38 อสังหาฯ ในตลาดหุ้น ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 68 ทั้งรายได้และกำไรลดลงต่อเนื่อง 21.04% และ 47.63% ตามลำดับ ขณะที่มีถึง 19 บริษัทประสบปัญหาขาดทุน
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์จำกัด (LWS) บริษัท วิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าบริษัทได้รวบรวมผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1 ปี 2568 ของ 38 บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่ารายได้และกำไรสุทธิ ลดลง 21.04% และ 47.63% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับ ไตรมาสแรก ปี 2567 โดยมีรายได้รวม 56,134.39 ล้านบาท และกำไรสุทธิรวมที่ 2,860.15 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามบริษัทที่มีรายได้สูงสุด 10 อันดับแรกรวมกันอยู่ที่ 39,731.58 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 70.77% ของรายได้รวมทั้ง 38 บริษัท ขณะที่บริษัทที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 10 อันดับแรก มีกำไรสุทธิรวมกันได้ 3,584.59 ล้านบาท สูงกว่ากำไรสุทธิรวมของ 38 บริษัท เนื่องจาก พบว่ามีถึง 19 บริษัท มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ
ทั้งนี้จากการชี้แจงของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงสาเหตุที่รายได้และกำไรลดลง เป็นผลมาจากมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจำนวนมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ก่อนที่มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองของภาครัฐ จะสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2567 ส่งผลให้ยอดขายและรายได้ในไตรมาสแรกของปี 2568 ชะลอตัว
เนื่องจากผู้ซื้อที่อยู่อาศัยชะลอการตัดใจซื้อ เพื่อรอรัฐบาลประกาศมาตรการต่ออายุลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง จากภาครัฐ ขณะที่ความไม่แน่นอนและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่กระทบกับเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ชะลอการตัดสินใจซื้อ
ขณะเดียวกัน จากการที่รายได้และกำไรที่ลดลงของ 38 บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ความสามารถในการทำกำไรเฉลี่ยของ 38 บริษัท ช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.09% จาก 7.68% ในไตรมาสแรก ของปี 2567
จากการเก็บรวบรวมข้อมูล ยังพบด้วยว่า สินค้าคงเหลือบวกกับสินค้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ทั้ง 38 บริษัท ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 อยู่ที่ 718,904.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ 716,560.50 ล้านบาท ในขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 9 เดือนหลังของปี 2568 นี้ มีแนวโน้มการฟื้นตัวจากมาตรการผ่อนคลาย LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย และ การขยายเวลาลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองลงมาอยู่ที่ 0.01% ที่มีผลถึงวันที่ 30 มิ.ย.2569