัฐบาลมองว่าการทำงานในครั้งนี้ล่าช้าไปหรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า เราเป็นประเทศคู่ค้าที่ไม่ได้อยู่ในเทียร์ 1 และเราอยากฟังว่าเขาคุยอะไรกับประเทศใหญ่ๆ เพราะมีสินค้าบางชนิดที่เหมือนเรา ดังนั้น ถ้าพูดกันตามตรง เวลาที่เขายังไม่คุย เราก็อาจจะรู้สึกว่า ทำไมไม่คุยสักที แต่ถ้ามองไปแล้วจะทำให้รู้ว่าเขาคุยอะไรกับคนอื่นบ้าง ซึ่งการคุยในจังหวะที่เหมาะสมน่าจะดีที่สุด ตนคิดว่าไม่ช้า เพราะคงจะจบไล่ๆ กัน ตนมองทางนั้นก็คงอยากเห็นทุกอย่างจบในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

เมื่อถามถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งนายพิชัย ให้รักษาการแทน รมว.การต่างประเทศ เกี่ยวข้องกับการที่สหรัฐแบนวีซ่าเจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวกับการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีนหรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า ไม่ใช่ แต่เป็นขั้นตอนปกติว่าถ้ารัฐมนตรีคนไหนไม่อยู่จะมีรัฐมนตรีรักษาการโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมาขอเป็นครั้งๆ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.