ชาวบ้านลุ่มน้ำกก ผวาฤดูฝน หวั่นซ้ำรอยอุทกภัย-โคลนถล่มปีที่แล้ว
ข่าวสด May 15, 2025 07:01 PM

ชาวบ้านลุ่มน้ำกก ผวาฤดูฝน หวั่นซ้ำรอยอุทกภัย-โคลนถล่มปีที่แล้ว เผยรัฐบาลไม่เคยซ้อมรับมือ- นักวิชาการระบุ สทนช.มีแผนแต่ไม่เคยใช้-จี้นำสู่การปฎิบัติ

วันที่ 15 พ.ค.2568 วันแรกที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่าเข้าสู่ฤดูฝน แต่แผนในการรับมือภัยพิบัติที่รัฐบาลรับปากไว้กับชาวเชียงรายตั้งแต่เกิดน้ำท่วมใหญ่และโคลนถล่มเมื่อเดือนกันยายน 2567 ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ประกอบกับบริเวณต้นแม่น้ำกกและต้นแม่น้ำสาย ในเขตรัฐฉาน มีการเปิดหน้าดินขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเพื่อทำเหมืองทอง ทำให้ชาวบ้านต่างรู้สึกกังวลใจว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมเมื่อปีที่แล้วและจะรุนแรงกว่าเดิมเนื่องจากสารโลหะหนัก

นายประเสริฐ กายทวน ชาวบ้านร่มไทย ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนแรกที่แม่น้ำกกไหลผ่านเข้ามาพรมแดนไทย กล่าวว่า ชุมชนยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆจากหน่วยงานรัฐในการรับมือน้ำท่วม และไม่เคยมีการซักซ้อมใดๆจากหน่วยงานรัฐ

อย่างไรก็ตามชาวบ้านร่มไทยได้หารือกันในการรับมือกับน้ำท่วมโดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) ในการติดตั้งเสาวัดระดับน้ำและเตรียมอบรมการแจ้งเตือนร่วมกับชุมชนต่างๆอีก 6 ชุมชนในลุ่มแม่น้ำกก

นายประเสริฐกล่าวว่า ชาวบ้านร่มไทยและชาวบ้านแก่งทรายมูล ได้วางแผนในการอพยพไปอยู่บนพื้นที่สูง หากเกิดสถานการณ์น้ำท่วม โดยได้ประสานกับชาวบ้านเปียงคำซึ่งเป็นหมู่บ้านคู่ขนานในฝั่งพม่าให้ช่วยแจ้งเตือน แต่ยังไม่ค่อยมั่นใจในเรื่องสัญญาณโทรศัพท์ที่ใช้ว่าเมื่อเกิดสถานการณ์จะใช้ได้หรือไม่ ขณะเดียวกันชุมนได้เตรียมติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อคอยดูสถานการณ์น้ำกกโดยใช้ระบบโซลาเซลล์

“ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการมีแต่คุยเรื่องคุณภาพน้ำและสารโลหะหนัก แต่ยังไม่พูดถึงเรื่องแผนรับมือน้ำท่วม เราไม่รู้ว่าหมู่บ้านอื่นที่ติดลำน้ำเขาทำอย่างไร แต่เราเริ่มที่หมู่บ้านของเราก่อน ชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำต่างก็เป็นกังวล บางบ้านโคลนที่ท่วมบ้านปีทีแล้วยังไม่ได้ทาสีทับเลย นี่จะต้องมาเจออีกแล้วหรือ ยิ่งปีนี้เรารู้ว่าในน้ำมีสารโลหะหนักปนอยู่ด้วย ทำให้รู้สึกหวาดระแวงมากขึ้น กลัวมากขึ้น ทุกวันนี้แทบไม่มีใครเล่นน้ำกกเลย” นายประเสริฐ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องที่มีการผลักดันให้มีการสร้างฝายดักตะกอนกั้นแม่น้ำกกช่วงที่ไหลเข้าประเทศไทย นายประเสริฐกล่าวว่า ชาวบ้านได้คุยกันเรื่องนี้และตั้งคำถามว่าจะสร้างตรงไหนและขนาดเท่าไร และสารหนูที่ว่าจะตกตะกอนนั้น ตกจริงหรือไม่หรือยังไหลไปกับน้ำ

