นายวรา จันทร์มณี นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความระบุถึง กรณี ส.ส.กฤษฎิ์ ถึงพรรคประชาชน
เมื่อฝุ่นหายตลบ ผมขอพูดอะไรขัดใจด้อมส้มหน่อยนะครับ ในปัจจุบัน เรามี ‘ด้อม’ เป็นแฟนคลับ เป็นผู้ปกป้องพรรคการเมือง โดยด้อมย่อมาจากคำว่า แฟนด้อม (Fandom) เป็นการผสมคำระหว่าง Fanclub (แฟนคลับ) และ Kingdom (อาณาจักร) จนมาเป็น Fandom ที่มีความหมายว่า กลุ่มแฟนคลับของศิลปิน
ในการใช้ศัพท์แสลงดังกล่าว ผมมีความรู้สึกตะหงิดๆ มานานแล้ว กล่าวคือ ด้อมในความหมายของแฟนคลับของศิลปิน มีความหมายไปในทางชื่นชม ชื่นชอบ สนับสนุน คลั่งไคล้ ไม่น่าจะมึความหมายหรือมีนัยยะสำคัญไปถึงหรือเท่ากับอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ก็ยอมรับว่าคำนี้ติดกระแส และจำนวนมากยอมรับว่าตนเองเป็นด้อมพรรคการเมือง
แต่ความอันตรายของด้อมคือ ศรัทธา คลั่งไคล้ จนลืมตรวจสอบ ตั้งคำถาม และไม่ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นหนทางไปสู่ความเสื่อม คนจำนวนมากไม่อยากวิจารณ์พรรคประชาชน เพราะกลัวถูกด้อมส้มด่า! (55) แต่ในความเป็นจริง เหตุผลของการไม่วิจารณ์พรรคประชาชนน่าจะมีมากกว่านั้น อาทิ
1. ไม่อยากวิจารณ์เพราะกลัวพรรคที่ตนเองรักหรือเชียร์ เสียความศรัทธา เสียความน่าเชื่อถือ
2. มองว่าพรรคประชาชนคือความหวังเดียวในการเปลี่ยนแปลงสังคม และคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่พรรคการเมืองซึ่งเป็นองค์กรใหญ่จะมีข้อบกพร่อง เลยให้โอกาส และละที่จะวิพากษ์วิจารณ์3. ในกลุ่ม NGOs หรือกลุ่มกิจกรรมทางสังคม ยังต้องพึ่งพาอาศัย อารีอารอบ กับพรรคประชาชน จึงเกรงใจ หรือเก็บการวิจารณ์ไว้ในกลุ่มเล็กๆ เป็นการสนทนาภายใน เมื่อเก็บไว้ภายใน ก็ไม่ออกสู่สาธารณะ ในที่สุดก็เงียบ
4. อยู่ในสถานภาพ/สถาบัน ที่มิอาจวิจารณ์ได้
5. อื่นๆ
ไม่ว่าจะเหตุผลไหน ในเมื่อพรรคการเมืองอาสามาทำงานแทนประชาชน แต่หากประชาชนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ หรือละการวิพากษ์วิจารณ์ ก็เท่ากับว่าเรากำลังให้ท้ายพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองอย่างพรรคประชาชนมีอภิสิทธิ์ไม่ต่างไปจากพรรคเพื่อไทย คือมีแค่คนไม่กี่คนบัญชาการ หรือหากไม่เหมือนพรรคเพื่อไทย ด้อมส้มก็กำลังทำให้พรรคประชาชนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ เมื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ ก็เป็นอันตรายทั้งกระบวนการพัฒนาในพรรคเอง และการพัฒนาทางการเมือง
ในกรณีที่ ส.ส.กฤษฎิ์ ย้ายพรรค แน่นอนสมควรประณาม และควรโดนลงโทษทางสังคม อีกทั้งจะเป็นมาตรฐานต่อไปว่านักการเมืองไม่ควรทรยศต่อประชาชน เมื่อจะกล่าวถึงที่มาในส่วนของการได้รับเลือกเป็น ส.ส. กฤษฎิ์เองยอมรับว่าเหตุที่ชนะเลือกตั้งเพราะความนิยมในตัวพรรคเป็นหลัก คนศรัทธาพรรค จึงเลือกเขา ซึ่งน่าดีใจที่พรรคประชาชนทำตรงนี้ได้ดี
