ตลท. มั่นใจปลายปีหุ้นดีขึ้น หลังงัดอาวุธ-ร่วมมือ Nasdaq สกัดขายชอร์ต เม.ย. ต่างชาติแห่ซื้อพันธบัตรไทยสูงสุดรอบ 3 ปี
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทยว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซึ่งมีโครงการ Jump plus ที่จะผลักดันให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพิ่มศักยภาพการเติบโต และให้นักลงทุนได้รู้เป้าหมายการเติบโตระยะ 2-3 ปีข้างหน้า รวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่จะช่วยผลักดันการเติบโต รวมถึงได้ร่วมมือกับ Nasdaq มุ่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนไทย ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาเพิ่มศักยภาพเสริมความเข้มแข็งสร้างความโปร่งใส และการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ครอบคลุมพฤติกรรมซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ธุรกรรมซื้อขายที่มีความถี่สูง (HFT) และการขายชอร์ต
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายน 2568 สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า มีกระแสเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้าสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยแล้วประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า มาจากความไม่เชื่อมั่นต่อดอลลาร์จากสงครามการค้า ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยที่น่าจะลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยมีแรงหนุนจากกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (ทีอีเอสจีเอ็กซ์) ที่เริ่มมีการเสนอขายออกมา จะเริ่มเห็นการซื้อสุทธิของนักลงทุนสถาบันแสดงให้เห็นว่ามีดีมานด์ในการเข้าซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ที่สับเปลี่ยนมาเป็นกองทุนใหม่มากขึ้นแทน
นายศรพล กล่าวว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มองว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตลดลงมาที่ 2.8% ในปี 2568 และ 3.0% ในปี 2569 โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลัก สวนทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับตัวขึ้นในกรอบ 4.0-4.5% ขณะที่ผู้ลงทุนเริ่มขายพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งเคยเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงดอกเบี้ยตามคาดที่อัตรา 4.25-4.50% นับเป็นครั้งที่สามติดต่อกัน
นายศรพล กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น จากในวันที่ 10 เมษายน ที่สหรัฐได้ประกาศเลื่อนการเก็บภาษีออกไปอีก 90 วัน และมาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาตั้งแต่วันที่ 8-11 เมษายน ช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดทุนไทยได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ดัชนีมีความผันผวนน้อยกว่าหลายตลาดอื่นในภูมิภาค โดยหลังวันที่ 16 เมษายน ดัชนีปรับเพิ่มขึ้น และจำนวนหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกในแต่ละวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระจายไปในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งมูลค่าหุ้น (แวลูเอชั่น) ของหุ้นไทยยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
ทั้งนี้ ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยเดือนเมษายน 2568 ดัชนีปิดที่ 1,197.26จุด ปรับเพิ่มขึ้น 3.4% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 30เมษายน 2568 ปรับลดลง 14.5% กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่าภาพรวม เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2567 ได้แก่ กลุ่มการเงิน กลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมอยู่ที่ 39,410 ล้านบาท หรือลดลง 11.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ผู้ลงทุนต่างประเทศยังคงมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดที่ระดับ 50.52% โดยมีสถานะป็นผู้ขายสุทธิ 14,588 ล้านบาท