เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม นายศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กรณีนายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) ระบุว่า ขณะนี้มีกระแสว่า อว. จะมีการปรับโครงสร้าง ขอแบ่งส่วนราชการเพิ่มเติม ตั้ง “กรมพัฒนาอุดมศึกษา” ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกรมขึ้นเพื่อดูแลมหาวิทยาลัย นั้น เรื่องดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวคิด โดย อว. ก่อตั้งมากว่า 6 ปีและตามกฎหมาย จะต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ เมื่อครบ 5 ปี ดังนั้นจึงได้จัดทำการสำรวจข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีข้อคิดเห็น ที่หลากหลายและหนึ่งในข้อคิดเห็น คือการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนและพัฒนาอุดมศึกษา เพื่อผลิตคนทักษะสูง ตอบโจทย์การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นส่วนราชการระดับ”กรม” แต่โดยภารกิจอื่นๆ ของอุดมศึกษาก็ยังอยู่ที่สำนักปลัด โดยเรื่องดังกล่าวยังเป็นเพียงข้อคิดเห็นไม่ใช่ข้อสรุป
ปลัดอว. กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาไทยพัฒนาไปมาก เราควรเน้นบทบาทของอว. ในการพัฒนาการเอื้อสนับสนุน (facilitator) มหาวิทยาลัย มากกว่าบทบาทการควบคุม(regulator) ตามแบบสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เดิม ขณะเดียวกันสิ่งที่ควรกำกับควบคุมของ อุดมศึกษาควรเป็นเรื่องธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก เพราะปัจจุบนต้องยอมรับว่ามีปัญหาอยู่มากและลดทอน ประสิทธิภาพการทำงานของมหาวิทยาลัย ตลอดระยะเวลา 6 ปี อว. ได้มีการพัฒนาอุดมศึกษาไทยอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร ให้มีความยืดหยุ่น สอดรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ผลักดันการเรียนรู้ตลอดชีวิต จัดทำระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ เพื่อเอื้อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา รวมถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาอุดมศึกษาขึ้น เพื่อพัฒนากำลังคนทักษะสูงและความเป็นเลิศของประเทศ
“ผมยืนยันว่าถ้าอว.จะปรับปรุงหรือทบทวนเรื่องโครงสร้างจะทำเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างอุดมศึกษาของประเทศให้เข้มแข็ง ผลิตกำลังคนที่มีทักษะสูง ทำงานวิจัย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่ได้ลดเกรด หรือต้องยึดติดกับโครงสร้างในแบบเดิมๆ ส่วนข้อเสนอที่เปิดโอกาสให้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย มาเป็น ผู้บริหาร อว. ได้นั้น โดยหลักการผมเห็นด้วย และปัจจุบันสำนักงานปลัดอว.กำลังผลักดันเรื่องดังกล่าว โดยได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว แต่ต้องมีการปรับระเบียบและข้อกฎหมายเป็นการเฉพาะ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย หรืออธิการบดีส่วนใหญ่มีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่ได้เป็นข้าราชการเช่นในอดีต การจะเข้ามาเป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง จึงไม่สามารถดำเนินการได้ในรูปแบบเดิม อีกทั้งปัจจุบันมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐจำนวนมากแล้ว ข้าราชการ ก็เหลือน้อย ส่วนใหญ่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ดังนั้นการกำกับดูแล ต้องเปลี่ยนไปจากเดิมเช่นเดียวกัน” นายศุภชัย กล่าว