ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ สะท้อน รพ.รัฐขาดทุนหนัก ต้นทุนการรักษา ไม่สัมพันธ์รายรับ แนะรัฐบาลเพิ่มงบ จาก 4% เป็น 10% ให้ประชาชนที่มีกำลังใช้สิทธิบัตรทองร่วมจ่าย
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่15 พ.ค. 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สังคมออนไลน์ ใน จ.ขอนแก่น เผยแพร่ภาพข้อความจากเพจ สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ซึ่งโพสต์ข้อความระบุว่า “ติดลบ1.2พันล้าน รพ.ขอนแก่นวิกฤติ ขาดยา-งบ เพราะคำสั่ง ให้มันพังที่เดียว วอนปลัดสธ.เร่งช่วยเหลือ อย่าซ้ำเติมหักOTบุคคลากร ”
โดยโพสต์ดังกล่าวมีประชาชน มาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก บางส่วนเรียกร้องให้มีการจัดสรรงบประมาณให้กับโรงพยาบาลให้มากขึ้น บางส่วนโจมตีนโยบายประชานิยมทำให้โรงพยาบาลขาดทุน
ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การที่โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งประสบปัญหาสภาพคล่อง ไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของผู้บริหาร แต่เกิดจากงบประมาณที่จัดสรรไม่เพียงพอของรัฐบาล ซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนให้กับโรงพยาบาลของรัฐ จ่ายตามค่าน้ำหนักสัมพัทธ์หรือ RW
ยกตัวอย่างเช่น คนที่เป็นโรคเดียวกัน เช่นโรคไส้ติ่งอักเสบ มีความรุนแรงของโรค เท่ากับ 1RW หากเป็นผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทอง สปสช.จะจ่ายให้หน่วยงานของรัฐ 1rw เท่ากับ 8,350 บาทถ้าเป็นผู้ป่วยสิทธิ์ประกันสังคม จ่าย 12,000 บาท สิทธิข้าราชการ กรมบัญชีกลางจะจ่าย 13,500 บาท ทำให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่เกิดจากผู้ป่วยโรคเดียวกันจะได้เงินไม่เท่ากัน
“โรงพยาบาลใดดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเยอะ มีโอกาสที่จะขาดทุนสูงกว่า ขณะที่ต้นทุนการรักษาคนไข้ จากการศึกษาพบว่า 1 rw ของโรงพยาบาลชุมชนอยู่ที่ 13,000 บาท แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย อย่างโรงพยาบาลศรีนครินทร์ 1RW เท่ากับ 22,000 บาท จะเห็นว่าต้นทุนค่ารักษา กับรายรับไม่สัมพันธ์กัน ทำให้หลายโรงพยาบาลของรัฐขาดทุน
ส่วนกรณีผู้ป่วยนอก ถ้าเป็นสิทธิ์บัตรทองสปสช.จะจ่ายให้ตามครั้งที่มารักษา เช่น รพ. ก.จ่าย500 ต่อครั้ง รพ.ข.800บาทต่อครั้ง แต่ถ้าค่ารักษาเกิน สปสช.ไม่จ่าย โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนการรักษา แต่ถ้าเป็นสิทธิ์ข้าราชการกรมบัญชีกลาง จะจ่ายให้ ตามจำนวนจริงของค่ารักษาพยาบาล เช่นถ้ารักษา 10,000 บาท ก็จ่ายให้โรงพยาบาล 10,000 บาท”
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่าคนไข้ในโรงพยาบาลมีเยอะขึ้น เพิ่มขึ้นมาประมาณ 10-15% เพื่อลดการแออัดโรงพยาบาลจึงก็ต้องจ้างบุคลากรเพิ่ม ทำให้ต้นทุนของโรงพยาบาลสูงขึ้นอีก ขณะที่ สปสช. ประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ยังจ่ายค่ารักษาพยาบาล ตามหลักเกณฑ์เดิม ทำให้เห็นว่าแพทย์พยาบาลลาออก เนื่องจากภาระงานที่หนักขึ้น
” ตอนนี้ขาดแคลนทั้งทรัพยากรบุคคล ขาดแคลนทั้งงบประมาณ สำหรับการแก้ไขปัญหานี้รัฐต้องเพิ่มงบประมาณขึ้นมา ปัจจุบันรัฐบาลให้งบประมาณด้านสุขภาพ เพียง 4% จากงบประมาณทั้งหมดของประเทศ ถ้าจะแก้ปัญหาก็จะต้องเพิ่มงบขึ้น 2 เท่าครึ่ง คือ 10% จึงจะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น”
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหา คือ ประชาชนที่มีความพร้อมต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล อาจจะเป็นเจ้าของร้านทอง ห้างร้าน ธุรกิจ ซึ่งมีกำลังทรัพย์ที่จะจ่าย แต่ใช้สิทธิ์บัตรทอง เพราะได้เป็นข้าราชการ หรือพนักงานบริษัท ก็ควรจะร่วมจ่ายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
แต่สปสช.มีเงื่อนไขว่าห้ามคนใช้สิทธิบัตรทองจ่าย ถ้าปลดล็อกตรงนี้ให้คนมีกำลังทรัพย์ร่วมจ่ายถือว่าเป็นเรื่องดี ส่วนคนที่ใช้สิทธบัตรทองอยู่แล้ว ถ้าไม่มีก็ไม่ควรจะจ่าย เพราะการเข้าถึงสิทธิ์พยาบาล เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน