กนกรัตน์ ชี้ ‘สิ่งที่บุ้งสร้าง’ เปลี่ยนคลื่นใต้น้ำ ไม่เร็วแต่ไปไกล กระตุกคนทั้งเจนฯ ให้ตั้งคำถาม’
GH News May 14, 2025 05:03 PM

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจัดงาน “บุ้ง เนติพร” วันที่เธอหายไป Remembering Her, Remember Us‘ รำลึกและยืนหยัดเจตนารมณ์สุดท้าย ครบรอบ 1 ปีการจากไปของบุ้ง เนติพร อิสรภาพที่ไม่ได้รับจากกระบวนการยุติธรรม

โดยตั้งแต่เวลา 09.00 น. มีนักกิจกรรมทางการเมือง ตลอดจนตัวแทนภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป ทยอยเดินทางมาร่วมรำลึก แม้ในช่วงเช้าจะมีฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อาทิ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล, น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาชน, น.ส.อันนา อันนานนท์ นักกิจกรรมทางการเมือง เป็นต้น

ซึ่งภายในงานมีการจัดนิทรรศการ “เรื่องราวของบุ้ง เนติพร” โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับ พิพิธภัณฑ์สามัญชน ซึ่งเป็นภาพถ่าย น.ส.เนติพรขณะที่ยังเป็นเด็ก ไล่เรียงไปจนถึงภาพขณะเคลื่อนไหวทางการเมือง ชุดสุดท้ายที่ใส่ก่อนถูกคุมขัง จากการถูกถอนประกันตัว คดีละเมิดอำนาจศาล (26 ม.ค.67) กระทั่งเสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วง ซึ่งตลอดชีวิตของบุ้ง ต้องเข้าเรือนจำและอาหาร 2 ครั้ง ครั้งแรกถูกขัง 94 วัน ส่วนครั้งที่สอง 110 วัน ‘ไม่มีโอกาสได้ลมหายใจออกมา’ รวมไปถึงโพลที่ใช้ในการทำกิจกรรมสำรวจความคิดเห็น ปณิธานสุดท้ายของ “บุ้ง เนติพร” เรียกร้องไม่คุมขังคนเห็นต่างทางการเมือง สู่ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน เป็นต้น

บรรยากาศเวลาประมาณ 10.00 น. มีพิธีทำบุญโดยพระสงฆ์ 9 รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์เพื่ออุทิศส่วนกุศล จากนั้น น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ ใบปอ พร้อมด้วยตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาสังคม อาทิ น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ หรือ ทนายเมย์ จากศูนย์ทนายฯ, นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน ร่วมถวายภัตตาหารเพล ก่อนกรวดน้ำอุทิศผลบุญกุศลและรับพร

ต่อมาเวลา 11.00 น. เข้าสู่ช่วง ‘ฟังเสียงจากคนที่รักบุ้ง โดย น.ส.คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ หรือ ทนายเมย์ และ น.ส.ณัฐนิช หรือ ใบปอ นักกิจกรรมทางการเมือง เพื่อนของบุ้ง

ต่อมาเวลา 11.45 น. เข้าสู้ช่วง ‘อ่านจดหมาย & ความทรงจำถึงบุ้ง’ โดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว THE REPORTERS, น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ส.ส.พรรคประชาชน และ น.ส.อันนา อันนานนท์นักกิจกรรมทางการเมือง

เวลา 12.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ร่วมงานต่างร่วมวางดอกไม้สีขาว เบื้องหน้าภาพของ น.ส.เนติพร เพื่อแสดงความระลึกถึงการเสียสละด้วยการใช้ชีวิตเข้าแลก

เวลา 13.30 น. มีการฉายสารคดี “Hungry for Freedom” กำกับโดย รัชตะ ทองรวย เข้าชิงรางวัลสารคดี GRIERSON AWARDS 2024 ของ THE BRITISH DOCUMENTARY AWARDS และได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาล FREEDOM FILM FEST 2024 ที่ประเทศมาเลเชีย ซึ่งเป็นสารคดีที่มีเนื้อหาตีแผ่ชีวิต “บุ้งและใบปอ” สองนักกิจกรรมทางการเมืองจากประเทศไทย ที่ถูกจับกุมเพราะตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันฯ กระทั่งถูกจำคุกและปฏิเสธสิทธิในการประกันตัว ทั้งสองจึงอดอาหารเพื่อประท้วงเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์และเรียกร้องให้ปล่อยตัว

ทั้งนี้ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ เดินทางมาร่วมรับชมด้วย

บรรยากาศเวลา 13.30 น. มีการสนทนาในหัวข้อ “เธอหายไปไหน?” โดย รศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนรู้สึกหนักอกเมื่อต้องพูดถึงบุ้ง ตั้งคำถามว่า 1 ปีแต่เหมือนเวลาผ่านไปนานมาก มันคงมาถึงคำถามที่ว่า ‘การหายไปของบุ้งได้ประโยชน์จริงหรือไม่’ สังคมไทยลืมบุ้งไปแล้วไหม ? มันพ่วงมากับคำถามที่ว่าม็อบปี 2563 มันหายไปแล้ว สรุปแล้วมันเปล่าประโยชน์หรือเปล่า มันไม่เหมือนไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

