ยุทธศักดิ์ เสนอสูตร “3R : Rebrand-Reboot-Reform” หยุดวิกฤตคืนความมั่นใจนักท่องเที่ยวจีน ภายใต้แนวคิด ประเทศไทยดินแดนแห่งรอยยิ้ม ต้องมีคุณภาพและความปลอดภัย
นายยุทธศักดิ์ สุภสร อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกำลังเผชิญการตกลงอย่างอิสระ ( Freefall ) มีการลดลงรวดเร็วของนักท่องเที่ยวจีน ดังนั้นต้อง Stop the Freefall หยุดวิกฤตท่องเที่ยวไทย ดึงนักท่องเที่ยวกลับมา ถือโอกาสนี้ปรับโครงสร้างท่องเที่ยวนักท่องเที่ยว ไปสู่กลุ่มคุณภาพเพิ่มขึ้น ผ่าน “3R : Rebrand – Reboot – Reform”
ภายใต้แนวคิด “Thailand: Land of Smiles defined by Quality, Trusted for Safety” หรือ “ประเทศไทย ดินแดนแห่งรอยยิ้มที่มั่นใจได้ในคุณภาพและความปลอดภัย”
*Rebrand : มุ่งปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้ประเทศไทย เน้นประสบการณ์ “สนุก” (Sanuk) ที่ครอบคลุมวัฒนธรรม วิถีชีวิต ดนตรี กีฬา อาหาร และธรรมชาติ เพื่อสร้างการจดจำในเวทีโลก โดยใช้คอนเทนต์สร้างสรรค์ ทัวร์เสมือนจริง อินฟลูเอนเซอร์ และสื่อระดับโลกในการสื่อสาร
*Reboot : เน้นฟื้นรายได้และปริมาณนักท่องเที่ยว ด้วยการขยายตลาดคุณภาพ เช่น MICE, กลุ่มสุขภาพ-ธุรกิจ (Health & Wellness / Bleisure) และเพิ่มเที่ยวบินให้เพียงพอ พร้อมทั้งผลักดันโปรโมชั่นกับสายการบินให้ราคาตั๋วไม่สูงเกินไป ดึงทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวหน้าใหม่และผู้ที่เคยมาให้กลับมาอีกครั้ง
*Reform : ปฏิรูปอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพบนพื้นฐานของอัตลักษณ์ท้องถิ่น ยกระดับความปลอดภัย โครงสร้างพื้นฐาน และบริการให้ได้มาตรฐานโลก พร้อมส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม และยั่งยืนในทุกมิติ
ต้องทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในฐานะประเทศแห่งรอยยิ้มของคุณภาพและความปลอดภัย ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงสร้างภาพลักษณ์ใหม่ แต่ต้องเน้นสร้างมั่นใจ ความรู้สึกปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงปัจจัยที่เอื้อต่อการเดินทางอย่างสะดวกและปลอดภัย (Ease & Safe of Traveling)
อาทิ ด้านคุณภาพการบริการ รถแท็กซี่ ต้องพัฒนาระบบเตือนอุบัติเหตุ/อุบัติภัย มีหลากหลายภาษา ชูซอฟต์พาวเวอร์และเมืองรอง (เมืองน่าเที่ยว) เป็นจุดขายใหม่ สร้างภาพจำใหม่ โดยให้สะท้อนถึงความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและเป็นส่วนตัว ลบภาพเดิม และแบบแผนเดิมๆ ทิ้งไป
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า นักท่องเที่ยวจีนเคยตลาดหลักของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 11 พ.ค. 2568 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยเพียง 1.76 ล้านคน ลดลงถึง 31.15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 หากย้อนไปปี 2562 มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยกว่า 10.8 ล้านคน สัดส่วน 27% ของต่างชาติทั้งหมด เฉลี่ยเดือนละ 900,000 คน วันละ 30,000 คน
จากสถิติของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 11 พ.ค. 2568 มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยรวม 12.9 ล้านคน ลดลง 1% จากปีก่อน โดยนักท่องเที่ยวจากเอเชีย ซึ่งเคยเป็นตลาดหลักกว่า 60% กลับลดลงอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง นักท่องเที่ยวจีนเฉลี่ยในเดือนเมษายนมีเพียง 10,574 คนต่อวัน เทียบกับ 30,000 คนต่อวันในปี 2562 ก่อนโควิด-19
