“เป้าการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีหน้าอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ถ้าผมไม่ทำอะไรเลย อย่างที่เพิ่มประสิทธิภาพ เหมือนที่ทำทุกวันนี้ อะไรที่กรมควรจะทําและไม่เคยทํา ก็ให้ทํา แต่ก็ขึ้นได้แค่จุดหนึ่ง ดังนั้น จึงต้องหาภาษีตัวใหม่มาเพื่อเพิ่มรายได้รัฐบาล” นี่เป็นคำประกาศของ “ปิ่นสาย สุรัสวดี” อธิบดีกรมสรรพากร ที่เปิดใจคุยกับสื่อมวลชน
นายปิ่นสายกล่าวว่า โชคดีที่ตอนนี้กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ต.ค. 67-เม.ย. 68) ได้ 1,138,182 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 47,325 ล้านบาท และสูงกว่าประมาณการ 17,950 ล้านบาท ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เคยประเมินว่า ถึงสิ้นปีงบประมาณนี้ กรมสรรพากรอาจจะจัดเก็บรายได้ติดลบ 36,000 ล้านบาท
“ผมถาม สศค.ว่า หากติดลบ 36,000 ล้านบาท รับได้ใช่ไหม ซึ่งผมมีการหารือกับเจ้าหน้าที่สรรพากรตลอด ก็ขอให้ทําหน้าที่ดีที่สุด ทั้งเรื่องจัดเก็บรายได้ หรืออะไรที่ควรทํา เราก็ต้องทํา”
ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์จัดเก็บรายได้ช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค.นี้ รายได้จะลดลง เนื่องจากการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลปลายปี จะหายไปกว่า 15,000 ล้านบาท จากนั้น ภาษีนิติบุคคลกลางปีที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 อีก ส่วนนี้จะติดลบหนักอีกแค่ไหนยังไม่ประเมินไม่ได้ คงต้องติดตามต่อไป
“ที่ห่วงจริง ๆ คือปีหน้า เพราะเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ในปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาท จากเป้าหมายปีงบประมาณ 2568 แค่ปีนี้ก็ชะลอตัวลงแล้ว ปีหน้าต้องเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท แล้วเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ เหนื่อยแน่นอน แต่ถึงอย่างนั้น กรมสรรพากรก็จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ ซึ่งตอนนี้ก็ทำอยู่เต็มที่”
อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า อีกวิธีในการเพิ่มรายได้ คือ กรมต้องไปคิดภาษีใหม่ ๆ ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ ดังนั้น ก็มีการศึกษาเรื่องนี้มานาน อาทิ ภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ที่เป็นกฎหมายเก่า แต่ปัจจุบันยกเว้นจัดเก็บ, การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT), การเก็บภาษีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งทุกอย่างมีผลศึกษาอยู่แล้ว เหลือเพียงแต่รัฐบาลจะตัดสินใจ ว่าสุดท้ายแล้วจะเอาอย่างไร
“อย่างภาษีการเดินทาง สมัยก่อนที่เคยเก็บคนไทยที่ออกนอกประเทศ จะเก็บครั้งละ 500 บาท/คน ซึ่งกฎหมายให้เก็บเฉพาะคนไทย ถ้าจะเก็บต่างชาติ กฎหมายยังทำไม่ได้ ซึ่งถ้าจะเก็บ ก็ต้องเก็บต่างชาติด้วย และต้องแก้ พ.ร.บ. ส่วนภาษีหุ้นมองว่า อาจจะเก็บเฉพาะคนที่มีหุ้นต่างประเทศที่มาจดทะเบียนในไทย โดยเก็บจากคนที่มีกำไรส่วนต่าง จากราคาหุ้นมือแรกในต่างประเทศ”
ส่วนแนวคิดเรื่องเก็บ VAT ธุรกิจที่มีรายได้ 1.5 ล้านบาท/ปีนั้น ยอมรับว่า ตอนนี้กรมสรรพากรมีการศึกษาอยู่ 5-6 วิธี เพียงแต่ยังตอบไม่ได้ ว่าจะดึงแบบไหนมาใช้
“แต่ไม่ว่าจะทําอะไรก็ตาม วัตถุประสงค์จริง ๆ มีข้อเดียวเพื่อจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมาย หากถามว่าจะเริ่มได้ตอนไหน ก็สามารถเริ่มได้เลย แต่ถ้าเริ่มต้นให้ดี ก็ต้องเป็นรอบ คือเดือน ต.ค. แต่ว่าถ้าถามผมตอนนี้ ก็คงยังไม่เก็บ เพราะดูหลายอย่าง หากเก็บแล้วไม่ได้ต่างกันเลยกับปัจจุบัน”
อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวอีกว่า ยังมีอีกทฤษฎีหนึ่ง เกี่ยวกับภาษี VAT ก็คือ ตอนนี้ผู้ประกอบการที่ต้องจด VAT ต้องมีรายได้ 1.8 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป ซึ่งมีธุรกิจที่อั้นรายได้ไว้ที่ 1.7 ล้านบาท ตรงนี้ ก็กระทบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
ดังนั้น หากปรับขึ้นจากรายได้ 1.8 ล้านบาท เป็น 2.4 ล้านบาท จะเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นด้วย เพียงแต่ว่าสุดท้าย ทําแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ หรือจะไม่ขึ้นเลยก็ได้ แต่จะให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรตรวจแบบเต็มที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ นโยบายต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่ที่ทางรัฐบาลตัดสินใจ
ขณะที่การเก็บภาษีจากธุรกิจต่างชาติ ก็ยังพบว่ามีการแตกบัญชีแยกออกไป กรมก็มีความตั้งใจที่อยากจะให้ความสําคัญ ซึ่งตอนนี้ก็คุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากคนไทยเสียภาษี ใครเข้ามาในประเทศนี้ ก็ต้องเสียภาษีเหมือนกัน
“ในกรณีที่ต่างชาติมาจดทะเบียนสถานประกอบการในเมืองไทย และไม่ได้ทําการซื้อขายเอง ไม่มีประโยชน์ ซึ่งเขาบอกว่าจดก็จริง แต่มาทําเรื่องมาร์เก็ตติ้ง หาลูกค้าในไทย แต่เทรดจริง ๆ อยู่ในแพลตฟอร์มเมืองนอก อันนี้ข้อศึกษาไม่สามารถเก็บได้ ต้องใช้ Pillar 1 ถ้าเราไปทำดิจิทัลเซอร์วิส นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เคยพูดแล้วว่า ไม่ชอบ ถ้าทำแล้วก็จะเกิดปัญหาได้” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว