งานมหกรรมการศึกษาและประชุมสัมมนา ‘didacta asia 2025’ เตรียมจัดใหญ่ 15–17 ตุลาคมนี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โชว์นวัตกรรมล้ำสมัยเพื่อการเรียนรู้แบบองค์รวม เตรียมความพร้อมของบุคลากรในยุค AI และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจอุตสาหกรรมนี้ในระดับนานาชาติ
นายฮันส์ สโตเตอร์ กรรมการผู้จัดการประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ของ Messe Stuttgart ผู้จัดงาน didacta asia กล่าวว่า ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ระบบการศึกษาไม่สามารถยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป ห้องเรียนอัจฉริยะและปัญญาประดิษฐ์ (AI) จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญของการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ และสร้างความเท่าเทียมในการศึกษา เพื่อเตรียมบุคลากรสำหรับอนาคต
การจัดงาน didacta asia 2025 ถือเป็นความร่วมมือระหว่าง Didacta Association Koelnmesse และ Messe Stuttgart ที่มุ่งเป็นเวทีในการนำเสนอเทคโนโลยีทางการศึกษาและสร้างพันธมิตรในอุตสาหกรรมนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และระดับนานาชาติ โดยมีผู้บริหารสถาบันการศึกษา นักศึกษา ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้แสดงสินค้าเทคโนโลยีทางการศึกษาทั่วโลก มาร่วมค้นหาแนวโน้มและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการพัฒนาการศึกษาในประเทศไทยและภูมิภาคนี้ พร้อมจัดแสดงเทคโนโลยีการศึกษาล้ำสมัยในทุกมิติ
โดยมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15–17 ตุลาคม 2568 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งปีนี้ได้ขยายพื้นที่จัดงานให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับผู้จัดแสดงสินค้า และผู้เข้าชมงานกว่า 4,000 ราย ซึ่งไฮไลต์ในงานประกอบด้วย นิทรรศการนานาชาติแสดงนวัตกรรมด้านการศึกษาและโซลูชั่น AI, พื้นที่จัดแสดงของนานาชาติ (International Pavilions), งานประชุม didacta asia congress เวทีสัมมนาระดับโลกสำหรับครู นักวิชาการ นักเรียน และประชาชนทั่ว และกิจกรรมการแข่งขันทักษะด้านเทคโนโลยี
ด้าน นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและจัดงาน didacta asia congress 2025 ภายใต้แนวคิด Gateway to Tomorrow’s Education ซึ่งนับเป็นเวทีสำคัญระดับภูมิภาคในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยีทางการศึกษา และนวัตกรรมด้านการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมฐานความรู้และเศรษฐกิจดิจิทัล
งาน didacta asia 2025 และ didacta asia congress ในครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในการสนับสนุนการศึกษาไทยในยุคดิจิทัล และการปฏิรูปการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม การปรับระบบการศึกษาให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง และตอบโจทย์โลกอนาคต โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงแทบทุกมิติของชีวิต
นอกจากนี้ ยังถือเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เกิดการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นนักการศึกษา ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ และต่อยอดสู่ความร่วมมือที่ยั่งยืนทั้งในประเทศไทยและทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย
ขณะที่ ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การจัดงาน didacta asia และ didacta asia congress 2025 ถือเป็นเวทีสำคัญระดับนานาชาติที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่เข้าสู่ระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นกลไกหลักในการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพของประเทศ งานนี้เป็นโอกาสให้ภาครัฐ ภาคพาณิชย์ ภาคอุตสาหกรรม ได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และต่อยอดนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมยุคใหม่
สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มุ่งผลักดันการปรับเปลี่ยนด้วยเทคโนโลยี AI และนวัตกรรมดิจิทัลอื่นๆ ที่มีบทบาทในการพัฒนาประเทศในอนาคต เพื่อโอกาสในการก้าวข้ามขอบเขตใหม่ๆ และเร่งสร้างศักยภาพกำลังคนให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 21 รวมถึงผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและการศึกษาในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ดาตุ๊ก ดร. ฮาบิบะ อับดุล ราฮิม ผู้อำนวยการสํานักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) กล่าวว่า สำหรับ didacta asia 2025 ในปีนี้ จะเป็นการผนวกรวมความเชี่ยวชาญในระดับภูมิภาคและเครือข่ายของ SEAMEO เข้ากับความมุ่งมั่นมาอย่างยาวนานของ didacta ในการยกระดับนวัตกรรมทางการศึกษาให้เข้าถึงผู้เรียนอย่างทั่วถึง
ความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการบูรณาการทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และแนวทางการเรียนรู้ให้ผู้เรียนต่อยอดได้ในอนาคต เรามุ่งมั่นร่วมกันในการเชื่อมโยงการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษาที่ครอบคลุม ปรับตัวได้ และมีคุณภาพสูงเพื่อเตรียมเยาวชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้พร้อมรับมือกับความท้าทายของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว