วิจัยกรุงศรี ชี้นักท่องเที่ยวจีนวูบ 46.7% ฉุดแรงส่งเศรษฐกิจมีจำกัด
PUM Online May 15, 2025 10:03 AM

วิจัยกรุงศรี มองแรงขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยวอ่อนแอต่อเศรษฐกิจจำกัด เหตุนักท่องเที่ยวจีนเดือน เม.ย.ลดลงสูงถึง 46.7% หลังห่วงความปลอดภัย-ประเทศคู่แข่งเร่งดึงนักท่องเที่ยว ด้านเงินเฟ้อคาดไตรมาส 2/68 อยู่ในแดนลบ จาก Q1/68 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.08% ชี้ผลพ่วงราคาน้ำมันโลกลด-มาตรการลดค่าครองชีพ-ผลผลิตเกษตรเข้าสู่ตลาดสูง หนุนนโยบายการเงินผ่อนคลาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิจัยกรุงศรีระบุว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวมีสัญญาณอ่อนแอลง อาจช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ได้จำกัด ในเดือนเมษายนมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทย 2,547,116 คน ลดลง -7.6% YOY นำโดยนักท่องเที่ยวมาเลเซีย (362,636 คน) จีน (317,213) อินเดีย (206,286) รัสเซีย (155,314) และสหราชอาณาจักร (110,231) สำหรับในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 จำนวนนักท่องเที่ยวชาติทั้งหมด 12,096,120 คน ลดลง 0.3% YOY

แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยอ่อนแอลง โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างจีนที่ลดลงอย่างหนัก ท่ามกลางปัจจัยสำคัญที่กดดันการฟื้นตัว ได้แก่ ความกังวลด้านความปลอดภัย ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากตลาดเอเชีย เช่น จีน ที่มีความอ่อนไหวต่อประเด็นนี้

ล่าสุดในช่วง 4 เดือนแรกของปี จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลง 29.9% YOY สู่ระดับ 1.65 ล้านคน และในช่วงเดือนเมษายนจำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงมากถึง 46.7% YOY

นอกจากนี้ ประเทศคู่แข่งในภูมิภาคโดยเฉพาะเวียดนาม กัมพูชา และญี่ปุ่น ต่างเร่งพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยว และใช้จุดแข็งทั้งด้านราคา ความแปลกใหม่ และค่าเงินที่เอื้อต่อการท่องเที่ยวมาดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีงบประมาณจำกัด ซึ่งเคยเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของไทย ส่งผลให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มหันไปยังจุดหมายปลายทางอื่นแทน

โดยในช่วงไตรมาสแรก ญี่ปุ่นมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมเพิ่มขึ้นถึง 23.1% YOY สู่ระดับ 10.5 ล้านคน (เทียบกับไทยที่ 9.55 ล้านคน) โดยนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 78% (สูงกว่าช่วงก่อนโควิด 9%) สู่ระดับ 2.36 ล้านคน เที่ยบกับที่เดินทางมาไทยเพียง 1.33 ล้านคน (-24.2%) ในช่วงเวลาเดียวกัน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสสองของปีนี้มีแนวโน้มติดลบ หลังจากเดือนเมษายนกลับเข้าสู่แดนลบเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 โดยอยู่ที่ -0.22% YOY เทียบกับ 0.84% ในเดือนก่อน สาเหตุหลักจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับราคาสินค้าอาหารบางชนิดปรับลดลง อาทิ ผักสด และไข่ไก่

ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสด และพลังงาน) เดือนเมษายนอยู่ที่ 0.98% เพิ่มขึ้นจาก 0.86% ในเดือนก่อน สำหรับในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.75% และ 0.91% ตามลำดับ

วิจัยกรุงศรีประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสสองของปีนี้มีแนวโน้มที่อาจกลับมาติดลบ หลังจากที่เงินเฟ้อเฉลี่ยในไตรมาสแรกอยู่ที่ 1.08% YOY ใกล้ขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ทั้งนี้ เป็นผลจาก 1.ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ลดลง สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบโลกในปีนี้ที่มีแนวโน้มต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

2.มาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านราคาพลังงาน อาทิ การปรับลดราคาค่าไฟฟ้าในงวดพฤษภาคม-สิงหาคม และการตรึงราคาก๊าซหุ้งต้ม และ 3.สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากกว่าปีก่อน ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิดเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ช่วยลดแรงกดดันด้านราคาในหมวดอาหารสด

ทั้งนี้ จากภาพรวมของอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ อาจช่วยเปิดทางให้มีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวในจังหวะที่ความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.