รายงานพิเศษ - ภัยซ้ำซากที่คนไทยไม่ควรชิน ‘นฤมล’ถอดบทเรียนเร่งแก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง
ข่าวสด May 16, 2025 07:42 PM

15 พ.ค.2568 กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศ ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ปริมาณฝนทั่วประเทศในช่วงฤดูฝนมีปริมาณรวมใกล้กับค่าปกติ 1,500 ม.ม. แต่น่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเข้าสู่ประเทศไทย 1-2 ลูก บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า สถานการณ์ฝนในปี 2568 กรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าปรากฏการณ์เอนโซได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว คาดว่าจะอยู่ในภาวะปกติต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนส.ค.-ต.ค.2568 จะมีฝนมากสูงกว่าค่าปกติ และเดือนพ.ค. พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะมีปริมาณฝนรวมสูงกว่าค่าปกติ

เดือนมิ.ย.พื้นที่ส่วนใหญ่จะมีฝนรวมสูงกว่าค่าปกติ ยกเว้นด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะใกล้เคียงถึงต่ำกว่าค่าปกติ เดือนก.ค.พื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนกลางของประเทศจะมีฝนรวมสูงกว่าค่าปกติ ส่วนภาคเหนือ ด้านตะวันตกของภาคกลาง ด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะใกล้เคียงถึงต่ำกว่าค่าปกติ

เดือนส.ค.พื้นที่ภาคกลางและภาคใต้จะมีฝนรวมสูงกว่าค่าปกติ ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะต่ำกว่าค่าปกติ เดือนก.ย.พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะมีฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติ เว้นแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนรวมสูงกว่าค่าปกติ

จี้กรมชลแจ้งข่าวปชช.

ในฐานะที่ดูแลกรมชลประทาน ที่มีหน้าที่บริหารจัดการน้ำ ได้กำชับให้กรมชลประทานประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนน้ำในเขื่อนกรมชลที่ต้องบริหารจัดการทั้งสิ้น 31,710 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนแผนการจัดสรรน้ำสำหรับทุกกิจกรรมจำนวน 16,739 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นด้านการเกษตร 7,580 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 45% การอุปโภค-บริโภค 1,654 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 10% อุตสาหกรรม 260 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 2% การรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 7,245 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 43%

สำหรับการเพาะปลูก คาดว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี จำนวน 16.85 ล้านไร่ หรือ 73% พืชไร่-พืชผัก 0.53 ล้านไร่ ประมาณ 2% และการเพาะปลูกอื่นๆ อีกประมาณ 5.64 ล้านไร่ หรือ 25% รวมแล้วจะมีพื้นที่คาดการณ์การเพาะปลูกอยู่ที่ 23.02 ล้านไร่

ปัจจุบันประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศ เวียดนามและทะเลจีนใต้ ทำให้เกิดพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบนและฝนตกหนักบริเวณภาคใต้

เตรียมพร้อมเครื่องมือระบายน้ำ

กรมชลประทานได้เข้าดำเนินการช่วยเหลือโดยได้สนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ และบุคลากร พร้อมทั้งประสานหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเร่งสูบน้ำและระบายน้ำในพื้นที่อย่างเร่งด่วน

สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือ พื้นที่เสี่ยง/เฝ้าระวังอุทกภัยทั้งประเทศ พร้อมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานต่างๆ เครื่องจักร-เครื่องมือให้พร้อมใช้งานทุกเมื่อ และมอบหมายบุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยงประสานงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด, ปภ., อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการขุดลอกทางน้ำ และกำจัดวัชพืช

พร้อมทั้งวางแผนพร่องน้ำในลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขาเพื่อรองรับมวลน้ำที่คาดว่าจะเกิดขึ้น บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เป็นไปตาม DOC (Dynamic Operation Curve) และปรับแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงระยะเวลาต่างๆ เพื่อลดผลกระทบกับพื้นที่ด้านท้ายน้ำ

รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ และแก้มลิง โดยปรับปฏิทินการเพาะปลูกของโครงการบางระกำโมเดลในพื้นที่ลุ่มน้ำยม และพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนฤดูน้ำหลากที่จะมาถึง

เตือนทำนารอบ 2 ระวังน้ำท่วม

นายธเนศ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ระบุว่า จากการประชุมร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เรื่องการรับทราบสถานการณ์น้ำ และการติดตามแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลังเข้าสู่เดือนพ.ค. และตามคาดการณ์กรมอุตุฯ ระบุว่า ฝน เดือนพ.ค.จะมากกว่าค่าฝนปกติ 19% จึงอยากให้มีการพร่องน้ำออกจากเขื่อน ก่อนเพื่อไปรอรับน้ำในเดือนต.ค.ที่น้ำจะมากกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 17%