ยิ่งถ้าน้ำเยอะๆ น้ำล้นฝาย ตะกอนเหล่านี้ยังอยู่หรือไม่ ตรงนี้ยังไม่มีใครตอบชาวบ้าน ที่สำคัญคือตะกอนที่มีสารหนูเข้มข้นจะจัดการอย่างไร หากกั้นแม่น้ำกกแล้ว น้ำจะเท้อไปถึงไหน และหมู่บ้านที่อยู่เหนือฝายจะได้รับผลกระทบหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ควรศึกษาให้ดีและตอบคำถามของชาวบ้านด้วย

“คุณควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่า ไม่ใช่มาแก้ปัญหาแบบตั้งรับในพื้นที่ของเรา เรารู้ว่าสารหนูเกิดจากน้ำมือคน จึงต้องแก้ไขที่คนทำ หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง ควรเข้าไปเจรจา ทุกวันนี้ชาวบ้านเครียดมาก โดยเฉพาะเกษตรกร ที่ขายพืชผักไม่ได้ ชาวบ้านทำอะไรก็ติดขัดไปหมด” นายประเสริฐ กล่าว

ขณะที่ น.ส.จุฑามาศ ราชประสิทธิ์ เจ้าหน้าที่อาวุโสมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) กล่าวว่า วันเดียวกันนี้ เครือข่ายข้อมูลอุทกภัยแม่น้ำกก ร่วมกับสำนักทรัพยากรน้ำที่ 1และอุทกวิทยาที่ 2 จ.เชียงราย ได้ร่วมกันติดตั้งเสาวัดระดับน้ำในฤดูฝนที่หมู่บ้านจะคือ ต.ห้วยชมภู อ.เมือง จ.เชียงราย

น.ส.จุฑามาศกล่าวว่า ได้ดำเนินการด้านการเตือนภัยน้ำกกหลากท่วม ใน 7 หมู่บ้านที่อยู่ริมแม่น้ำกกตั้งแต่บ้านร่มไทย ต. ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ จนถึงบ้านโป่งนาคำ ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย

จากการสอบถามชาวบ้านต่างรู้สึกกังวลเพราะกลัวว่าจะเกิดน้ำท่วมและโคลนถล่มเหมือนเมื่อปี 2567 และจนถึงขณะนี้ตามหมู่บ้านต่างๆยังไม่รู้เรื่องระบบการแจ้งเตือนภัยของภาครัฐเลย

“ปีที่แล้วหมู่บ้านจะคือ เสียหายหนักมาก น้ำท่วมบ้านและทรัพย์สินของชาวบ้านมากมาย ตู้เย็น ตู้เสื้อผ้า ที่นอน ไร่ข้าวโพด นาข้าว น้ำท่วมตายหมด ชาวบ้านไม่ได้ขายพืชผลสักบาท” น.ส.จุฑามาศ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.เสถียร ฉันทะ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเหนือกล่าวว่า จริงๆแล้วมีแผนรับมือภัยพิบัติและมาตรการของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่เขียนไว้ดีระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เคยนำมาใช้ในทางปฏิบัติ

ที่สำคัญคือไม่ได้มีการซ้อมแผนนั้นเลย ซึ่งในพื้นที่ คณะกรรมการระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) และป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งส่วนราชการต้องซักซ้อมแผนทำความเข้าใจ

ผศ.เสถียร กล่าวว่าเป็นแผนรับมือภัยพิบัตินี้ สทนช.ภาค1 ได้ปรับปรุงจากแผนเดิม ซึ่งมีแผนแล้วแต่ยังไม่ได้ซ้อม หากเกิดปัญหาหน่วยงานต่างๆ จะไม่ทราบว่าใครทำก่อนทำหลัง

“ทั้งหมดนี้ยังไม่นำไปสู่การตื่นรู้ของประชาชนในการรับมือภัยพิบัติ ผมพูดหลายรอบในที่ประชุมว่าจำเป็นต้องมี แต่คำตอบคือไม่มีงบประมาณ และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานท้องถิ่น แผนแม่บทแม่น้ำโขงใช้งบประมาณมหาศาลแต่ไม่มีการของบมาสร้างความเข้าใจ ส่วนใหญ่เป็นงบโครงสร้าง”ผศ.เสถียร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าวันนี้ 15 พ.ค. เข้าฤดูฝนแล้วอย่างเป็นทางการ ประชาชนต่างมีความกังวล มีคำแนะนำใดไปถึงภาครัฐ ดร.เสถียรกล่าวว่า รัฐต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้าน อปท.โดยต้องสร้างการรับรู้ให้ชาวบ้าน เมื่อเกิดเหตุสามารถจัดการร่วมกับภาครัฐเพื่อจัดการปัญหาในขณะเผชิญเหตุ

