“พาณิชย์” รุกขานรับแก้ปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำอย่างยั่งยืน-เปิดตลาดรับซื้อเพิ่ม
นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จันทบุรี รับปากแก้ปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำให้เกษตรกร ผ่านกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงพาณิชย์ ขานรับร่วมกับภาคเอกชน ระบายสินค้า พร้อมเร่งขยายฐานตลาดอาเซียน และจีน รองรับผลไม้ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น
จากสถานการณ์ราคาผลไม้ในภาคตะวันออก เช่น มังคุด และเงาะ ราคาตกต่ำติดต่อกันนานกว่า 1 เดือน ทำให้ชาวสวนและเกษตรกรในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากปัจจุบันราคามังคุดในบางพื้นที่ของจังหวัดตราด ตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละ 37 บาท จากที่เคยมีราคา 40-50 บาทต่อกิโลกรัมในช่วงต้นฤดูกาล และราคายังเคยพุ่งสูงถึงเกือบ 100 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2567 จากความต้องการของผู้บริโภคในประเทศจีน โดยปี 2568 คาดว่า ปริมาณผลผลิตผลไม้ 6.736 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.858 ล้านตัน (+15%) ทุเรียน คาดปริมาณผลผลิต 1.76 ล้านตัน (+37%) มะม่วง 1.3 ล้านตัน (+10%)
โดยล่าสุดวันที่ 17 พ.ค.68 นางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากเกษตรกรชาวสวนผลไม้และผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอิทธิ ศิริลัทธยากร, นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ นายพงศกร อรรณพพร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ และ รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดจันทบุรี เข้าร่วม รับฟังปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำจากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี โดยกลุ่มเกษตรเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้ อาทิ ขอให้มีแล็บตรวจทุเรียนในพื้นที่หลักที่มีการผลิต เพื่อยืนยืนคุณภาพสินค้าจากไทย ขอให้มีการนำซอฟต์พาวเวอร์ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ชาวไทย เช่น ลิซ่า ร่วมโปรโมทผลไม้ไทยเพื่อรักษากลุ่มลูกค้าเดิม และจะช่วยขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ เชื่อว่าจะทำให้ยอดขายผลไม้ไทยสูงกว่าเดิม จากปีละ 2 -3 แสนล้านบาทเป็น 5 แสนล้านบาท รวมถึงให้เร่งช่วยแก้ปัญหาการส่งออกล่าช้าเนื่องจากมีตู้ค้างหน้าด่าน 700-1,000 ตู้ โดยนายกรัฐนตรี รับปากจะนำปัญหาและรายละเอียดทั้งหมดไปหารือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรมต่อไป
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน 27 ราย จาก 9 กลุ่มธุรกิจ เข้าร่วมรับซื้อผลไม้จากเกษตรกรรวมกว่า 103,760 ตัน อาทิ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด, ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด, ห้างค้าปลีกอย่างเซ็นทรัล บิ๊กซี โลตัส และยังมีองค์กรสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ไปรษณีย์ไทย ตู้เต่าบิน และกรมราชทัณฑ์ ซึ่งร่วมจัดซื้อผลไม้ไปใช้ในกิจกรรม CSR และสนับสนุนภายในหน่วยงาน ทำให้ช่วยระบายผลไม้ได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ในด้านการส่งออก รัฐบาลตั้งเป้าผลักดันผลไม้ไทยสู่ตลาดต่างประเทศ 4.13 ล้านตัน มูลค่ากว่า 308,000 ล้านบาท โดยเน้นตลาดศักยภาพ เช่น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ CLMV และตะวันออกกลาง ผ่านมาตรการตรวจรับรอง GAP การตั้งศูนย์ “Set Zero” และ War Room เพื่อผลักดันการส่งออกเร่งด่วน รวมถึงกิจกรรมเจรจาการค้าในต่างประเทศ