กรมชลประทานกังวลว่าหากพร่องน้ำมากไป อาจมีความเสี่ยง เพราะหลังจาก พ.ค.เข้า มิ.ย.-ก.ย. ปริมาณฝนจะน้อยหรือใกล้เคียงค่าเฉลี่ย ไม่อยากให้กังวลสถานการณ์น้ำปีนี้ เพราะหากประเมินสถานการณ์และปริมาณน้ำฝน ไม่น่าจะเหมือนปี 2554 แต่น่าจะคล้ายปี 2567 คือพื้นที่ไหนที่น้ำเคยท่วม มีโอกาสที่น้ำจะท่วม เพราะทางน้ำเปลี่ยนแปลงไป ส่วนพื้นที่ไหนแล้งก็จะคงประสบภัยแล้ง การบริหารจัดการน้ำคงเป็นแบบ Dynamic Operation Curve

ดังนั้น เกษตรกรปีนี้ในพื้นที่ฝนดีให้ทำเกษตร หรือทำนาไปเลย ฝนต้นฤดูเยอะ แต่ควรทำแค่รอบเดียว เพราะหากทำนาปีต่อเนื่อง มีโอกาสเสี่ยงที่น้ำจะท่วม พื้นที่เกษตรอาจเสียหายได้ เพราะตามคาดการณ์ของกรมอุตุฯ ระบุชัดว่าประมาณเดือน ก.ย.-ต.ค.น้ำจะมาก เสี่ยงน้ำท่วม

สั่งพร่องน้ำเขื่อนรับมือพายุเข้า

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช.เร่งหารือปรับแผนการระบายน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ หลังกรมอุตุฯ ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.2568 เป็นต้นไป คาด ส.ค.-ต.ค.พายุเข้าเหนือ-อีสาน 1-2 ลูก แม้ภาพรวมปริมาณฝนปีนี้มีแนวโน้มใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยปกติหรือมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อยประมาณร้อยละ 5-10%

ช่วง 3 เดือนแรกคือช่วงเดือนพ.ค.-ก.ค. มีแนวโน้มมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ อีกทั้งในช่วงวันที่ 15-16 พ.ค.2568 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้ริมฝั่งทะเลอันดามัน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือตอนล่าง

แจ้งให้ทุกหน่วยงานได้รับทราบการคาดการณ์ ทั้งกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และจังหวัดต่างๆ เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ในช่วงต้นเดือนมิ.ย. การคาดการณ์สถานการณ์แม่น้ำโขงจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และจะประสานงานจังหวัดอย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งสร้างการรับรู้ด้านสถานการณ์น้ำให้กับประชาชน เพื่อพร้อมรับมือฤดูฝนปีนี้ และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีต่อไป

อย่าห่วงน้ำท่วม ปีนี้ห่วงแล้งดีกว่า

ด้าน นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเตือนภัยจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากข้อมูลคาดการณ์น้ำฝนของปีนี้ในภาพรวมสามารถสรุปได้ว่าปริมาณฝนจะตกชุกแค่เพียงช่วงต้นฤดูราวเดือนพ.ค.ถึงเดือนมิ.ย. แต่ช่วงฤดูฝนจะมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติหรือเทียบเท่าค่าปกติในบางพื้นที่ แต่ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องน้ำท่วมใหญ่เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีฝนปริมาณมากสะสมต่อเนื่องตลอดฤดูทั้ง 6 เดือน

แต่ไม่ใช่เหตุอุทกภัยจะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะพื้นที่ไหล่เขาและชุมชนเมืองคือจุดเปราะบางที่ควรเฝ้าระวังภัยจากน้ำไหลหลาก รวมถึงน้ำท่วมขังรอระบาย โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมืองของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และไม่ต้องกังวลว่าเขื่อนจะระบายน้ำและทำให้เกิดน้ำท่วม ควรจับตาว่าปลายฤดูฝนจะมีน้ำสำรองเข้าเขื่อนใหญ่เพียงพอต่อการทำเกษตรในช่วงหน้าแล้งของปีถัดไปหรือไม่

หวังว่าปีนี้รัฐบาลคงจะถอดบทเรียน ทำแผนแก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง ที่เป็นปัญหาซ้ำซากของประชาชนและเกษตรกรไทยได้เสียที

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.