ผู้ออกแบบตึกสตง. แจงกมธ. แก้ข้อขัดข้องไม่ได้แก้แบบ ธีรัจชัย บี้ ผู้ว่าสตง.ลาออก เปิดทางสอบสวน
GH News May 15, 2025 10:22 AM

กมธ.ปปช. ถล่มสตง.ต่อ ธีรัจชัย ถามหาสปิริต ผู้ว่าสตง. รับผิดชอบตึกถล่ม จี้ ลาออก อย่ากอดเก้าอี้ไว้เลย เพื่อเปิดทางตรวจสอบอย่างจริงจัง

เมื่อเวลา 15.10 น. วันที่ 14 พฤษภาคม ที่รัฐสภา นายฉลาด ขามช่วง ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)แห่งใหม่ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว ว่า จากการที่เชิญบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบตึก คือ บริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด และ นายพิมล เจริญยิ่ง ผู้รับรองแบบอาคารสตง.ที่มีอายุ 85 ปี และวิศวกรผู้ควบคุมงาน จากที่เป็นข่าวว่านายพิมลไม่รู้เรื่อง แต่วันนี้กลับชี้แจงต่อกมธ.ว่า เป็นผู้ลงนามรับรองแบบ แต่ไม่ได้ออกแบบ ส่วนกรมบัญชีกลางและกรมสรรพากร ชี้แจงกระบวนการการจัดซื้อจัดจ้าง และการเสียภาษี อย่างไรก็ตาม แนวทางการบริหารราชการแผ่นดินในต่างประเทศ หัวหน้าหน่วยงานที่เกิดเหตุต้องรับผิดชอบ ดังนั้น ในประเทศไทยก็ควรจะมีการแสดงความรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง

ด้าน นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานกมธ. กล่าวว่า จากที่ได้เชิญบริษัทผู้ออกแบบ กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร มาให้ข้อเท็จจริง สิ่งที่เห็นชัดคือในกรณีของบริษัทผู้ออกแบบที่มีบริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งการเข้าไปทำสัญญาของทั้ง 2 เมื่อทำสัญญาเสร็จแล้ว ซึ่งการประชุมของกมธ.ครั้งที่แล้ว ได้สอบถามผู้ว่าสตง. ที่บอกว่ามีการแก้แบบทั้งหมด 9 ครั้ง ซึ่งตนได้สอบถามผู้ออกแบบ ก็ยอมรับว่ามีการขอแก้ไป 9 ครั้ง แต่ไม่ได้เป็นการแก้แบบ เป็นการแก้ไขข้อขัดข้องในระหว่างที่มีการก่อสร้าง โดยทางผู้บริหารโครงการได้เสนอว่าควรจะมีการแก้ไข และที่เกี่ยวกับโครงสร้างมีทั้งหมด 2 จุด ซึ่งการแก้ไขแบบจะส่งมาให้ทั้ง 2 บริษัท ซึ่งเป็นสัญญาร่วมทุน ต่างฝ่ายต่างรับผิดชอบ ไม่ใช่ต้องรับผิดชอบเหมือนห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อทำแบบมาก็ให้ความเห็น บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง เขาก็ไม่ขัดข้องและทำตามแบบแก้ไขเชิงโครงสร้างปล่องลิฟท์ที่มีขนาดใหญ่ให้เล็กลง และความสูงต่ำลง เมื่อเป็นอย่างนี้ ในการแก้ไขข้อขัดข้องยืนยันว่า ไม่ใช่การแก้ไขแบบ เป็นการทำให้สะเทือนโครงสร้างหรือไม่ แล้วใครมีอำนาจที่จะอนุมัติตรงนี้

นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า เขายืนยันว่า ไม่ได้แก้ไขแบบ แต่เป็นการแก้ไขข้อขัดข้องและสัญญา แต่การจะแก้ไขสัญญาได้ ต้องมีความเห็นของผู้ออกแบบที่ไม่ขัดข้องแล้ว มีผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ควบคุมงาน มีคณะกรรมการตรวจรับการสร้าง ที่ตั้งโดยผู้ว่าสตง. ดังนั้น ผู้ว่าสตง.จะปฏิเสธรับผิดชอบไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาผู้ว่าสตง.ไม่เคยรับผิดชอบตรงนี้ วันนี้ชัดเจนแล้วว่า การที่จะแก้ไขสัญญาที่มีการแก้ไขรูปแบบการก่อสร้างเดิม ที่ไม่เหมือนกับแบบเดิม ในส่วนนี้ผู้ว่าสตง.ต้องรับผิดชอบ ส่วนการควบคุมงาน ได้สอบถามจากกรมบัญชีกลาง ซึ่งต้องมีผู้ควบคุมงาน กรรมการตรวจรับ ซึ่งตั้งโดยผู้ว่าสตง. และไม่ว่าเรื่องพัสดุอุปกรณ์ที่นำมาก่อสร้าง ซึ่งจากการสอบถามคณะกรรมการผู้ตรวจการจ้างครั้งที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้ไปคุมหน้างานเอง แต่เมื่อคณะกรรมการตรวจการจ้างผู้แต่งตั้งคือผู้ว่าสตง. ไม่ลงไปดูที่หน้างาน ดูแต่เอกสาร

“สิ่งเหล่านี้ผู้ว่าสตง.จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ที่ผ่านมาได้ฟังแต่การบอกว่าผู้ควบคุมงานรับผิดชอบ ผู้จ้างงานรับผิดชอบ ผู้ออกแบบรับผิดชอบ แต่ไม่เคยเห็นความรับผิดชอบของผู้ว่าสตง. แต่ข้อเท็จจริงคือตึกพัง มีคนเสียชีวิต แต่การแสดงความรับผิดชอบต่อชีวิต สตง.ไม่เคยแสดงอย่างความจริงใจในฐานะที่เป็นผู้ว่าสตง. จะบอกว่าเพิ่งมาเป็นปีเศษก็ไม่ใช่ ควรจะแสดงด้วยใจจริง ดังนั้น ผมขอเรียกร้องให้ผู้ว่าสตง.รับผิดชอบมากกว่านี้ ท่านอย่ารักษาเก้าอี้เลย ทางที่ดีอยากให้ผู้ว่าสตง.ออกจากตำแหน่ง แล้วให้รักษาการดำเนินการแทน จะได้ตรวจสอบกันอย่างจริงจัง เพราะหากผู้ว่าสตง.ยังอยู่ในตำแหน่ง ผมเชื่อว่า การตรวจสอบจะไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น ท่านอย่ากอดเก้าอี้ไว้เลย ขอให้แสดงความรับผิดชอบออกมาให้ประชาชนได้เห็น อย่าโยนไปโยนมาแล้วตัวเองลอยตัว ผมคิดว่าไม่สง่างาม ถึงวันนี้แม้ข้อเท็จจริงจะไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซนต์ แต่มีการออกหมายเรียกและมีความผิดพลาดเยอะแยะ ท่านหนีไม่ได้” นายธีรัจชัย กล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.