การที่เธอหายไป สังคมไทยเราได้อะไร หรือยังอยู่ในภาวะทรอม่า ซึมเศร้ากับการทุ่มเทกำลังจำนวนมากเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่สุดท้ายไม่เป็นอย่างที่เราคิด เพื่อนหายไป ปีนี้จัดงานรำลึก แต่ปีหน้าเราจะยังจำบุ้งได้ไหม เลยอยากลองทุกคนคิด ว่ากระบวนการเคลื่อนไหวทั่วโลก การตายของคนจากการเคลื่อนไหว มีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ที่การเรียกร้องนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทันที

“แม้ว่าจะไม่เปลี่ยนในวันที่คุณเคลื่อนไหว แต่เราจะพบว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นมันเกิดขึ้นหลังการชุมนุมประท้วงหายไปแล้ว หลังการสูญเสียผู้คนจำนวนมาก หรือบางครั้งอาจจะล้มเลิกความพยายามไปแล้วด้วยซ้ำ แต่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลังจากนั้น มันเกิดขึ้นใต้น้ำ” รศ.ดร.กนกรัตน์เผย

รศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวต่อว่า แท้จริงแล้วการเรียกร้องของคนอย่างบุ้งและคนหนุ่มสาวมากมาย เราจะเห็นว่า ไม่เปลี่ยนทันที แต่มันเปลี่ยน 4 แบบ คือ

1.การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม 2.การเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจก 3.การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และ 4.การเปลี่ยนแปลงแบบที่คาดไม่ถึง ซึ่งสิ่งที่บุ้งทำ ‘การอดอาหารประท้วง’ มันคือการต่อสู้ทางวัฒนธรรม คือกระบวนการสร้างการเรียนรู้แบบใหม่ให้สังคมรับรู้ เราจะไม่เคยรู้เลยว่า มีคนเห็นด้วยมากขนาดนี้ มันสร้างวัฒนธรรมในการคิดแบบใหม่ มันยกระดับการเรียนรู้ไปไกลมาก ทุกวันนี้เข้าโรงหนัง เราไม่เห็นสิ่งที่เคยทำแล้ว” รศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว และว่า

ดังนั้น ในแง่นี้เราปฏิเสธไม่ได้ เหมือนกับการต่อสู้เรื่อง LGBTQ+ ที่สหรัฐฯ ที่เห็นผลเมื่อผ่านไป 50 ปี และมันไม่มีวันย้อนกลับ โดยสิ่งที่บุ้งทำ ได้ไปกระตุกต่อมเอ๊ะของคน จากที่เราเป็นเด็กดีของอนุรักษนิยม มันทำให้เราเอ๊ะ ซึ่งจากการที่ไปสัมภาษณ์คนที่ร่วมชุมนุม ทุกคนมี ‘เอ๊ะ โมเมนต์’ นี้

รศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวต่อว่า อย่างที่ 3 ผลกระทบทางการเมือง สังคมไทยส่วนใหญ่นักกิจกรรมจะมีความซึมเศร้า แต่ถ้าไปถามคนอื่น เขาจะบอกว่า ‘คิดได้ไงว่าเราแพ้ มันเปลี่ยนไปตั้งเยอะ’ กระบวนการทางการเมือง วิธีคิด กระบวนการนิติบัญญัติ แม้ไม่เร็วแต่มันไปไกล มีการอภิปรายในสภาฯ ผ่านบางร่างกฎหมาย ดังนั้นในเชิงสถาบันทางการเมือง มันเปลี่ยนแปลงไปไกลมาก

“การเลือกตั้งเทศบาล เราเห็นการปรับตัวของ บ้านใหญ่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาดูก่อน
5 ปีหลังการชุมนุม 1 ปี หลังบุ้งเสียชีวิต ในโลกตะวันตกและอีกหลายที่ทั่วโลก หลังการสูญเสีย มันมีผลที่ตามมาอย่างที่เราคาดไม่ถึงเยอะมาก เห็นระบอบแบบพลิกฟ้าดิน เราเห็นตัวอย่างมากมาย ในอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะเห็นคนแบบบุ้ง ลุกขึ้นมาต่อสู้ จากประสบการณ์ที่เห็นในโลกอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดฝันนั้น เกิดขึ้นได้” รศ.ดร.กนกรัตน์เผย

รศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวต่อว่า สิ่งที่บุ้งทำ และการชุมนุม มันเป็นการ ‘สร้างคนทั้งเจนเนอเรชั่นให้ตั้งคำถาม’

“บุ้งไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่กับเรา อยู่ในตัวคนที่เปลี่ยนไป เมื่อบุ้งเสียชีวิต เราเปลี่ยนไปมาก ความโกรธ ความไม่อยากจะเชื่อว่ารัฐปล่อยให้บุ้งตายได้อย่างไร มันกลับฝังอยู่ในเราทุกคน ไม่อย่างนั้นเราจะจัดงานนี้ทำไม ถ้าเราไม่เห็นความสำคัญของสิ่งที่บุ้งทำ” รศ.ดร.กนกรัตน์ชี้

ต่อมาเวลา 14.50 น. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา กล่าวปาฐกถา “กระบวนการยุติธรรม ในวันที่เธอไม่อยู่ ?”

ก่อนปิดท้ายด้วยดนตรีโดย เอ้ นิติ’กุล นักสิทธิมนุษยชน กับ บทเพลงของบุ้ง

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.