รร.นานาชาติ โตสวนกระแส ปัญหาระบบการศึกษาไทย
SUB_BUA May 14, 2025 04:30 PM

ดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ สวมสูทสีเทายิ้มสวัสดีและเช็กแฮนด์บรรดา “ผู้ปกครอง” ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ระหว่างพา “ประชาชาติธุรกิจ” เดินชมโรงเรียน “เด่นหล้า” ของตัวเองและครอบครัว ย่านพระราม 5 บนพื้นที่กว่า 20 ไร่ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549

เขาเป็นทายาทของอาจารย์อารย์ ปาลเดชพงศ์ ผู้ก่อตั้ง โดยปัจจุบัน ดร.เต็มยศ นั่งในตำแหน่ง กรรมการบริหารเด่นหล้ากรุ๊ป และผู้อำนวยการบริหารโรงเรียนนานาชาติ DLTS

ท่ามกลางการเติบโตของโรงเรียนนานาชาติ สวนทางกับ ‘จำนวนนักเรียนในไทย’ ที่ลดลงต่อเนื่องมาตลอดในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตามแนวโน้มของสถิติการเกิดที่ลดลง ต่อไปนี้คือคำอธิบาย มุมมองต่อธุรกิจและวัฒนธรรมการศึกษาไทยจาก ดร.เต็มยศ

หลากเหตุผล “นานาชาติ” โต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปี 2568 รายได้ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยโต 9.7% รายได้ 9.5 หมื่นล้าน ชะลอตัวจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 13.1% เนื่องจากจำนวนนักเรียนนานาชาติในปีนี้มีทิศทางขยายตัวที่ชะลอลง มีเพียง 8 โรงเรียนใหม่ที่เปิดตัว น้อยกว่าปีที่แล้ว 5 โรงเรียน

ขณะที่จำนวนนักเรียนไทยมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องตามสถิติการเกิด โดยการลดลงนี้มาจากจำนวนนักเรียนรัฐบาล และเอกชนหลักสูตรไทยที่ปีนี้คาดว่าจะลดลง 1.1% และ 1.2% ตามลำดับ โดยค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยอยู่ที่ 764,484 บาท

ดร. เต็มยศ เห็นว่าเหตุผลหลักที่ทำให้โรงเรียนนานาชาติเติบโต คือแนวคิดของผู้ปกครองหลายคนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ไม่นิยมหลักสูตรและแนวทางการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ

“ถ้าจ่ายไหวคือส่งเรียนนานาชาติเลย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเห็นความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เดิมผู้ปกครองมีความกังวลหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการใช้ภาษาไทยและวัฒนธรรม ตอนนี้ลดลงเรื่อยๆ เขาให้น้ำหนักไปที่เรื่องทักษะ คุณภาพการศึกษา สภาพแวดล้อม”

ปลอดภัย-สุขภาวะดี
ไทยมี รร.นานาชาติ 249 แห่ง

ประเด็นสำคัญต่อมาที่ “ผู้ปกครอง” มองคือ ความปลอดภัย สุขภาวะทั้งทางร่างกายและจิตใจ มาโรงเรียนแล้วมีความสุข ไม่ถูกบูลลี่ มีอาหาร โภชนาการที่ถูกต้อง อุปกรณ์อำนวยความสะดวก สัมฤทธิ์ผลทางด้านอารมณ์สังคมและสติปัญญา มั่นใจและสามารถวางใจ บุคลากรและสถานที่ๆ ลูกอยู่ ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเติบโตและได้รับสิ่งตอบแทนที่ดีในอนาคต

ข้อมูลจาก KResearch ระบุสาเหตุที่ว่าทำไมเด็กไทยเกิดน้อย จำนวนนักเรียนภาพรวมน้อย แต่โรงเรียนนานาชาติกลับเติบโต คือ

