คลังไขข้อข้องใจ กยศ. ปมหักเงิน 3,000 บาท ขอรับเงินคืนชำระเกิน ยอดหนี้ไม่ตรง
ข่าวสด May 16, 2025 07:42 PM

คลังไขข้อข้องใจ กยศ. ปมหักเงิน 3,000 บาท ขอรับเงินคืนชำระเกิน ยอดหนี้ไม่ตรง ย้ำผู้กู้ยืมเร่งเช็คสถานะในเว็บไซต์ กยศ. เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ รู้ยอดชำระที่แท้จริง

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง แถลงความคืบหน้าการดำเนินงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า จากการที่ กยศ. เริ่มใช้กฎหมายใหม่เมื่อปี 2566 ที่ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ไม่เกิน 1% ต่อปี ณ วันทำสัญญา จากเดิมไม่เกิน 7.5% ต่อปี และอัตราเงินเพิ่มไม่เกิน 0.5% ต่อปี จากเดิมไม่เกิน 1.5% ต่อเดือน และปรับลำดับการหักชำระหนี้ เป็นเริ่มหักจากเงินต้น

ส่วนที่ครบกำหนดก่อน จึงจะหักดอกเบี้ย และเงินเพิ่ม โดยผลการคำนวณปรับปรุงยอดหนี้ใหม่ (Recal) ลูกหนี้ทั้งหมด 3.8 ล้านราย ณ วันที่ 30 ก.ย.67 ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลดีกับลูกหนี้ทุกราย ประกอบด้วย

1.กลุ่มผู้ได้เงินคืนจำนวน 2.89 แสนบัญชี เป็นเงิน 3,399 ล้านบาท

2.กลุ่มที่มียอดหนี้ลดลง 3.54 ล้านบัญชี ยอดหนี้ลดลง 4.62 หมื่นล้านบท

3.กลุ่มที่มียอดหนี้เท่าเดิม 755 บัญชี

4.กลุ่มที่หนี้หมด (ปิดบัญชีการกู้) 80 บัญชี

นายลวรณ กล่าวว่า กยศ. อยากให้ผู้ที่อยู่ในทั้ง 4 กลุ่มดังกล่าว ตรวจสอบสถานะของตนเอง ผ่านเว็บไซต์ของ กยศ. เพื่อเช็คว่าตนเอง อยู่ในกลุ่มผู้กู้ที่ได้รับเงินส่วนคืนหรือมีการปรับยอดโครงสร้างหนี้ใหม่ให้ลดลง หรือไม่ เนื่องจากในขณะนี้ มีผู้กู้แจ้งความประสงค์ขอเงินคืนเพียง 26,463 บัญชี เป็นเงิน 426.5 ล้านบาท หรือเพียง 10% จากผู้ที่ต้องได้รับเงินคืนทั้งหมดเท่านั้น

ซึ่งถือเป็นจำนวนน้อยมากทั้งที่ลูกหนี้ได้เงินของตัวเองคืน ซึ่ง กยศ. พร้อมจะคืนเงินทั้งหมดภายในเดือน พ.ค. 2568 ส่วนผลการการลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้ของกลุ่มยอดหนี้ลดลง 3.54 ล้านบัญชี พบว่ามีผู้มาลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้ประมาณ 6 แสนบัญชีเท่านั้น

ส่วนกรณีที่ กยศ. หักเงินผู้กู้ยืมเพิ่มจากเดิมเดือนละ 3,000 บาท ทำให้ผู้กู้มียอดชำระหนี้ต่อเดือนเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากมียอดค้างชำระหนี้ก่อนหักเงินเดือนหรือผู้กู้ไม่ชำระส่วนต่างๆ และยังไม่ยอมมาลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งมีจำนวน 5.1 แสนบัญชี

โดยในจำนวนนี้หลังได้รับแจังจาก กยศ. มีผู้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ 2 แสนบัญชี ปิดบัญชี 4.2 หมื่นบัญชี ทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 3,000 บาท แต่ยังเหลืออีก 2.6 แสนบัญชี ที่ไม่ได้มาลงทะเบียน ทำให้ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 3,000 บาท ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2568 ที่ตัดยอดในวันที่ 17 ของทุกเดือน และหากไม่มาปรับโครงสร้างก็จะต้องจ่ายเพิ่มเดือนละ 3,000 บาทต่อไปเรื่อยๆ

ทั้งนี้สำหรับงวดชำระหนี้ในเดือนพฤษภาคม นี้ ทาง กยศ.ได้ขยายระยะเวลาเพื่อให้ลูกหนี้ติดต่อเข้ามาขอปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มอีก 8 วัน เป็นวันที่ 24 พ.ค. จากเดิมที่จะต้องชำระหนี้ในทุกวันที่ 17 ของเดือน เพื่อให้ลูกหนี้ ไม่โดนหักเงินเพิ่ม 3,000 บาท

“ยกตัวอย่างผู้กู้ยืม มียอดหนี้เดิม 2.79 แสนบาท ต้องชำหนี้ต่อเดือน 1,620 บาท บวกกับที่ถูกเก็บเพิ่มอีก 3,000 บาท รวมเป็น 4,620 บาท แต่เมื่อเข้ามาในระบบปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้หนี้ลดลงเหลือ 8.49 หมื่นบาท มีภาระชำระหนี้เดือนละ 480 บาท และไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 3,000 บาท ให้มีปัญหาอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน” ปลัดคลัง กล่าว

ด้าน น.ส.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงถึงกรณีที่ผู้กู้ยืมได้มาร้องเรียน ว่ามีการแสดงยอดชำระหนี้ที่ไม่ตรงกัน ในแอปพลิเคชัน กยศ. คอนเน็กซ์ กับ เว็บไซต์ ของกยศ. ว่า ตอนนี้ ยอมรับว่าระบบมีปัญหาจริง จึงอยากขอให้ลูกหนี้ เช็คยอดชำระหนี้ ในเว็บไซต์ของ กยศ. เท่านั้น

ส่วนแอปพลิเคชัน กยศ. คอนเน็กซ์ ให้ใช้เป็นช่องทางชำระหนี้ตามปกติ ซึ่งภายในอาทิตย์หน้า หรือเร็วๆนี้ ทางเจ้าหน้าที่ ที่ดูแลระบบดังกล่าว จะปิดระบบเช็คยอดชำระหนี้ในแอปพลิเคชัน เพื่อไม่ให้เกิดการสับสน และจะมีการอัพเดทข้อมูลให้ตรงกันต่อไปในอนาคต

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.