นายกฯ เปิดสัมมนาธุรกิจไทย–เวียดนาม ตั้งเป้าดันมูลค่าการค้า 8.7 แสนล้าน
ข่าวสด May 16, 2025 05:40 PM

“นายกฯ อิ๊งค์” เปิดสัมมนาธุรกิจไทย–เวียดนาม พบนักธุรกิจ ยกระดับความร่วมมือภาคเอกชน ตั้งเป้าผลักดันมูลค่าการค้า 8.7 แสนล้านบาท

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 16 พ.ค. 2568 ที่ห้องทัง ลอง บอลรูม โรงแรม Melia Hanoi กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (H.E. Mr. Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ร่วมเป็นประธานเปิดงานสัมมนาทางธุรกิจไทย–เวียดนาม (Thailand–Viet Nam Business Forum) ภายใต้หัวข้อ “1+1 = Zero Boundary on Three Connects”

โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรธุรกิจชั้นนำของสองประเทศ อาทิ หอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม สมาคมมิตรภาพไทย–เวียดนาม สภาธุรกิจไทย–เวียดนาม รวมทั้งบริษัทเอกชนชั้นนำของไทยและเวียดนามในหลากหลายสาขา

รวมถึงรองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศของเวียดนาม ประธานกรรมการบริษัท VietJet Air ประธานกรรมการบริษัท Thai Vietjet ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท FPT Corporation ผู้อำนวยการโรงเรียนโพลีเทคนิค FPT รองผู้ว่าการธนาคารแห่งรัฐเวียดนาม เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย และรองประธานคณะกรรมการประชาชนกรุงฮานอย เข้าร่วมงานคับคั่ง

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ขอบคุณรัฐบาลเวียดนาม และนายกฯ เวียดนาม ที่ให้เกียรติร่วมเปิดงาน และมีความยินดีที่ได้เห็นการรวมตัวของผู้นำภาครัฐและภาคธุรกิจจากทั้ง 2 ประเทศอย่างกว้างขวาง

โดยความร่วมมือไทยกับเวียดนามกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ หลังการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่แน่นแฟ้นในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และประชาชนต่อประชาชน และมีเป้าหมายร่วมกันคือการเติบโตและเข้มแข็งไปด้วยกันในภูมิภาคที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง

นายกฯ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน คือ การเร่งส่งเสริมการเชื่อมโยงห่วงโซ่เศรษฐกิจไทย–เวียดนาม ในทุกระดับ งานสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายจะได้พบปะ พูดคุย และขยายเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกันอย่างแท้จริง

โดยรัฐบาลทั้งสองประเทศเห็นพ้องในการผลักดัน “Three Connects” หรือยุทธศาสตร์การเชื่อมโยง 3 ด้าน ได้แก่ การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ปิโตรเคมี อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์ และเซมิคอนดักเตอร์, การเชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยอาศัยเครือข่ายเมืองคู่มิตรกว่า 20 คู่ และการเชื่อมโยงการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น พลังงานหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในระดับโลก และเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 7 ของเวียดนามในระดับโลก และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ซึ่งปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้ตั้งเป้าเร่งผลักดันให้ได้ถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.75 แสนล้านบาทโดยเร็ว

ขณะที่การลงทุนในประเทศเวียดนาม มีนักลงทุนไทยเป็นอันดับ 9 มูลค่ารวมกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 5 แสนล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนเวียดนาม เริ่มขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ และกว่า 50% ของการค้าระหว่างไทย–เวียดนาม เป็นการนำเข้าและส่งออกวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรม

นอกจากนั้น แผนการพัฒนาเส้นทางบินตรง ระหว่างจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับเวียดนามในอนาคต จะเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศเที่ยวบินแรกของสนามบินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จะช่วยส่งเสริมทั้งการเดินทางของประชาชนและการท่องเที่ยวระหว่างกัน

รวมทั้งสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น และยังมีแผนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ เช่น เส้นทางเดินเรือสำราญระหว่างสิงคโปร์–ไทย–เวียดนาม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากนอกภูมิภาค และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายกฯ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกว่า 2 ใน 3 ของการลงทุนของไทยในเวียดนามเป็นโครงการด้านพลังงานหมุนเวียน และได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง EXIM Bank ของไทยกับธนาคาร BIDV ของเวียดนาม เพื่อร่วมกันสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจสีเขียวและอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะเร่งพัฒนาระบบการชำระเงินข้ามแดนให้สะดวกรวดเร็ว มีต้นทุนต่ำเพื่อเอื้อต่อการขยายตัวของการค้าการลงทุน

ทั้งนี้ ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างไทยและเวียดนาม ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในระดับรัฐบาลเท่านั้น แต่ภาคเอกชนคือกำลังสำคัญที่จะทำให้ความร่วมมือในทุกมิติ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

โดยรัฐบาลทั้งสองประเทศพร้อมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ และแสดงความเชื่อมั่นว่า ผลลัพธ์จากการจัดงาน Business Forum ในวันนี้ จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย–เวียดนามให้แน่นแฟ้นและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

จากนั้น นายกฯ และนายกฯเวียดนาม ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างภาคเอกชนไทยและเวียดนาม จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1.บันทึกความเข้าใจระหว่างสายการบิน Vietjet กับ Thai Vietjet

2.บันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กับมหาวิทยาลัย FPT และ 3.บันทึกความเข้าใจระหว่าง FPT Group กับบริษัท Sunline Technology จำกัด

จากนั้น นายกฯ พร้อมคณะ มีกำหนดการเข้าเยี่ยมคารวะนายเลือง เกื่อง (H.E. Mr. Luong Cuong) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่ทำเนียบประธานาธิบดี และเยี่ยมคารวะ นายโต เลิม (H.E. Mr. To Lam) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่ทำการพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงเย็นวันนี้

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.