ขณะที่นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่อยู่ระหว่างนำคณะกระทรวงพาณิชย์เยือนนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 14-18 พ.ค.2568 โดย เดินหน้าสำรวจตลาดผลไม้และผลักดันการส่งออกผลไม้ไทยพรีเมี่ยม พร้อมเยี่ยมชมตลาดค้าส่งฮุยจ่าน และบริษัทนำเข้าผลไม้ IVCsun เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้นำเข้าและขยายช่องทางจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน
นายนภินทร เปิดเผยว่า ได้มาสำรวจความต้องการของตลาดฮุยจ่าน ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งผักผลไม้อันดับ 7 ของจีน โดยได้พบกับผู้นำเข้าผลไม้รายใหญ่จากตลาดอาเซียน 7 ราย โดยมีปริมาณการนำเข้าทุเรียนไทยสูงถึง 85% ของทุเรียนในอาเซียน และยังมีมังคุด ลำไย มะพร้าว ส้มโอ เงาะ และแก้วมังกร ของไทยที่นำเข้ามาจำหน่ายด้วย โดยผู้นำเข้า ยืนยันว่า สำหรับปีนี้ตลาดจีนมีความต้องการผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียน จึงขอให้ประเทศไทยช่วยดูแลเรื่องการขนส่ง โดยทางกระทรวงพาณิชย์ได้แจ้งให้ทางผู้นำเข้าทราบว่า ขณะนี้การขนส่งรวดเร็วขึ้นในทุกด่าน ทั้งในประเทศเวียดนาม ลาว รวมถึงด่านเข้าทางประเทศจีน ในส่วนการควบคุมคุณภาพของผลไม้ไทยส่งออก ได้ทำอย่างเข้มงวด โดยต้องผ่านมาตรการ “4 ไม่” คือ ไม่อ่อน ไม่หนอน ไม่มีการสวมสิทธิ์ และไม่มีสารเคมีต้องห้าม จึงขอให้มั่นใจว่าผู้บริโภคชาวจีนจะได้รับประทานทุเรียนไทยที่มีคุณภาพ อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ สำหรับ 7 มาตรการหลักในการบริหารจัดการผลไม้ปี 2568 ประกอบด้วย 1.สร้างความเชื่อมั่นผลผลิต โดยเร่งตรวจรับรองมาตรฐาน GAP ตั้งศูนย์ “Set Zero” เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพผลไม้ไทย พร้อมตั้ง War room ผลักดันการส่งออก และตั้งชุดเฉพาะกิจเจรจากับจีน 2.ส่งเสริมตลาดในประเทศ เชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า และกระจายสินค้านอกแหล่งผลิต สนับสนุนค่าบริหารจัดการผลไม้ รณรงค์บริโภคผลไม้และส่งเสริม GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) โหลดผลไม้ขึ้นเครื่องฟรี 20 กก. และจัด “บุฟเฟ่ต์ทุเรียน” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
3.ส่งเสริมการแปรรูปและปรับพื้นที่เกษตรให้เหมาะสม โดยเฉพาะผลไม้ที่อยู่ในช่วงกระจุกตัวสูง และมีการสนับสนุนการปลูกพืชสวนแทนพืชไร่ 4.มาตรการส่งเสริมตลาดต่างประเทศ จัดมหกรรมค้าชายแดนและจับคู่ธุรกิจ ส่งเสริมการขายในต่างประเทศและร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ 5.ยกระดับสินค้าผลไม้ไทย ทำประชาสัมพันธ์เชิงรุก และใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เจรจาผ่อนปรนมาตรการทางการค้ากับประเทศคู่ค้า 6.แก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกการค้า ผ่อนปรนการเคลื่อนย้ายแรงงาน และสนับสนุนการคัดแยก-ขนย้าย และ 7.มาตรการกฎหมาย กำหนดให้แสดงราคารับซื้อ ณ จุดรับซื้อทุกวัน เวลา 08.00 น. เข้มงวดการป้องกันและปราบปรามการฉวยโอกาสทางการค้า
ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ ยังเร่งส่งเสริมการส่งออกผ่าน 8 แผนงาน 32 กิจกรรม โดยตั้งเป้าสร้างมูลค่าการค้าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ส่งออกไทย 96 บริษัท กับผู้นำเข้า 63 บริษัท จาก 19 ประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท เร่งขยายตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ผ่าน TopThai Store ในกว่า 10 แพลตฟอร์มทั่วเอเชีย และในงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-ANUGA ASIA 2025 จัดระหว่างวันที่ 27 – 31 พฤษภาคม 2568 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 และ อิมแพ็ค ฮอลล์ 5-12. ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งรัฐบาล พร้อมเดินหน้าผลักดันให้ปี 2568 เป็น ปีทองของเกษตรกรให้ผลไม้ไทยขายได้ราคาดีทั้งในและต่างประเทศ
#กระทรวงพาณิชย์ #แก้ปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ #ข่าววันนี้ #ราคาผลไม้ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์