1. ความนิยมหลักสูตรต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพราะทันสมัยและพัฒนาอยู่ตลอด เมื่อเทียบกับหลักสูตรไทย ทำให้ผู้ปกครองหลายๆ คนนิยมหลักสูตรนานาชาติมากกว่า

2. ผู้ปกครองมีศักยภาพการลงทุนด้านการศึกษา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากคาดการณ์ที่บอกว่า ประเทศไทยจะมีผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 36 ล้านบาท (1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 24% ในช่วง 2566-2571

3. ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานตำแหน่งบริหารในไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.6% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่พาบุตรหลานมาเล่าเรียนในไทย

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมการใช้ภาษาจีนกลาง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเรียนหลักสูตรนานาชาติในจีนสูงขึ้น โดยจากผลสำรวจ “ปักกิ่ง” เป็นเมืองที่มีค่าเรียนโรงเรียนนานาชาติสูงสุดในเอเชีย ส่งผลให้โรงเรียนนานาชาติในไทยนั้นเป็นที่สนใจสำหรับผู้ปกครองจีน

ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ระบุว่า ปี 2567 ประเทศไทยมีโรงเรียนนานาชาติ 249 แห่ง นักเรียน 77,734 คน โดยเพิ่มขึ้น 10% จากในปีที่ผ่านมา ที่มีโรงเรียนนานาชาติ 236 แห่ง นักเรียน 70,200 คน ในปี 2566

ฝังความเป็นนักธุรกิจ

โรงเรียนเด่นหล้า เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ปัจจุบัน Denla Group มีโรงเรียน 3 รูปแบบ และมีนักเรียนในสังกัดราว 4,000 คน ได้แก่

1.โรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า 2 สาขา ประกอบด้วย สาขาพระราม 5 Denla Rama 5 และสาขาเพชรเกษม Denla School Phetkasem มีการเรียนการสอนทั้งหมด 2 หลักสูตร คือ บูรณาการ (DIP) และ English Program (DEP)

2.โรงเรียนนานาชาติ DLTS (DLTS International School) 2 สาขา ได้แก่ สาขาพระราม 5 และสาขาเพชรเกษม

3.DBS Denla British School โรงเรียนนานาชาติหลักสูตร British ตั้งอยู่บนพื้นที่ 60 ไร่ ถนนราชพฤกษ์ เปิดรับนักเรียนอายุระหว่าง 2-18 ปี เข้าเรียนในระดับ Pre-EY จนถึง Year 13 (เทียบเท่าชั้นเตรียมอนุบาล ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6)

จุดเด่นของ DBS คือ การจัดการเรียนการสอนตามระบบเอกชนอังกฤษ และมีการพัฒนาเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย (Enhanced British Curriculum) โดยจะมีความเข้มข้นทางด้านวิชาการมากขึ้น และมีชั่วโมงเรียนที่ยาวกว่าโรงเรียนนานาชาติอื่น ๆ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำกิจกรรม ดนตรี กีฬา วิชาการ และค้นพบความถนัดของตนเอง

ดร.เต็มยศ บอกว่า เด็กที่จบจากเด่นหล้า จะเป็นเด็กที่มีความพร้อมในเชิงการสื่อสาร ความรอบรู้ กลมกล่อม กล้าหาญ จากการเรียนรู้กิจกรรมที่หลากหลาย สามารถใช้ภาษาไทยได้และเข้าใจวัฒนธรรมของไทย เพื่อใช้ชีวิตและทำงานในไทยอย่างมีความสุข ที่สำคัญพยายามเสริมสร้างทักษะแนวคิด “ความเป็นผู้ประกอบการ” ให้กับเด็กทุกคน

“ผมจะพูดเสมอว่า เราไม่ได้คาดหวังว่าเด็กทุกคนโตขึ้นมาแล้วต้องเป็นนักธุรกิจ แต่มองว่าทักษะการเป็นผู้ประกอบการมีประโยชน์ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การค้นหาตัวเอง ความกล้าหาญในการลงมือทำอะไรใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่เราอยากปลูกฝัง”

