“เทวกรรมโอสถ” งัด 2 ยุทธศาสตร์รับมือตลาดแก้ปวดแข่งเดือด-นักท่องเที่ยวหด ลบภาพสินค้านักมวย-แตกไลน์สินค้านวัตกรรม ขยายฐานจับคนเล่นกีฬา-พนักงานออฟฟิศ พร้อมขยายตลาดนอกประเทศ ส่ง “มวย” หัวหอกรุกตลาดโลก ลุยเฟ้นพาร์ตเนอร์ปักธงสหรัฐ-ยุโรป-ตะวันออกกลาง ตั้งเป้ารายได้โต 20% ทั้งไทย-เทศ
นางสาวอธิชาภรณ์ จันทร์ประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทวกรรมโอสถ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์บรรเทาปวดและสุขภาพ อาทิ น้ำมันมวยแบรนด์ “มวย”, ปลาสเตอร์บรรเทาปวด “นีโอบัน” (Neobun) และปลาสเตอร์ปิดแผล “นีโอพลาสท์” (Neoplast) กล่าวว่า ตลาดผลิตภัณฑ์บรรเทาปวดในปี 2568 นี้มีทั้งโอกาสที่สามารถนำมาสร้างการเติบโต และความท้าทายที่ต้องหาทางรับมือ
โดยในส่วนของโอกาสนั้น ตลาดผลิตภัณฑ์บรรเทาปวดมีแนวโน้มเติบโตดับเบิลดิจิต ซึ่งเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยตั้งแต่หลังการระบาดของโรคโควิด-19 และเชื่อว่าจะเติบโตต่อเนื่องในอนาคต ด้วยแรงหนุนจากปัญหาสุขภาพด้านอาการปวดและปัญหาออฟฟิศซินโดรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมถึงมีโอกาสใหม่ ๆ จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น จึงมีดีมานด์สินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
เห็นได้จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่คาดการณ์ว่า ในปี 2593 ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยด้วยอาการปวดหลังส่วนล่างจำนวน 843 ล้านราย ส่วนในไทยข้อมูลจากศูนย์บริการการแพทย์แผนไทยของรัฐ ระบุว่า เมื่อปี 2567 มีผู้เข้ารับการรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมสูงถึง 483,850 ราย ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนศักยภาพทางธุรกิจของผลิตภัณฑ์บรรเทาปวดทั้งในไทยและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ตลาดผลิตภัณฑ์บรรเทาปวดในไทยยังมี 2 ความท้าทายที่ผู้เล่นทุกรายต้องหาทางรับมือ คือสภาพการแข่งขันที่ดุเดือดมาก จากผู้เล่นทั้งแบรนด์ไทยและต่างชาติ ซึ่งส่งสินค้าหลากรูปแบบเข้าสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นแผ่นแปะ, น้ำมัน, เจล, สเปรย์ และครีม อีกปัจจัยคือ การลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนซึ่งเป็นหนึ่งในฐานลูกค้าสำคัญ ขณะที่ผู้ที่มาเที่ยวยังจับจ่ายลดลงด้วย
นางสาวอธิชาภรณ์กล่าวต่อไปว่า เพื่อชิงต่อยอดโอกาสและรับมือความท้าทาย ในปี 2568 นี้ ซึ่งเป็นจังหวะก้าวสู่ปีที่ 80 ของ “เทวกรรมโอสถ” บริษัทจะเดินหน้า 2 ยุทธศาสตร์หลักคือ มุ่งสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ด้วยการต่อยอดโพซิชั่น-การรับรู้แบรนด์ผลิตภัณฑ์บรรเทาปวด ทั้งมวย, นีโอบัน รวมถึงนีโอพลาสท์ ไปสู่ผลิตภัณฑ์บรรเทาปวดรูปแบบใหม่ ๆ ที่ทันสมัยและหลากหลายขึ้น เพื่อชิงโอกาสจากกระแสความต้องการผลิตภัณฑ์บรรเทาปวด และชดเชยการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
พร้อมกับรุกออกไปทำตลาดในต่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเอเชียและยุโรป เพื่อต่อยอดดีมานด์ของนักท่องเที่ยวมาสร้างการเติบโตในระยะยาว
โดยตามแผนการสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่นั้น ในแบรนด์มวย จะมุ่งลบภาพลักษณ์การเป็นสินค้าสำหรับนักมวยเท่านั้นออก เพื่อขยายฐานไปยังผู้เล่นกีฬาชนิดอื่นและผู้ออกกำลังกาย ผ่านการสื่อสารย้ำโพซิชั่นการบรรเทาปวดจากการเล่นกีฬา-ออกกำลัง พร้อมสินค้าใหม่ Muay Patch แผ่นเจลประคบเย็นตรามวย ที่พัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีไฮโดรเจล ผสมน้ำมันเปปเปอร์มินต์และเมนทอล สำหรับใช้ประคบเย็นบรรเทาเมื่อยล้า และเพิ่มความสดชื่น
หลังก่อนหน้านี้เปิดตัวน้ำมันมวยรูปแบบใหม่ ทั้งน้ำมันมวยขวดสเปรย์, สเปรย์เย็น, ครีม ฯลฯ ออกมาแล้ว การเปิดตัวแผ่นเจล จึงทำให้ปีนี้แบรนด์มวยมีสินค้าครบทุกฟอร์แมต พร้อมสำหรับทำตลาดเต็มที่
“เราเชื่อว่ายาแก้ปวดที่ดีที่สุดสำหรับกีฬามวย ก็น่าจะเป็นยาแก้ปวดที่ดีที่สุดสำหรับทุกกีฬาด้วยเช่นกัน”
ส่วนแบรนด์นีโอบัน ซึ่งเป็นปลาสเตอร์ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ ปีนี้จะมุ่งเจาะกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ที่มีปัญหาอาการปวดจากออฟฟิศซินโดรม ประเดิมด้วย 2 สินค้าใหม่ นีโอบัน จัมโบ้ ปลาสเตอร์ไซซ์ใหญ่สำหรับคอ, บ่า, ไหล่ และนีโอบัน แบค เพน สำหรับกลางหลังและหลังล่าง ซึ่งเป็นเพนพอยต์ของผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรม
ด้านแบรนด์ปลาสเตอร์ปิดแผลนีโอพลาสท์ จะมุ่งสร้างฐานลูกค้ากลุ่มครอบครัว ด้วยปลาสเตอร์สำหรับเด็ก ที่มีจุดเด่นเป็นลวดลายไดโนเสาร์ และไม่ใช้กาวยางพารา เพื่อให้อ่อนโยนต่อผิว ตอบโจทย์ความต้องการของครอบครัวยุคใหม่ที่มองหาผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้
ด้านแผนรุกตลาดต่างประเทศนั้น จะใช้แบรนด์มวยเป็นหัวหอกหลัก เพื่ออาศัยหนุนจากซอฟต์พาวเวอร์ของไทยอย่างกีฬามวยและมวยไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ควบคู่กับรากฐานความเป็นภูมิปัญญาไทย โดยจะมุ่งตลาดโซนเอเชีย ตามด้วยสหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป ทั้งนี้ดูจากข้อมูลอินไซต์การจับจ่ายของนักท่องเที่ยว เช่น แบรนด์มวยขายดีในหมู่ชาวยุโรป และจีนที่นิยมซื้อแบบน้ำมันและครีม ด้านชาวเอเชียนิยมนีโอบันและนีโอพลาสท์ส่วนตะวันออกกลางนิยมนีโอบัน เป็นต้น
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกพาร์ตเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านข้อกฎหมายเกี่ยวกับสินค้าสุขภาพในประเทศนั้น และความพร้อมที่จะร่วมสร้างแบรนด์ในระยะยาว หลังที่ผ่านมามีพาร์ตเนอร์ในบางประเทศแล้ว เช่น เมียนมา ฮ่องกง ลาว กัมพูชา และบางประเทศในยุโรป
“ตลาดจีนแม้จะมีศักยภาพ แต่มีความท้าทายด้านกฎหมายเกี่ยวกับสินค้าสุขภาพ จึงอาจต้องใช้เวลาเตรียมการมากกว่าตลาดอื่น ๆ”
นางสาวอธิชาภรณ์ย้ำความมั่นใจว่า ด้วยยุทธศาสตร์เหล่านี้จะช่วยให้แบรนด์มวยเป็นที่รู้จักในตลาดโลก และผลักดันรายได้ทั้งในและต่างประเทศเติบโตดับเบิลดิจิตต่อเนื่องทุกปี รวมถึงเพิ่มสัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศจากประมาณ 10% ในปัจจุบัน เป็นมากกว่า 20% ภายใน 3 ปี ตามที่ตั้งเป้าไว้