20 พ.ค.นี้ เปิดใช้ฟรี รถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานีอิมแพ็ค-ทะเลสาบเมืองทองธานี
ข่าวสด May 16, 2025 08:40 PM

20 พ.ค.นี้ เปิดใช้ฟรี รถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย สถานีอิมแพ็ค-ทะเลสาบเมืองทองธานี ช่วงทดสอบเดินรถ ก่อนให้บริการเต็มรูปแบบ 17 มิ.ย. 2568

วันที่ 16 พ.ค. 2568 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูส่วนต่อขยาย สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01) และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02)

โดยมี นายมนตรี ตั้งเจริญถาวร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายมนตรี เดชาสกุลสม ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม. ร่วมตรวจความพร้อม

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ รฟม. กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ซึ่งเปิดให้บริการแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) มีระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการ 30 สถานี

โดยมีเส้นทางเชื่อมต่อการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออก ฝั่งเหนือ และจังหวัดนนทบุรี และได้มีการพัฒนาในส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ประกอบด้วย 2 สถานี คือ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01) และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02)

มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อที่สถานีเมืองทองธานี (PK10) เข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 ระยะทางประมาณ 2.8 กิโลเมตร ความถี่ในการให้บริการทุก 10 นาทีต่อเที่ยว ประมาณการรองรับผู้โดยสารที่ประมาณ 13,800 คน/วัน

ซึ่งปัจจุบันภาพรวมโครงการมีความก้าวหน้ากว่า 98% โดยจะเปิดให้ประชาชนบริการฟรีในช่วงทดสอบเดินรถในวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ก่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2568

สำหรับในช่วงเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรีในช่วงทดสอบเดินรถตั้งแต่เวลา 06.00 – 22.00 ในวันธรรมดา ส่วนช่วงวันหยุดจะขยายเวลาให้บริการเป็น 06.00 – 23.30 น.

โดยสถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01) สามารถเดินทางต่อไปยังมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (ทางออกที่ 1), โรงเรียนวัดผาสุกมณีจักร (ทางออกที่ 2), อิมแพ็ค เมืองทองธานี (ด้วยทางเดิน Skywalk เชื่อมต่อทางออกที่ 3) และซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 (ทางออกที่ 4)

ขณะที่สถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02) สามารถเดินทางต่อไปยัง ทะเลสาบเมืองทองธานี (ทางออกที่ 1), ซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 (ทางออกที่ 2), สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ (ทางออกที่ 3) และอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ทางออกที่ 4)

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ได้เน้นย้ำกรมการขนส่งทางราง รฟม. กำกับดูแลการให้บริการในเรื่องการปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกด้วยการเพิ่มความถี่รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเวลาที่มีกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่เมืองทองธานี ซึ่งจะมีการเดินทางที่หนาแน่น เพื่อให้เกิดความความมั่นใจแก่ประชาชนในทุกด้าน

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ นี้ ถือเป็นการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ตอบโจทย์กับพฤติกรรมการเดินทางของประชาชน เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่องสู่ทุกภูมิภาคเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งสาธารณะโดยรวม และพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าให้เชื่อมโยงการเดินทางจากสถานีขนส่งสู่แหล่งท่องเที่ยว พื้นที่เศรษฐกิจ หรือย่านที่พักอาศัย

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.