“วงจรอุบาทว์” เศรษฐกิจจีน ในบริบทสงครามการค้า
SUB_NOI May 14, 2025 06:20 PM
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลกผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

สงครามการค้า มีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อคู่สงครามเสมอ นั่นคือคำเตือนจากกูรูทางเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย คำถามก็คือ ในขณะที่ทุกฝ่ายพากันพูดถึงปัญหาที่สหรัฐอเมริกาจะได้รับจากการก่อสงครามการค้าครั้งใหญ่หนนี้ มีน้อยคนนักที่จะพูดถึงผลกระทบที่จีนจะได้รับจากกรณีนี้

ท่าทีที่ทางการจีนแสดงออกมาให้เห็น ยิ่งดูเหมือนว่า ได้เตรียมการพร้อมมาเป็นอย่างดีเพื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว “เศรษฐกิจจีน” เองก็กำลังเผชิญกับปัญหา และมาตรการที่นำมาใช้ในการตอบโต้ต่อสหรัฐอเมริกา ก็ยิ่งทำให้ปัญหาที่มีอยู่ ทรุดตัวลงเลวร้ายมากยิ่งขึ้นไปอีก

นโยบายภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ความต้องการสินค้าจีนในตลาดโลกเหือดหายมากยิ่งขึ้นไปอีก สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ทางการจีนเรียกร้องให้บรรดาผู้ส่งออกหวนกลับมาหาตลาดภายในประเทศ เป็นการทดแทนส่วนที่ขาดหายไปดังกล่าว เพื่อพยุงภาคการผลิตของจีนให้อยู่รอดต่อไปได้ แต่การหันกลับมาใช้ตลาดภายในเป็นแหล่งระบายสินค้า ยิ่งทำให้ปัญหาเศรษฐกิจที่จีนตั้งเป้าจะแก้ไข ไม่เพียงสลับซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น ยังลุกลามขยายตัวมากขึ้นอีกด้วย

การกำหนดให้ ตลาดภายในประเทศ เป็นช่องทางในการระบายแรงกดดันต่อภาคการผลิตของจีน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ในความเป็นจริง เมื่อบรรดาสินค้าที่เดิมผลิตเพื่อการส่งออกเหล่านั้น หวนกลับมาวางขายอยู่ในประเทศ มันยิ่งก่อให้เกิด “ส่วนเกิน” ขึ้นในภาคการบริโภคของจีน ซึ่งแต่เดิมก็ตึงตัวอย่างยิ่งอยู่ก่อนแล้ว

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ กลายเป็นการเร่งให้ “วงจรอุบาทว์” ทางเศรษฐกิจเกิดเร็วขึ้น และระบาดไปทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

ราคาสินค้าในจีนร่วงลงอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เพราะผลิตภาพในการผลิตดีขึ้น หรือเทคโนโลยีในการผลิตถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ราคาร่วงลงอย่างมากและรวดเร็ว เพราะบรรดาผู้ผลิตพากันทุบราคาลง เพื่อให้สามารถขายสินค้าออกไปให้ได้มากที่สุด ลดปริมาณสินค้าคงคลังลงให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ในสภาพแวดล้อมเชิงลบทั้งหมด อย่างเช่นในเวลานี้

ผลที่เกิดขึ้นก็คือสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ภาวะเงินฝืด” (Deflation) ซึ่งปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจ ดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งเคยแกว่งตัวอยู่ใกล้ ๆ กับระดับ 0 เปอร์เซ็นต์ แทบตลอดทั้งปี 2023 และ 2024 ที่ผ่านมา ทรุดตัวลงในทันทีต่อเนื่องกันในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้ผลิต อันเป็นตัวเลขที่แสดงการเปลี่ยนแปลงราคาขายส่งของโรงงาน ลดลงอย่างต่อเนื่อง 29 เดือนติดต่อกัน ตัวเลขเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาถือเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 4 เดือน และคาดการณ์กันว่า ตัวเลขสำหรับเดือนเมษายนจะร่วงลงหนักยิ่งกว่า

สภาพการณ์ดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกับที่เกิดสภาวะ “โอเวอร์ซัพพลาย” ขึ้น ในยามที่ “ดีมานด์” หดตัวลงอย่างรุนแรง ในระยะสั้น ๆ การเทสินค้าส่งออกที่ขายไม่ได้ลงสู่ตลาดภายในประเทศในราคาถูก อาจดูเป็นเรื่องดี แต่ถ้าหากจะใช้วิธีนี้เป็นยุทธศาสตร์ในสงครามการค้า สิ่งที่ดูดีก็จะกลายเป็นปัญหา

เพราะวิธีการเช่นนี้ไม่เพียงทำลายโครงสร้างของราคาทั่วทั้งภาคการผลิตลงเท่านั้น ยังทำให้บรรดาผู้ผลิตมีรายได้ลดน้อยลง และบีบบังคับให้จำเป็นต้องปรับลดต้นทุนการผลิตลงต่อเนื่องเป็นระลอก

บรรดาแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ ทั้งหลายของจีน อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้อย่างเต็มที่ ตัวอย่าง เช่น JD.com ประกาศที่จะทำยอดขายสินค้าส่งออกที่กลายเป็นส่วนเกินนี้เพิ่มขึ้นในตลาดในประเทศ ให้ได้เท่ากับมูลค่าการส่งออก 28,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยการลดราคาขายลงสูงสุดถึง 55% โดยใช้การสื่อสารออกไปว่า เพื่อเป็นการแสดงการยืนหยัดต่อสู้ของชาวจีน และเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กัน

ปัญหาก็คือ ผู้บริโภคในจีน ไม่ได้อยู่ในสภาพพร้อมอย่างที่คิดกัน จีนในยามนี้ ตลาดแรงงานยังไม่กระเตื้อง ค่าจ้างยังไม่ปรับขึ้นอย่างทั่วถึง ผู้บริโภคพากันคาดหวังถึงความยากลำบากที่จะมาถึงในอนาคต อดออมเม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์อย่างเต็มที่ ไม่เพียงไม่ซื้อหาข้าวของชิ้นใหญ่ที่มีราคาสูง ๆ แต่ยังกระเหม็ดกระแหม่ แม้แต่ในการใช้จ่ายประจำวัน ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงไม่ฟื้นตัว ส่งผลฉุดรั้งต่อรายได้ครัวเรือนและต่อความต้องการสินค้า ดังนั้น แม้สินค้าราคาถูกจะกองสุมให้เห็นอยู่ตรงหน้า ก็ไม่มีผู้ซื้อเดินเข้ามาควักกระเป๋าแต่อย่างใด

ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ บรรดาบริษัทผู้ผลิตพากัน “ลดราคา” สินค้าลงมา จนอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดผลกำไร ซึ่งส่งผลกระทบต่อไปเป็นระลอก เพราะเมื่อรายได้ลด แผนการจ้างงานก็ลด หรือไม่ก็ยกเลิก ลดคนลดค่าจ้าง ซึ่งเท่ากับเป็นการไปลดกำลังซื้อของผู้บริโภคลงไปอีกโดยปริยาย วงจรชั่วร้ายทางเศรษฐกิจนี้กำลังแสดงออกมาให้เห็นในจีน และกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

บรรดาผู้ส่งออก ต้องต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกระบวนการการค้าโลก กำแพงภาษี ซึ่งแต่เดิมถูกมองว่าเป็นเพียงแค่กลยุทธ์ชั่วครั้งชั่วคราว กำลังกลายเป็น “ปัจจัยกึ่งถาวร” ของเศรษฐกิจโลก ระบบห่วงโซ่อุปทาน กำลังผันผวน ปั่นป่วนอย่างหนัก ส่งผลให้ผู้ผลิตจำนวนมากตัดสินใจเลิกส่งออกไปโดยปริยาย

ในขณะที่การปรับเปลี่ยนทิศทางของสินค้ามาสู่ตลาดภายในประเทศ กลายเป็นความเสี่ยงต่อการทำให้ภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นดิ่งลึกลงมากยิ่งขึ้น และแผ่วงกว้างออกไปครอบคลุมทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจของจีน และที่น่ากังวลมากขึ้นไปอีกก็คือ “ภาวะเงินฝืด” ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไขได้ในตัวของมันเอง ยิ่งคงสภาพอยู่นาน ภาวะเงินฝืดจะยิ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่จะส่งผลให้ องค์กรธุรกิจหดตัว ครัวเรือนชะลอการใช้จ่าย การลงทุนถูกชะลอหรือยกเลิกต่อไปอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์เช่นนี้อาจจำกัดอยู่แต่เฉพาะในจีน หากไม่ใช่เพราะขนาดเศรษฐกิจอันใหญ่โตและการเป็นหัวใจสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของโลกอย่างเช่นที่จีนเป็นอยู่ในเวลานี้ ผลก็คือ ถ้าหากราคาสินค้าทั้งส่วนที่เป็นสินค้าสำเร็จรูป

และส่วนที่เป็นสินค้าในห่วงโซ่การผลิตของจีน ยังคงลดต่ำลงต่อไป จีนก็สามารถ “ส่งออก” แรงกดดันที่ตนเองเผชิญอยู่ให้กับประเทศอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นคู่ค้าของจีน ปัญหานี้จะยิ่งทำให้เกิดความตึงเครียดในเชิงการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การประเมินเพื่อการลงทุนก็จะยุ่งยากมากขึ้นในอนาคต

ภายใต้บริบทของสงครามการค้า จีนจึงจำเป็นต้องแสวงหาหนทางสร้างความเชื่อมั่นในภาคเอกชนให้เกิดขึ้น พร้อมกันนั้นก็สร้างเสถียรภาพของราคาให้เกิดขึ้นให้ได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.