“หน่วยงานรัฐต้องลงไปทำกิจกรรมจัดเวทีสร้างการรับรู้ เตรียมความพร้อมกับชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำสาย แม่น้ำกก หรือที่ เวียงแก่น เทิง จะต้องเตรียมพร้อมด้วยการอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐและชุมชน

หากไม่สร้างความเข้าใจจะเจอปัญหาซ้ำซากอย่างที่ผ่านมา ปีนี้ก็ต้องเจออีก ปัญหาตอนนี้คือทำอย่างไรให้ลดความรุนแรงได้ ขณะนี้ที่แม่น้ำสายมีการขุดลอก คงช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่น้ำมาปีหน้าก็ต้องทำอีก” นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าปีนี้แม่น้ำกกและแม่น้ำสายมีปัญหาการปนเปื้อนสารโลหะหนักจากการทำเหมืองแร่ในรัฐฉาน ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงหรือไม่ ดร.เสถียรกล่าวว่า ใช่ แต่ตอนนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้ปัญหา ไม่รู้ว่าสารหนูมีพิษอย่างไร

หากรู้ว่าสารโลหะหนักนี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงในระยะยาว ถ้าชาวบ้านรู้ก็ต้องระวังตัว สารหนูไม่ได้เกิดพิษเฉียบพลันเพราะเจือจางอยู่ในน้ำ แต่อีกสิบปีข้างหน้าจะเกิดภาวะต่อสุขภาพของประชาชนในลุ่มน้ำ เหมือนปัญหาที่ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช

“หากไม่จัดการที่ต้นเหตุ โลหะหนักที่ปนเปื้อนมากับน้ำจะพัดพาไปกับกระแสน้ำ ไปตกตะกอน ตรงไหนที่มีตะกอนเยอะ สารโลหะหนักก็รวมตัวตรงนั้น คนไม่รู้เอาโคลนไปทำมาหากิน ทำเกษตรก็เกิดผลกระทบ และปัญหาการปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร” ผศ.เสถียร กล่าว

ขณะที่เพจ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย รายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเขตแดนไทย-เมียนมา และการขุดลอกแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ณ อาคารศูนย์บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) อำเภอแม่สาย โดยมี พล.ท.สิรภพ ศุภวานิช เจ้ากรมการทหารช่าง นายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอแม่สาย และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมฯ

ทั้งนี้ในที่ประชุม พล.ท.สิรภพ ศุภวานิช เจ้ากรมการทหารช่าง รายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อป้องกันและผลกระทบจากภัยพิบัติพื้นที่อำเภอแม่สาย โดยมีกิจกรรมสำคัญ 2 รายการ ได้แก่

1.งานขุดลอกแม่น้ำรวกโดยฝ่ายไทยความยาวรวม 32 กิโลเมตร

2.งานสร้างแนวป้องกันชั่วคราว-กึ่งถาวร ในเขตเมืองแม่สาย ครอบคลุมระยะทาง 3,600 เมตร

ซึ่งทั้งสองกิจกรรมเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 โดยงานขุดลอกแม่น้ำรวกอยู่ที่ 15% และงานช่างแนวป้องกันอยู่ที่ 34% โดยผู้บัญชาการทหารบกให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2568 ก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง

นางสาวจันทร์สม เป็นตาธรรม ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดเชียงราย รายงานว่ามีผู้ที่ทำสัญญาเช่าที่ราชพัสดุที่อยู่ในเขตการจัดทำแนวกำแพงป้องกันน้ำบริเวณริมน้ำสาย 15 ราย ขณะนี้ได้มีหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญาเช่าที่ หากเกินเวลาที่กำหนดแล้วจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้แจ้งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจและขอความร่วมมือกับประชาชนที่ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ทำกำแพงแนวป้องกันน้ำบริเวณริมน้ำสายให้เคลื่อนย้ายออกเพื่ออำนวยความสะดวกให้กรมทหารช่างได้ดำเนินการตามโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติพื้นที่อำเภอแม่สายแล้วเสร็จตามที่กำหนด เพื่อที่พี่น้องประชาชนชาวอำเภอแม่สายจะได้ปลอดภัยจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่อำเภอแม่สาย

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.