แต่อยากชวนคิดต่อ ประเด็นที่พึงระวัง คือ ในการที่ประชาชนศรัทธา ก็ไม่ได้หมายความว่า นักการเมืองอย่างกฤษฎิ์ หรือพรรคการเมืองอย่างพรรคประชาชนจะทำอะไรก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน นึกถึงที่คำผกาบอกว่า เรามีประชาธิปไตยแบบตัวแทน เมื่อเลือกพรรคการเมืองมาแล้ว พรรคการเมืองย่อมมีอำนาจในการตัดสินใจ โดยคำผกาพูดในทำนองการตัดสินใจที่เป็นเผด็จการ ชนิดที่ไม่ต้องฟังเสียงประชาชนอีกต่อไป
สิ่งหนึ่งที่ไม่ทราบว่าคนในพรรคประชาชนทราบหรือไม่ก็คือ มีคนจำนวนมากอึดอัดที่ต้องเป็นเหมือนเป็นของตาย พูดก็ไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ แต่ก็จำเป็นต้องเลือกพรรคประชาชน เลือกเพราะไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า สิ่งนี้เลยอาจทำให้ ‘บางคน’ ในพรรคประชาชนมั่นใจ ย่ามใจ ว่าตนเองคือผู้ถูกต้อง จนทำอะไรอย่างมั่นใจ Self โดยหลงลืมกาละเทศะ/สัมมาคารวะ ไม่ให้เกียรติ ไม่ให้ค่า คนอื่น เพียงเพราะตัวเองสวมหมวกพรรคประชาชน
ที่พูดว่า ‘กาละเทศะ/สัมมาคารวะ’ อาจฟังดูแย้งกับหลักการ ‘คนเท่ากัน’ แต่คำว่า ‘คนเท่ากัน’ ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้เกียรติ ไม่เห็นหัว หลงตัวเอง บ้าอัตตา จนลืมว่าอุดมการณ์ที่ถูกต้องคืออุดมการณ์ที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่อุดมการณ์ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตัวกู ของกู พรรคพวกกู
เมื่อพูดเรื่องหลักการ ‘คนเท่ากัน’ มีคนเล่าว่า
แม้ปากบอกว่า อุดมการณ์ของพรรคคือคนเท่ากัน แต่การปฏิบัติตัวของว่าที่ ส.ส. ส.ส. หรือผู้ปฏิบัติงานพรรคบางคน ไม่ได้มองเห็นชาวบ้านหรือประชาชนเป็นคนเท่ากันกับตน แต่กลับมองเป็นราษฎร พสกนิกร ผู้ไม่รู้เท่า ผู้ไม่เก่งเท่า ซึ่งประชาชนอาจจะเป็นเช่นนั้นจริง แต่ไม่ใช่จิตสำนึกหรือท่าทีที่ดีของคนที่อาสามาทำงานทางการเมือง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางนโยบายของพรรคประชาชน เช่น นโยบายประมง มีคำถามว่า ทำไมพรรคประชาชนจึงมีความเอนเอียงที่จะให้ความสำคัญกับคะแนนเสียงจากประมงพาณิชย์ทางภาคตะวันออกมากกว่าชาวประมงภาคใต้ หรือที่อื่นๆ ทำไมตอนนี้คนไม่เท่ากันแล้วล่ะ? ทำไมพรรคประชาชนไม่เห็นแก่ประโยชน์ของคนทั้งประเทศหรือความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล
มีข้อสังเกตถึงด้อม ทำไมกรณีมาตรา 69 ด้อมส้มถึงเงียบฉี่ ใช่หรือไม่ว่าส่วนหนึ่งไม่เข้าใจรายละเอียด และใช่หรือไม่ว่า ส่วนหนึ่งไม่อยากวิจารณ์ให้พรรคเสียหาย เพราะเชียร์พรรค ไม่อยากให้พรรคเสียคะแนน อาการรักพรรค เชียร์พรรค ไม่อยากให้พรรคเสียคะแนนนี่ก็ไม่ต่างกัน แล้วอะไรคืออุดมการณ์ทางการเมือง?
