ผู้ว่า สตง. เซ็นให้ผู้รับเหมารับผิดชอบค่าใช้จ่าย พร้อมทวงเงินบริษัทประกัน 900ล.
ข่าวสด May 15, 2025 07:01 PM

กมธ.ติดตามงบ​ เรียก ผู้ว่า​สตง.-อธิบดีโยธา แจ้งคืบหน้าสอบ​ ตึก​ สตง.ถล่ม​ “มณเฑียร” เตรียมให้ตำรวจอายัดที่ดินเป็นของกลาง เซ็นให้​ผู้รับเหมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด​ ประกาศทวงเงินเยียวยาจากบริษัทประกัน​ 900 ล้าน​ ควรคืนให้รัฐ​ วิศวกรรมสถาน​ ชี้​จุดวินาศคือชั้น 3​ แต่สงสัยชั้น​ 19 ปรับแบบหรือไม่​ เชื่อ​เหล็กไม่ใช่สาเหตุหลักถล่ม

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2568 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ​ ที่มีนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ​ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานกมธ. ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงการใช้งบประมาณก่อสร้าง​ ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (​ สตง.) แห่งใหม่ ที่ถล่ม​จากเหตุแผ่นดินไหว​ ซึ่งนายมณเฑียร เจริญผล​ ผู้ว่า​สตง. นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง​ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง​ เข้ามาชี้แจงด้วย

มธ.ได้สอบถามถึงขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณก่อสร้างและความคืบหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครงการ ซึ่ง​ผู้ว่า​ สตง. ชี้แจงว่า​ สตง.ได้ส่งเอกสารสำคัญไปให้​ คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่รัฐบาลตั้งขึ้น​และดีเอสไอแล้ว​ พร้อมมอบเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ​แล้วด้วย​ พร้อมประสานบริษัทประกันทั้ง 4 บริษัท​ มาพูดคุย เพราะผู้รับจ้างได้ทำประกันความเสียหายไว้

หากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง​ พิสูจน์สาเหตุของความเสียหายได้แล้ว บริษัทประกันควรเป็นผู้จ่ายเงินให้กับผู้เสียหาย​ เพราะรัฐจ่ายเงินในส่วนนี้ไปกว่า 900 ล้านบาท​ และเรายืนยันว่า​ “เราเป็นผู้เสียหาย จึงควรคืนเงินจำนวนนี้มา​ เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่รัฐได้จ่ายไปทั้งหมด​”

ส่วนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ผู้ว่าสตง. ชี้แจง​ ว่า ได้ประสานไปยังผู้รับจ้าง ให้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดระหว่างการรื้อถอน​

ส่วนข้อกฎหมายที่จะต้องดำเนินการหลังจากนี้ ไม่ว่า​ข้อกฎหมายตามสัญญา หรือข้อกฎหมายอื่นๆ เราจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง​ ซึ่งส่งหนังสือไปถามสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว​ ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป​ ตอนนี้รอตอบกลับมา​

สำหรับการส่งมอบพื้นที่นั้น ผู้ว่า สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งตำรวจ ให้อายัดพื้นที่ไว้ก่อน จนกว่าคดีจะแล้วเสร็จ ซึ่งตำรวจจะเข้ามาอายัดพื้นที่ หลังจาก​ กทม. ส่งมอบพื้นที่อย่างเป็นทางการแล้ว และตนได้เซ็นหนังสือไปยังผู้รับจ้าง ให้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ทั้งหมดด้วย​

ผู้ว่า สตง. ยังยืนยัน​ไม่มีการพูดคุยเรื่องการสร้างตึกใหม่​ เพราะต้องให้ความสำคัญกับการเยียวยาผู้เสียชีวิต และการสอบสวนหาสาเหตุของตึกถล่ม​ก่อน​

จากนั้น​ นายสุรเชษฐ์ ได้สอบถามความคืบหน้า​ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง​ ว่า​ ภายใน 90 วัน​ จะตอบอะไรได้บ้าง​ โดยนายพงษ์นรา กล่าวว่า​ จะได้คำตอบ​ ตึก​สตง.ที่ถล่มเกิดความผิดพลาดตรงไหน​ โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ 6 สถาบันรวมถึงกรมโยธาธิการและผังเมืองรวมเป็น​ 7 หน่วยงานทำแบบโมเดลอาคารถล่ม​ หลังจากได้แบบแต่ละสถาบันมาแล้วจะนำมาวิเคราะห์ แบบจำลองทางภูมิศาสตร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 90 วัน

ขนาดของแรงแผ่นดินไหว​ ที่จะนำไปใช้กับ แบบจำลองคณิตศาสตร์ จะใช้ขนาดของแรงสั่นสะเทือนที่ตึกกรมโยธาธิการและผังเมืองบนถนนพระราม​ 6​ เป็นค่าตั้ง มาเป็นข้อมูลในการสร้างแบบโมเดล ซึ่งคาดการณ์ว่าจะได้คำตอบว่าสาเหตุการพังถล่มเกิดจากการออกแบบที่ไม่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่​