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวถือเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แม้เผชิญวิกฤตหลายครั้งแต่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเหมือนช่วงหลังโควิด-19 ถือเป็นการฟื้นตัวที่รวดเร็วในอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีตลาดหลักคือจีน เพื่อนบ้านอาเซียนเป็นแรงขับเคลื่อนการฟื้นตัว การหดหายไปของจีน สัดส่วนตลาดจีนเหลือเพียง 14% ของจำนวนนักท่องเที่ยว เทียบกับสัดส่วน 27% เมื่อปี 2562
จีนถือเป็นแหล่งรายได้ท่องเที่ยวสำคัญที่สุดของไทย โดยสาเหตุที่นักท่องเที่ยวจีนหายไป เป็นปัญหาภาพลักษณ์ที่สั่งสมมานาน สอดคล้องกับผลสำรวจของ Dragon Trail International บริษัทด้านการท่องเที่ยวในประเทศจีนที่พบว่า คนจีนกังวลการเดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 28% ในปี 2565 เป็น 51% ในปี 2566 ทั้งภาพลักษณ์เชิงลบผ่านภาพยนตร์
อาทิ No More Bets ที่สื่อถึงวงจรฉ้อโกง การค้ามนุษย์ การค้าอวัยวะในตลาดมืด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ กรณีนักแสดงจีนที่หายไปบริเวณชายแดนไทย ตอกย้ำภาพดังกล่าว และข่าวร้ายที่นำเสนอผ่านสื่อโซเชียลในจีนอย่างต่อเนื่อง
ด้าน Tongcheng Travel ผู้ให้บริการทัวร์ท่องเที่ยวรายใหญ่และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศจีน เผยว่าญี่ปุ่นกลายเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของชาวจีนตามด้วย มาเลเซีย สิงคโปร์เกาหลีใต้ ส่วนไทยหล่นมาอยู่อันดับที่ 5
สอดคล้องกับข้อมูลของทริปดอทคอม ธุรกิจบริการทัวร์ท่องเที่ยวออนไลน์ชื่อดังในจีนที่ออกมาระบุว่า ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวหรือตรุษจีนที่ผ่านมา ปริมาณการเดินทางเข้าและออกประเทศจีนพุ่งสูงขึ้นถึง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลเดียวกันในปี 2567 โดยญี่ปุ่นกลายเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับหนึ่งของคนจีนจากแผ่นดินใหญ่
ซึ่งการฟื้นตัวของอัตราเที่ยวบินจากจีนภาพรวมอยู่ที่ 79% แต่ไทยมีการฟื้นตัวเที่ยวบินขาออกจากจีนเพียง 58% เท่านั้น อยู่อันดับที่ 21 น้อยกว่าและเป็นรองจากลาว 137% มาเลเซีย 115% สิงคโปร 103% เวียดนาม 97% ส่วนญี่ปุ่นมีเที่ยวบินจากจีนเข้าไปกว่า 108% สอดคล้องกับยอดจองที่พักในญี่ปุ่นโตแรงถึง 300% ช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่จีนไม่มาเที่ยวไทยแต่ไปเที่ยวญี่ปุ่น เพราะเศรษฐกิจจีนเข้าสู่ช่วงตกต่ำ มีนโยบายให้เที่ยวในประเทศ รวมถึงตั้งแต่ปี 2565 ค่าเงินเยนต่อเงินหยวนอ่อนค่าลงกว่า 25% ราคาสินค้าและบริการในญี่ปุ่น มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น แต่ไทยแม้ค่าเงินบาทต่อหยวนจะคงที่ แต่ต้นทุนการบริโภคในไทยช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งค่าที่พัก ค่าอาหาร ปรับตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ทำให้ความได้เปรียบด้านราคาในฐานะจุดหมายปลายทางที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงของไทยร่วงลง รวมถึงญี่ปุ่นถูกมองว่า เป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลกมาเป็นเวลานาน แต่ไทยมีข่าวงบเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีนลดลง
สอดคล้องกับข้อมูลดัชนี Travel & Tourism Development (TTDI) ที่ระบุว่า ความปลอดภัยของไทยล่าสุดปรับแย่ลงจากอันดับที่ 88 เป็นอันดับที่ 92 จาก 117 ประเทศ
“…ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง มองไปข้างหน้า ไม่ยึดติดกับอดีตหรือความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา เพื่อก้าวต่อไปในการสร้างความหวัง สร้างคุณค่า สร้างความยั่งยืน สู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ โดย Stop the Freefall: Rebrand/Reboot/Restructure หยุดวิกฤติปัญหา สร้างภาพลักษณ์ใหม่ สนุก ปลอดภัย ใส่ใจคุณภาพนักท่องเที่ยว เสริมสร้างระบบนิเวศที่ดี เพื่อการท่องเที่ยวไทยที่แข่งขันได้และยั่งยืนต่อไป”