สิ่งที่กฤษฎิ์พูด ผมอ่านหลายรอบ ส่วนหนึ่งคิดว่าเขาน่าจะกำลังพยายามพูดถึงการบริหารจัดการภายในพรรค ซึ่งเขาก็พูดไม่ชัดว่าหมายถึงอะไร ผมจึงพยายามซักถามจากผู้เกี่ยวข้องต่างๆ (Stakeholders) เพิ่มเติมว่า พรรคประชาชนมีอะไรต้องปรับปรุงบ้าง โดยเบื้องต้นมีความเห็น ดังนี้
1. การบริหารจัดการตรงกลางของเลขาพรรคยังต้องปรับปรุง ทุกคนชมว่าเลขาพรรคขยัน แต่ขอโทษ ‘ยังไม่เก่ง’ มีข้อเสนอแนวทางแก้ไขคือ ต้องรับฟังคนอื่นเยอะๆ ซึ่งไม่ใช่รับฟังอย่างเดียว แต่ต้องมีกระบวนการขบคิด กลั่นกรอง และนำไปสู่การปฏิบัติด้วย (หลายคนบ่นว่า ถาม แต่ถามจบก็งั้นๆ ไม่นำไปสู่การปฏิบัติ)
2. ปัญหาความโปร่งใส ความเป็นธรรมในการคัดเลือกตัวผู้สมัคร หรือผู้ดำเนินงานพรรค มีปัญหาตั้งแต่เรื่องกระบวนการสรรหา ส.ส. หรือผู้สมัครต่างๆ, การละทิ้งไม่ให้ความสำคัญกับคนเก่า, หรือคนเก่าจอง/กีดกันพื้นที่, ไม่เปิดโอกาสให้คนใหม่ที่มีความสามารถมากกว่า ในการคัดเลือกตัวผู้สมัคร มีผู้ที่มี ‘มีอาชีพการเมือง’ ซึ่งมีการจัดตั้ง มีมือยกให้มากกว่าได้เปรียบ อาจได้ลงสมัคร แต่ไม่ใช่คนเก่งที่สุด เป็นต้น ปัญหาต่างๆ เหล่านี้อาจเป็นธรรมดาในการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง แต่ในฐานะที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ ควรมีวิธีการบริหารจัดการไม่ให้คนมีอุดมคติด้วยกัน แตกกัน ควรประสานรอยร้าวให้เดินร่วมกันต่อไปได้ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
3. กรรมการระดับจังหวัดหรือพื้นที่ในหลายพื้นที่ยังไร้ประสิทธิภาพ ขาดความรู้ความเข้าใจในหลายเรื่อง ซึ่งตรงนี้ก็มีข้อจำกัดในเรื่องบุคลากรที่จะเต็มใจมาทำงานทางการเมือง โดยอาจต้องใช้เวลา แต่ถ้าหากพรรคมีวิธีการ กลไก หรือการระดมความคิดที่จะหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง ก็อาจย่นเวลา มากกว่าปล่อยให้คาราคาซังจนแตกกันไปหมด
4. คนในพรรคประชาชนไม่ friendly กับ new entry ไม่มีน้ำใจ ไม่มีความเป็นมิตร ไม่มีมนุษยสัมพันธ์ หรือมีความอารีอารอบ ซึ่งอาจเป็นเพราะลักษณะนิสัยส่วนตัวของแต่ละคน หรือหวงพื้นที่ กลัวคนที่มาใหม่จะมาแย่งชิง ซึ่งหากไม่มีวัฒนธรรมแห่งความใจกว้าง (ดังที่โฆษณา) จะสร้างปัญหาระยะยาว
5. ผู้สมัคร ส.ส. หรืออื่นๆ อ่อนในการลงพื้นที่ ขาดการรับฟัง ผูกมิตร ปรึกษาหารือ บางคนอัตตาสูง มั่นใจในตนเองจนลืมที่จะให้ความสำคัญ ให้เกียรติคนอื่น และยังมีบางคนคิดว่าการเป็น ส.ส. คือการทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติในสภาเท่านั้น จนเล่นการเมืองเฉพาะการ propaganda เน้นการสร้างภาพลักษณ์ โฆษณาประชาสัมพันธ์ อ่อนในเรื่องงานมวลชนสัมพันธ์ ที่สำคัญหลายคนยังสับสนว่าตัวเองจะเป็นผู้แทนราษฎรหรือเซเลป บางทีก็มีประพฤติการณ์ออกนอกเรื่อง โชว์เรื่องส่วนตัวที่ไม่ควรโชว์
ที่กล่าวมาทั้ง 5 ข้อ เกิดจากการรับฟังแกนนำทางสังคม นักวิชาการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง จริงหรือไม่จริง หรือจะมีอะไรมากกว่านั้น ก็สุดแท้แต่พิจารณา แต่เดี๋ยวจะหาว่าติอย่างเดียว ยังไงๆ ประเด็นสำคัญที่ไม่ลืมและอยากชมคือ ในปัจจุบันพรรคประชาชนเป็นความหวังมากที่สุดในการที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเป็นธรรมาภิบาล พรรคประชาชนจึงพึงสำเหนียก กรุณาอย่าทำให้ประชาชนผิดหวัง
ประชาชนจำนวนมากไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์เพราะอยากเห็นเป็นรัฐบาลก่อน ค่อยว่ากัน แต่เราก็ไม่อยากเห็นพรรคประชาชนเป็น ‘พรรคเพื่อไทย 2’ ที่ตะบัดสัตย์ตอนมีอำนาจ หากเป็นเช่นนั้น คงชอกช้ำน่าดู พรรคประชาชนจึงอย่าดูเบาที่จะขัดเกลา ปรับปรุงข้อบกพร่องของตน อย่าหลงเงา หลงกระแสว่าประชาชนชื่นชอบแล้วจะทำอะไรก็ได้ ประชาชนเองก็ไม่ควรรักจนหลง ละเว้นที่จะวิจารณ์ อย่างกรณีตัวอย่าง มาตรา 69 เราก็สามารถตั้งคำถามได้ว่า ในที่สุดพรรคประชาชนเห็นแก่ทุนพรรค หัวคะแนน และคะแนนเสียง มากกว่าความถูกต้องใช่หรือไม่
การที่กฤษฎิ์ถูกวิจารณ์ว่าทรยศต่อคะแนนเสียง ทรยศต่อประชาชน ใช่หรือไม่ว่า กรณีมาตรา 69 พรรคประชาชนกำลังจะทรยศต่อคะแนนเสียง ทรยศต่อประชาชน หากดอมส้มปิดปากไม่ตั้งคำถาม ไม่เรียกร้องให้พรรคประชาชนปรับปรุงตัว ในอนาคตด้อมส้มอาจมีสภาพเหมือน รักจนเสียสติ รักจนไม่คำนึงถึงหลักการ ไม่แยกแยะถูกผิด
ในวันนี้ประชาชนจำนวนมากรอให้พรรคประชาชนพัฒนาการไปเป็นสถาบันทางการเมืองที่แข็งแกร่ง ทรงพลัง ไม่ใช่พรรคของธนาธรและผองเพื่อน ดังคำที่เขานินทากัน ซึ่งผมก็เชื่อมั่นว่าสมาชิกพรรคส่วนใหญ่มีอุดมคติโพธิสัตว์ และผมขอเอาใจช่วยให้ถึงวันนั้น
ปล. ที่ผมพูดอาจไม่ครอบคลุมทั้งหมด ท่านที่อยากเห็นพรรคประชาชนพัฒนาไปในทิศทางที่ดี สามารถเติมได้ สามารถวิจารณ์ ถกเถียง โต้แย้ง ได้ตามอัธยาศัย ขอบคุณครับ