เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 พ.ค. 68 ที่ ทำเนียบรัฐบาลเวียดนาม กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย และ นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (H.E. Mr. Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ร่วมเป็นประธานในการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการไทย–เวียดนาม หรือ Joint Cabinet Retreat (JCR) ครั้งที่ 4 โดยมีรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม
โดยฝ่ายไทยประกอบไปด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สำหรับฝ่ายรัฐมนตรีเวียดนาม ประกอบด้วย นายบุ่ย แทงห์ เซิน (H.E. Mr. Bui Thanh Son) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม นายเหวียน ห่ง เยียน (H.E. Mr. Nguyen Hong Dien) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม นายเหวียน วัน หุ่ง (H.E. Nguyen Van Hung) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว
โดยนายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวชื่นชมการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีแพทองธารว่า อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะปัจจุบันภูมิรัฐศาสตร์โลกมีความท้าทาย จากระเบียบโลกรูปแบบเดิมกำลังจางหายไป ขณะเดียวกันระเบียบโลกใหม่ก็ยังไม่ชัดเจน ไทย-เวียดนาม จึงต้องร่วมมืออย่างรอบด้าน วันนี้ทั้งสองฝ่ายจะได้หารือ เพื่อกระชับความร่วมมือความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วย
โอกาสนี้นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุม โดยยินดีที่ได้เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการครั้งแรก และได้ร่วมเป็นประธานการประชุม JCR ครั้งที่ 4 นี้ ถือเป็นกลไกความร่วมมือพิเศษเฉพาะระหว่างไทยกับเวียดนาม ซึ่งเป็นการริเริ่มของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และมีการสานต่อโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนจะถึงในครั้งนี้ สะท้อนความตั้งใจต่อเนื่องในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย–เวียดนาม นายกรัฐมนตรียังชื่นชมเวียดนามที่มีการเติบโตอย่างรุดหน้า จากการพัฒนา ซึ่งรัฐบาลนี้ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์ และสนใจโมเดลการพัฒนา “คน” ของเวียดนามด้วย ยินดีทั่ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายผลักดันมูลค่าการค้าทวิภาคีให้ถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเร็วด้วย
ในการประชุมรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้รายงานผลการหารือและข้อเสนอแนะ ในประเด็นสำคัญ 3 เสาหลัก ด้านการเมืองและความมั่นคง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเสนอให้มีการจัดทำ “แผนปฏิบัติการภายใต้หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน” (Strategic Plan of Action) ภายในปีนี้ การจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือระดับสูง (High-Level Consultation : HLC) ระหว่างผู้บัญชาการทหารสูงสุดไทยและเวียดนาม รวมถึงการเร่งรัดความร่วมมือในการต่อต้านยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ online scam และการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) โดยเวียดนามยินดีสนับสนุนแนวทางเหล่านี้และเห็นชอบในการผลักดันกลไกเพื่อสร้างความมั่นคงร่วมกันระยะยาว
ด้านเศรษฐกิจ นายจุลพันธ์ กล่าวขอบคุณเวียดนามที่สนับสนุนการขนส่งผลไม้ไทยข้ามพรมแดน เพื่อส่งออกไปยังจีน ซึ่งไทยขอเสนอให้มีการเร่งรัดการเจรจาเปิดตลาดการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการค้า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ควบคู่กับการขยายระบบนิเวศเพื่อการใช้ระบบชำระเงินผ่าน QR Code และการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ขณะที่เวียดนามเห็นชอบในการเพิ่มห่วงโซ่การผลิตร่วมกัน และยินดีสนับสนุนการส่งออกสินค้าไทยไปจีนโดยผ่านเวียดนาม พร้อมเสนอให้ไทยเพิ่มการลงทุนในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การเกษตรและวิทยาศาสตร์การเกษตร โลจิสติกส์ ค้าปลีก รวมทั้งผลักดันระบบการเชื่อมโยงธนาคารและระบบชำระเงินผ่าน QR Code เชื่อว่าจะสนับสนุนการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกันด้วย
ด้านสังคมและประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอการเชื่อมโยงทั้งสองประเทศอย่างไร้รอยต่อ เช่น 6 ประเทศ 1 เป้าหมายการท่องเที่ยว การเดินทางท่องเที่ยวทางรถยนต์หรือ จักรยานยนต์ และ การท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ การเชื่อมโยงเที่ยวบินตรงระหว่างเวียดนามกับจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย รวมถึงการใช้กลไกเมืองคู่มิตรเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น STEM, AI และเซมิคอนดักเตอร์ โดยเวียดนามกล่าวสนับสนุนการเชื่อมโยงท่องเที่ยว 6 ประเทศ 1 ปลายทางการท่องเที่ยว และจะเข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ ในปลายปีนี้
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำถึงความสำเร็จของ JCR ครั้งนี้ ที่มีการหารืออย่างสร้างสรรค์และครอบคลุม โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานของทั้งสองประเทศนำผลการประชุมไปสานต่ออย่างเร่งด่วน เพื่อเปิดศักราชใหม่ของความเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) และร่วมกันเสริมสร้างเสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคงในภูมิภาค
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังเชิญนายกรัฐมนตรีเวียดนามเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดแม่โขง–ล้านช้าง ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