ค่านิยมสวนทางกับความจำเป็น

จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยทุ่มเม็ดเงินมหาศาลไปกับ “การศึกษา” แต่ดูเหมือนว่าผลลัพธ์ไม่เป็นดังที่หวัง เพราะปัญหาหลักอยู่ที่ Mindset ซึ่งเป็นต้นทางในการออกแบบระบบต่าง ๆ

“ค่านิยมเมืองไทย เป็นการเรียนเพื่อสอบ ไม่ใช่เรียนเพื่อรู้” เขาบอก

“ผมเคยสอนหนังสือเด็ก ป.ตรี มีนักศึกษายกมือถามอาจารย์ครับ เรื่องนี้ออกข้อสอบไหมครับ ผมบอกว่าไม่ออก พูดแบบนั้นเขาไม่ฟังอีกเลย นั่งเล่นโทรศัพท์ นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมเลิกสอนมหา’ลัย เพราะรู้สึกเติมไม่เต็มกับสิ่งที่เราอยากจะให้”

“ค่านิยม” มีรากฐานจากวัฒนธรรมในอดีต ที่ทุกคนอยากให้ลูกเรียนสูง ๆ ภาครัฐและภาคเอกชนในหลากหลายระดับ ต่างพยายามออกแบบกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมค่านิยมดังกล่าว ทำให้หลายสถานะหรือตำแหน่งงานต้องผูกโยงกับวุฒิการศึกษาหรือใบปริญญา

“คนของเราเรียนเพื่อสอบ เพื่อให้ได้วุฒิมากกว่าเรียนเพื่อให้ได้ทักษะความเชี่ยวชาญที่แท้จริง ผมคิดว่าค่านิยมกับความจำเป็นมันอาจจะไม่คล้องกัน”

ใบปริญญาสำคัญแค่ไหน ?

มองในเชิงเศรษฐศาสตร์ โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ไม่เว้นแม้แต่ “การศึกษา” บางคนอาจคุ้มค่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้ใช้หรือได้รับ ขณะที่บางคนสิ่งที่ลงทุนอาจเรียกได้ว่า “ฟุ่มเฟือย”

เศรษฐศาสตร์จะมีคำศัพท์คำหนึ่ง เรียกว่า Veblen Goods สินค้าประเภทที่ขึ้นราคา ยิ่งขายดี เพราะคนอยากได้มาครอบครอง มาประดับบารมีหรือแสดงสถานะทางสังคม เช่น สินค้าแบรนด์เนมทั้งหลาย คำถาม คือ การเรียนในมหาวิทยาลัยที่เราทำกัน เทียบเคียงกับเรื่องความฟุ่มเฟือยหรือเปล่า ?

“การเรียนเพื่อเอาวุฒิ โดยไม่ได้ต้องการทักษะหรือความรู้จริง ๆ มันคุ้มค่ากับเวลา แรง เงิน และความตั้งใจ ตลอดระยะเวลา 4 ปีหรือเปล่า”

“แน่นอนการเรียนมีประโยชน์แน่ ๆ แต่คุ้มค่าหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับว่า คุณเรียนอะไร จบแล้วไปทำอะไร ได้ทักษะ ได้คอนเน็กชั่น ได้วุฒิไปสมัครงาน อาจจะคุ้มสำหรับบางคน แต่บางคนอาจเป็นความฟุ่มเฟือย”

ดังนั้น วุฒิการศึกษา ไม่ควรจะถือเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับหลาย ๆ อาชีพ

“มันไม่ควรจะจำเป็น” และ “คุ้มไม่คุ้มขึ้นอยู่กับแต่ละคน” ดร.เต็มยศ ผู้แต่งร่วม หนังสือ Cartoonomics : เศรษฐศาสตร์ฉบับการ์ตูน กล่าวทิ้งท้าย

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.