จากสถานการณ์โรคโควิดในขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลกรมควบคุมโรค ระบุว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 พบผู้ป่วย จำนวน 71,067 ราย เสียชีวิต 19 ราย และมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้น
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าวมีประชาชนติดต่อรับการดูแลจากผู้ให้บริการ tele-medicine หรือบริการทางการแพทย์ทางไกลในเครือข่ายของ สปสช. เป็นจำนวนมากโดยเป็นการหาหมอออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันสุขภาพนั้น ประชาชนส่วนหนึ่งอาจเกิดความเข้าใจผิดในขั้นตอนการรักษาเพราะไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือยาอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติต้านไวรัสแบบเดียวกันนั้น ทาง สปสช. ขอชี้แจงว่า ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือยาอื่น ๆ ทุกรายแต่จะเป็นการดูแลตามอาการ ตามข้อบ่งชี้และไกด์ไลน์ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ทพ.อรรถพร ขยายความว่า ในช่วงที่โควิดระบาดนั้น ประชาชนอาจเข้าใจว่าผู้ติดเชื้อโควิดทุกรายต้องได้รับยาดังกล่าว อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์ผ่านไปและองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มีมากขึ้น ทางกรมการแพทย์ได้ปรับปรุงแนวทางการดูแลผู้ป่วยให้สอดคล้องกับองค์ความรู้ใหม่ ๆ และมีการประกาศแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย การดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงวันที่ 18 เม.ย. 2566 ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับสาระสำคัญในการรักษาโควิดนั้นกำหนดไว้ ดังนี้
1. ในกรณี "ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี" ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก และไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง
2. กรณี "ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ" ให้ดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก และดูแลตามอาการ ตามดุลยพินิจของแพทย์
3.ในกรณี "ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือ ผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง" ยังไม่ต้องให้ oxygen
กล่าวโดยสรุปคือ กรณีที่ผู้ป่วยไม่แสดงอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง จะไม่มีการจ่ายยาต้านไวรัสเพราะส่วนมากหายได้เองและผู้ให้บริการการแพทย์ทางไกลใช้แนวทางนี้ในการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ช่วงท้ายของการระบาดรอบที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ประชาชนบางส่วนอาจยังไม่เข้าใจและคิดว่า ต้องได้ยาทุกคน ดังนั้น จึงขอชี้แจงทำความเข้าใจอีกครั้ง และขอให้มั่นใจว่า แม้ไม่ได้ยาต้านไวรัสแต่ทุกอย่างอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และมีความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยแน่นอน
ส่วนผู้ที่อาการรุนแรง หากแพทย์พิจารณาแล้วว่า การดูแลผ่าน tele-medicine ไม่เพียงพอก็จะแนะนำให้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลหรือนอนรักษาตัวแบบผู้ป่วยใน ซึ่งกรณีนี้ก็จะได้รับยาต้านไวรัสอยู่แล้ว ทพ.อรรถพร กล่าว