“84 ปี หรือ 7 รอบ ถือเป็นข่วงเวลาที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เกิดในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผ่านนายกรัฐมนตรีมาทั้งหมด 27 คน และผ่านรัฐธรรมนูญมา 19 ฉบับ” อดิศักดิ์ ศรีสม ผู้ดำเนินรายการกล่าวเปิดการสนทนา
มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับมิตรสหาย และลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ พร้อมใจจัดงานเสวนา “84 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับสังคมการเมืองสยามประเทศไทยและอุษาคเนย์” ในช่วงเย็นของวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ที่มติชนอคาเดมี
ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล, รศ.ดร.นันทนา นันวโรภาส, รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และดำเนินรายการโดย นายอดิศักดิ์ ศรีสม
บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก อบอุ่น เป็นกันเอง มีนักวิชาการ นักเขียน นักธุรกิจ และคนดังในแวดวงหนังสือเข้าร่วมงานจำนวนมาก อาทิ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข, จรัญ หอมเทียนทอง, ศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, ผศ. อัครพงษ์ ค่ำคูณ, สมชาย แซ่จิว, สมฤทธิ์ ลือชัย, สุรวุฒิ เชิดชัย และ เสถียร เสถียรธรรมะ เป็นต้น
โดยมี นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานเครือมติชน น.ส.ปานบัว บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหารในเครือมติชน ร่วมให้การต้อนรับ
ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวว่า รู้จักกับ อ.ชาญวิทย์ เพราะได้เรียนด้วยตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 1 อ.ชาญวิทย์ได้บ่มเพาะคนหลายรุ่น ให้เป็นปัญญาชนสาธารณะที่ขยันขันแข็ง และมีความคิดเสรีนิยมก้าวหน้าหรือประชาธิปไตย อย่างที่อาจารย์เป็น
อ.ชาญวิทย์มีความสนใจความเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นครูผู้ไม่มีอีโก้ มองคนในแง่ดี มีความคิดไปทางเสรีนิยมแบบฝรั่ง และมีความตื่นเต้นอยากรู้
ที่สำคัญ อ.ชาญวิทย์เป็นคนมีความหวัง จะเรียกว่าความเชื่อสวยหรูว่าโลกย่อมดีขึ้นก็คงไม่ผิด ความเชื่อข้อนี้กับการมีความหวังของคนรุ่นใหม่ เกี่ยวเนื่องและแยกกันไม่ออกสำหรับ อ.ชาญวิทย์
“อ.ชาญวิทย์” ตื่นเต้นมาก เมื่อคนรุ่นใหม่อยากได้รัฐธรรมนูญ เมื่อคนรุ่นใหม่อยากสร้างฟ้าสีทองผ่องอำไพ เมื่อคนรุ่นใหม่อยากให้จบในรุ่นเรา แม้ทั้งหมดนั้นจบลงอย่างไม่สวยหรู แต่ความหวังของ อ.ชาญวิทย์ ก็หล่อเลี้ยงด้วยความหวังของเยาวชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า จึงไม่มีทางดับลงสนิท”
รศ.ดร. นันทนา นันทวโรภาส เผยว่า สาเหตุที่เลือกเรียนประวัติศาสตร์เพราะ อ.ชาญวิทย์ สอนอยู่ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นมีคนเรียนกันอยู่ 10 คน แม้เรียนจบมาจะไม่ได้เอาวิชาประวัติศาสตร์ไปทำมาหากิน แต่ได้นำกระบวนวิธีคิดตั้งแต่ตอนเรียนมาใช้ จนตอนนี้เป็น สว. ก็ยังมีกระบวนคิดที่รับมาจาก อ.ชาญวิทย์ อยู่
อ.ชาญวิทย์เป็นน้ำที่ไม่เคยเต็มแก้ว พร้อมเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้คนอยู่ตลอดเวลา ทั้งอ่าน ฟัง เดินทางเรียนรู้ และสนุกไปกับมัน เปรียบเสมือนหนังสือ “โจนาธาน ลิฟวิงสตันนางนวล” (JONATHAN LIVINGSTON SEAGULL) เพราะนกนางนวลที่ชื่อชาญวิทย์ไม่เคยพอใจกับชีวิตที่ผ่านไปวัน ๆ แต่จะพยายามแสวงหาความหมาย และฝึกฝนตัวเองอยู่ตลอดเวลา ให้ทันโลกทันสมัย
อ.ชาญวิทย์ เป็นนักประวัติศาสตร์ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ไฟในตัวยังลุกโชน อยากผลักดัน แก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องต่าง ๆ โดยฝันจะเห็นประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และความเท่าเทียม ผ่านการพูด เขียน และลงมือผลักดัน เป็นการทำงานวิชาการที่เปลี่ยนแปลงสังคมโดยแท้
แม้ว่า อ.ชาญวิทย์ จะเป็นนักประวัติศาสตร์ไทย แต่เอกลักษณ์คือ การมองประวัติศาสตร์ไทยไม่แยกออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประวัติศาสตร์โลก ซึ่งเป็นการเรียนที่เชื่อมโยง และทำให้ผู้เรียนตื่นตาตื่นใจ เห็นโลกทั้งใบ อยู่กับความเป็นจริง “ไม่เคยปั่นให้ไทยวิเศษกว่าประเทศเพื่อนบ้าน” นี่คือแบรนดิ้งของ อ.ชาญวิทย์