อธิบดีกรมโยธากล่าวถึงการเก็บตัวอย่างวัสดุการก่อสร้างจากตึก​ สตง.ที่พังถล่ม โดยการเก็บ เหล็กเส้น ซึ่งตามหลักแล้วไม่สามารถเก็บจากเหล็กที่โผล่มาจากปูนได้ เนื่องจากไปแปรสภาพไปแล้ว ซึ่งจะต้องเก็บเหล็กที่อยู่ในโครงสร้างและต้องกระเทาะเนื้อ คอนกรีตออกมา ขณะนี้ได้เก็บตัวอย่างออกมาได้แล้ว โดยการเก็บตัวอย่างมีการกำหนดโซน โดยแบ่งออกเป็นทั้งหมด4โซน

โดยแต่ละครั้งที่เข้าไปเก็บตัวอย่างนั้นได้เดินเข้าไปพร้อมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ​ หรือ​ ดีเอสไอพร้อมตำรวจพิสูจน์หลักฐานและเจ้าหน้าที่​ สตง. โดยกรมโยธาธิการ​ ทำหน้าที่กำหนดโซน และการเข้าไปเก็บ ก็พบอุปสรรคว่าตัวอาคาร นั้นถล่ม 100% ทำให้ยากต่อการพิสูจน์ว่าสิ่งก่อสร้างนั้นเป็นการก่อสร้างอะไร

ตัวอย่างที่เก็บมาได้นั้นแบ่งเป็น เหล็กประมาณ 300-400​ ชิ้นและคอนกรีตประมาณ 300 ตัวอย่าง ส่วนการเก็บตัวอย่างคอลิฟท์ ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสาเหตุของการพังถล่ม แต่จากการลงพื้นที่ พบว่า​ ฐานคอลิฟท์ พังทลายไปหมด เหลือแค่พื้นฐานล่าง ที่เชื่อมกัน​ แต่ตัวคอกำแพงพังทลายไปหมดแล้ว

ส่วนปัญหาการออกแบบ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง​ ระบุว่า​ การออกแบบนั้นไม่สอดคล้องกับกฎหมาย​ แต่ตามหลักการก่อสร้างนั้น​ จะมีเซฟตี้แฟคเตอร์ ซึ่งเป็นหลักการคำนวณเพื่อป้องกันการพังถล่ม ดังนั้น​ การออกแบบที่ไม่เป็นไปตามกฏหมาย อาจจะไม่ใช่สาเหตุของการพังถล่ม​ ซึ่งต้องไปรอดูผลของการจำลอง แบบคณิตศาสตร์ เพื่อดูว่าการออกแบบนั้นเป็นสาเหตุหรือไม่ แต่เบื้องต้นถือว่า​ เป็นการทำผิดกฎหมาย แต่จะพังหรือไม่พังขอให้ดูผลการจำลองเสียก่อน

อธิบดีกรมโยธาธิการฯ​ กล่าวว่า​ การจำลองโมเดล จะอ้างอิงข้อมูลจากแบบเป็นหลัก เพื่อนำมาคำนวณความแข็งแรงของตึก เพราะตัวอย่างวัสดุอุปกรณ์ที่เก็บมาจากหน้างาน ไม่ถือว่าเป็นตัวอย่าง​ที่ดี​ ในการหาความแข็งแรงของตึก​ แต่สามารถใช้เป็นส่วนประกอบในการหาคำตอบว่าการก่อสร้างเป็นไปตามแบบหรือไม่ได้​

ด้านนายทศพร ศรีเอี่ยม ผู้อำนวยการสถาบันแบบจำลองสารสนเทศอาคาร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากกรณีมีการนำเสนอวิดีโอ ขณะที่ตึก สตง.ถล่ม ผนังที่แตกไม่ใช่ชั้นล่างสุด แต่เป็นชั้น 3 ซึ่งแตกก่อนเสาด้านหน้า ซึ่งไม่เหมือนกับกรณีตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ถล่ม ที่ชั้นบนร่วงลงมาใส่ชั้นล่าง

แต่สตง. จะเห็นว่ามีการพังทลายของชั้นบน ซึ่งในแบบจะเห็นว่ามีอะไรอยู่ชั้นที่ 19 แต่ตรงนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเพราะแบบผิด แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่แน่ว่ามาจากแบบแรก หรือมีใครสั่งให้เปลี่ยนแปลง เพราะผู้รับผิดชอบจะไม่เหมือนกัน

นายทศพร กล่าวว่า ตึก สตง. ไม่ใช่วิศวกรรมที่ดีหลายจุด เพราะเหล็กเยอะ และคอนกรีตที่หุ้มเหล็ก ผลจากการถล่มทำให้ยากต่อการนำไปตรวจสอบ แต่คิดว่า​ ไม่ใช่สาเหตุหลัก สิ่งที่กังวลที่สุดในตอนนี้คือ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหล็กข้ออ้อยกับเหล็กตัวที ที่มีการใช้งานตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งมีการวางมาตรฐานการผลิตเหล็กในประเทศที่ละเอียดมาก เหล็กที่ผลิตออกมาจะต้องผ่านวุฒิวิศวกรเข้าไปตรวจสอบด้วย

จึงต้องย้อนกลับไปย้ำว่า​ การออกแบบตึก สตง.ไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวง โดยเฉพาะชั้น 19 แต่บอกไม่ได้ว่า​ การออกแบบเป็นอย่างนั้​นมาตั้งแต่ต้นหรือไม่ เพราะเมื่อขอดูข้อมูลจากตำรวจและดีเอสไอ บอกว่า​ เป็นหลักฐานไม่สามารถเปิดเผยได้

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.