เปิดจดหมายแบงก์ชาติ แนะรัฐ ทดลองออก G-Token ในวงจำกัด ย้ำต้องอยู่ภายใต้กม.หลักทรัพย์
ข่าวสด May 16, 2025 06:40 PM

แบงก์ชาติ ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอทดลองออก G-Token ในวงจำกัด ก่อนเปิดขายจริง หวั่นระบบยังไม่เสถียร พร้อมเตือนต้องอยู่ภายใต้ กม.หลักทรัพย์

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. โดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. ก่อนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอวิธีการกู้เงินของภาครัฐด้วยการออกโทเคนดิจิทัล (G-Token) เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้ความเห็นต่อการระดมทุนด้วยการออก G-Token

ธปท.ระบุในจดหมายว่ารัฐบาลควรทำเป็นโครงการทดสอบในวงจำกัด (Pilot Project) ก่อน เพื่อที่จะได้ทดสอบให้มั่นใจว่าการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้กับระบบ และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนของรัฐบาล เริ่มตั้งแต่การออกเสนอขาย จนสิ้นสุดที่การไถ่ถอนนั้น มีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมถึงประเมินความเสี่ยงได้อย่างรอบด้าน และปิดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรัดกุม ก่อนที่รัฐบาลจะนำไปใช้ระดมทุนจากประชาชนในวงกว้างต่อไป

ความเห็นจาก ธปท. ระบุว่า การออกโทเคนดิจิทัล เป็นหนึ่งในวิธีการระดมทุนที่รัฐบาลอาจนำมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรมให้สะดวก รวดเร็ว และมีต้นทุนที่ต่ำลง รวมถึงเป็นทางเลือกในการลงทุนและการออมของประชาชน โดยเทียบได้กับการออกพันธบัตรรัฐบาล

ดังนั้น การออก G-Token จำเป็นต้องมีระบบและกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย เป็นไปตามกรอบกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการคุ้มครองประชาชนผู้ลงทุนเทียบเท่ากับพันธบัตรรัฐบาลในปัจจุบัน ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 5 ประการ

1. ระบบและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับ G-Token ต้องมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยระบบที่รองรับการให้บริการต้องมีความเสถียร มั่นคง และปลอดภัย ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับพันธบัตรรัฐบาลในปัจจุบัน โดยครอบคลุมตั้งแต่การเสนอขาย การตรวจสอบธุรกรรม การจัดการทะเบียนของผู้ถือ การเก็บรักษาและรับฝาก และการไถ่ถอน

รวมทั้งผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่จะเข้ามาร่วมกับรัฐบาลในการจัดการโทเคนดิจิทัล ต้องมีความน่าเชื่อถือ มีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เช่น หากมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถไถ่ถอนโทเคนดิจิทัลเป็นเงินได้ ผู้ให้บริการต้องแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เพื่อมิให้ส่งผลต่อการออกพันธบัตรรัฐบาล และการระดมทุนของรัฐบาลในวงกว้าง

2. การออก G-Token ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่เหมาะสม โดย G-Token มีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุนและการออม โดยมีลักษณะและสาระสำคัญเทียบเท่าตราสารหนี้ภาครัฐอื่น ๆ ที่ผู้ถือมีสิทธิได้รับชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ยจากรัฐบาล ซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

อีกทั้ง G-Token มีวัตถุประสงค์ต่างจากโทเคนดิจิทัลประเภทที่ให้สิทธิได้รับสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง (Utility Token) เช่น บัตรกำนัลดิจิทัล ภายใต้ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ดังนั้น การออก G-Token จึงควรอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่เหมาะสม และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความไม่แน่นอนของสถานะทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ให้รองรับกับกับการออกและการกำกับดูแลหลักทรัพย์ที่ออกโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งน่าจะเป็นกรอบกฎหมายที่เหมาะสมกับการออก G-Token มากกว่า

3. การระดมทุนด้วย G-Token ต้องเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง เช่นเดียวกับการกู้ยืมเงินของรัฐบาลผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาล โดยต้องนับเป็นการกู้เงินภายใต้กรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี และแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ

4. การบริหารจัดการ G-Token ต้องไม่มีขั้นตอนใดที่เป็นการสร้างเงิน ซึ่งจะขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดสร้างวัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตรา เช่น หากมีการจ่ายผลตอบแทนของ G-Token ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของโทเคนดิจิทัลใด ๆ รัฐบาลจะต้องเตรียมเงินเต็มจำนวน (Fully Backed) เพื่อรองรับ เช่น ในกรณีของรัฐบาลฮ่องกง ที่มีการออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบโทเคนดิจิทัล (Tokenized Green Bond) ก็ได้เตรียมเงินไว้เต็มจำนวนเพื่อรองรับการจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ถือ

5. การออก G-Token ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุน และการออมของประชาชนเท่านั้น โดยต้องไม่นำ G-Token มาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน (Means of Payment: MOP) โดยต้องมีกลไกติดตามเพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ด้วย

ดังนั้น จากที่กล่าวมาข้างต้น ธปท. มีความเห็นว่า การระดมทุนด้วยการออก G-Token ของรัฐบาล ควรทำเป็นโครงการทดสอบในวงจำกัด (Pilot Project) ก่อน เพื่อที่จะได้ทดสอบให้มั่นใจว่า การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้กับระบบ และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนของรัฐบาล เริ่มตั้งแต่การออกเสนอขาย จนสิ้นสุดที่การไถ่ถอนนั้น มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

รวมถึงประเมินความเสี่ยงได้อย่างรอบด้าน และปิดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรัดกุม ก่อนที่รัฐบาลจะนำไปใช้ระดมทุนจากประชาชนในวงกว้างต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศ ที่ออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการระดมทุนของภาครัฐ และส่วนใหญ่เป็นการทำในระดับ Pilot Project เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ระหว่างที่รัฐบาลทำ Pilot Project ดังกล่าว ประชาชนยังสามารถลงทุนและเก็บออม ผ่านพันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อยู่แล้ว เช่น พันธบัตรออมทรัพย์ดิจิทัล “วอลเล็ต สะสมบอนด์มั่งคั่ง” ซึ่งประชาชนสามารถซื้อขายพันธบัตรผ่าน Mobile application ได้โดยสะดวก

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.