“อ.ชาญวิทย์ คือครูที่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับดิฉันและครอบครัว เป็นครูที่ไหว้ได้ นอบน้อมได้จากจิตวิญญาณของเรา และเป็นครูที่เราตะโกนบอกสังคมได้อย่างภาคภูมิใจว่า ฉันเป็นลูกศิษย์อ.ชาญวิทย์” รศ.ดร. นันทนา กล่าว
รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เผยว่า ได้พบกับ อ.ชาญวิทย์ เมื่อปี 2530 ในการฟังบรรยายประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่เด็กรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องเรียน
สิ่งที่ได้จากอ.ชาญวิทย์ คือเวลาไปสังสรรค์ จะได้นั่งฟังการพูดคุยเเลกเปลี่ยนความคิดของอาจารย์กับคนที่ผ่านมาผ่านไป และทำให้รู้ว่า “ทำไมโลกวิชาการจึงสนุกเช่นนี้” ยิ่งถ้าวันไหน “ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์” มาด้วยยิ่งสนุกมาก ทำให้เราเติบโตอย่างไม่รู้ตัว
อ.ชาญวิทย์ ชอบท่องเที่ยวและชอบพาคนอื่นไป ทำให้เราได้เปิดโลกมากขึ้น เช่น ทริปเที่ยวผามออีแดง เพื่อดูปราสาทพระวิหาร ในสมัยที่ชายแดนเพิ่งเปิด เป็นต้น
อีกสิ่งหนึ่งที่ได้จาก อ.ชาญวิทย์ คือการทำหนังสือ เรื่อง “จาก 14 ถึง 6 ตุลา” ซึ่งได้เป็นบรรณาธิการร่วมในครั้งนั้น ภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือ อาจารย์ให้หารูปประกอบให้เยอะที่สุด และเขียนคำอธิบายใต้รูปให้ยาวที่สุด ซึ่งยากมาก ทำให้เราต้องไปนั่งหาความรู้เพิ่มเติมอีกมาก
นอกจากนี้ หนังสือของ อาจารย์ที่ทำให้อินกับประวัติศาสตร์การเมืองมากคือ “ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475-2500” ซึ่งเป็นเล่มเอกอุของอาจารย์ โดยผมได้รับหน้าที่ปรูฟและใส่อ้างอิง
“การได้รู้จักกับ อ.ชาญวิทย์ มันทำให้ตัวผมได้ท่องเทียว ได้เข้าใจโลก ได้รู้เรื่องการเมืองไทย รู้เรื่องเดือนตุลา จากการเป็นเด็กถือกระเป๋าให้ อ.ชาญวิทย์” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าว
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ กล่าวว่า อยากให้มีคนเขียนหนังสือชีวประวัติของ อ.ชาญวิทย์ เพราะการเข้าใจประวัติชีวิตอาจารย์จะทำให้เข้าใจสังคมไทยสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ
คุณูปการของ อ.ชาญวิทย์ ที่โดดเด่นที่สุด คือ การสร้างลูกศิษย์ในวงวิชาการ นี่คือคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ เรามีนักวิชาการจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสร้างลูกศิษย์ได้เท่านี้
คุณูปการต่อมาคือการศึกษาเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นรูปเป็นร่าง เป็นตัวเป็นตน เป็นที่เป็นทาง ในสังคมไทย “ทำให้เราไม่ติดกับดักชาตินิยม”
อีกคุณูปการคือ อ.ชาญวิทย์ เชื่อมโลกประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยสู่สังคม เพราะอาจารย์เป็น “ปัญญาชนสาธารณะ” เอาเรื่องประวัติศาสตร์ที่ยากมาย่อยง่ายและให้สังึมเข้าถึง ทำให้ประวัติศาสตร์มีเส่นห์ เชื่อมโยง พ.ศ. และ ค.ศ. ให้นักศึกษาเข้าใจว่าไทยอยู่ตรงไหนในประวัติศาสตร์โลก
“ไม่ใช่แค่ทำให้คนสนใจประวัติศาสตร์ แต่อาจารย์พยายามเตือนให้คนต้องเท่าทันประวัติศาสตร์ด้วย เพราะแก่นเเท้ของวิชาประวัติศาสตร์ไม่สอนเกี่ยวกับอดีต แต่สอนเรื่องความเปลี่ยนแปลง”
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า แม้จะไม่เคยเป็นลูกศิษย์ของ อ.ชาญวิทย์ ในห้องเรียน แต่เป็นลูกศิษย์ผ่านตัวอักษร แม้จะเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่สนใจด้านสังคมศาสตร์ จึงอ่านหนังสือของอาจารย์และนักวิชาการอีกหลายท่าน ซึ่งมีผลต่อความคิดของตัวเองเป็นอย่างมาก ในวันที่ตัวเองเริ่มสนใจปัญหาสังคม และการเมือง
การต่อสู้ทางความคิด อุดมการณ์ทางการเมือง และการช่วงชิงตีความประวัติศาสตร์ของไทย มีชื่อ อ.ชาญวิทย์ เป็นผู้ถากถางทางให้กับลูกศิษย์ทุกสาขา และคนรุ่นหลังได้เดินตาม
อ.ชาญวิทย์ มีความกล้าหาญ เพราะเวลาเรามีชื่อเสียงทางสังคม หลายคนมักจะสงวนท่าทีในเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือประกาศท่าทีในเวลาต่อมาเมื่อจุดยืนหนึ่งได้รับการตอบรับจากสังคมเเล้ว แต่อาจารย์ไม่ใช่แบบนั้น เพราะพร้อมประกาศท่าทีในช่วงเวลาที่สำคัญอยู่เสมอ เพื่อเป็นหมุดหมายให้กับผู้คน
อาจารย์ไม่เคยปฏิเสธ ที่จะใช้ต้นทุนทางสังคมและทางวิชาการของตัวเอง ในการยืนหยัดในหลักการที่ถูกต้อง และรณรงค์ต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย นี่คือคุณสมบัติที่หายากมาก เพราะคนมีต้นทุนสูงมักจะสงวนท่าที ธนาธร กล่าว