ซูเปอร์โพลชี้ ‘พนันออนไลน์’ ภัยเงียบอันดับ 1 ในกลุ่มนักเรียน รองลงมา ‘บุหรี่ไฟฟ้า-บูลลี่’ จี้ ศธ.เร่งแก้ด่วน
GH News May 18, 2025 07:06 PM

ซูเปอร์โพลชี้ ‘พนันออนไลน์’ ภัยเงียบอันดับ 1 ในกลุ่มนักเรียน รองลงมา ‘บุหรี่ไฟฟ้า-บูลลี่’ จี้ ศธ.เร่งแก้ด่วน

เมื่อวันที่ 18 พ.ฤษภาคม 2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ภัยเงียบในกลุ่มนักเรียน” ที่จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 17 พฤษภาคม 2568 โดยใช้ทั้งวิธีวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนจำนวน 1,525 ราย แบ่งเป็นนักเรียนมัธยมศึกษา 625 คน ผู้ปกครอง 525 คนและคณะครูและผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 375 คน พบว่า "พนันออนไลน์" คือภัยเงียบอันดับหนึ่งที่ทุกกลุ่มกังวลมากที่สุด ด้วยร้อยละ 54.8% สะท้อนว่าการเข้าถึงแพลตฟอร์มการพนันในหมู่นักเรียนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็น “พฤติกรรมซ้ำซ้อน” ที่ฝังอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กจำนวนมาก การเปลี่ยนมือถือให้เป็น “โต๊ะพนันในมือ” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง คือสัญญาณอันตรายว่าโรงเรียนกำลังถูกแทรกแซงด้วยอุตสาหกรรมพนันที่เจาะเข้าถึงเยาวชนโดยตรง

อันดับรองลงมา ได้แก่ บุหรี่ไฟฟ้า (51.2%) การถูกรังแกหรือบูลลี่ (48.9%) การล่วงละเมิดทางเพศ (45.7%) การพกพาอาวุธ เช่น มีด ปืน ระเบิดปิงปอง (38.4%) การเสพสื่อรุนแรง/ลามก (34.1%) ภัยแฝง เช่น การถูกชักชวนค้าประเวณีหรือค้ายา (33.1%) สิ่งนี้สะท้อนชัดว่า “ภัยเงียบในโรงเรียน” ไม่ได้มีเพียงเรื่องการเรียน แต่ยังพัวพันกับ พฤติกรรมผิดกฎหมาย ความรุนแรง และปัญหาทางเพศ ที่ขยายตัวลึกในโรงเรียนโดยไม่มีระบบคัดกรองที่ทันสมัยเพียงพอ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ ผลสำรวจมุมมองของนักเรียนมัธยมศึกษา พบว่า 56.2% ระบุว่าเพื่อนเล่นพนันออนไลน์ 53.7% เห็นเพื่อนหรือครูสูบบุหรี่ไฟฟ้า 50.8% เคยได้ยินข่าวเพื่อนถูกล่วงละเมิดทางเพศ 44.8% เห็นเพื่อนดูสื่อโป๊/ลามก 31.2% เคยเห็นเพื่อนพกอาวุธเข้าโรงเรียน สิ่งนี้สะท้อนว่า นักเรียนไม่ได้อยู่ห่างจากปัญหา แต่มีประสบการณ์ตรงกับมัน ทั้งในฐานะผู้เห็น ผู้ร่วม และผู้ได้รับผลกระทบ อย่างกรณี บุหรี่ไฟฟ้า ที่ไม่ใช่เพียงพฤติกรรมการเสพ แต่คือกระบวนการ “ทำให้การเสพติดดูดี” และลามเข้ากลุ่มเพื่อนในฐานะวัฒนธรรมกลุ่มที่รัฐยังไม่สามารถควบคุมได้จริง

ทั้งนี้ที่น่าพิจารณาคือ ผลโพลชี้ให้เห็นด้วยว่า ผู้ปกครองมีมุมมองคล้ายคลึงกับนักเรียน พบว่า 56.2% กังวลเรื่องพนันออนไลน์ในหมู่เพื่อนของลูก 53.7% รับรู้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า 44.8% รับรู้การเสพสื่อไม่เหมาะสม 42.8% ทราบข่าวล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน 31.2% ตระหนักเรื่องการพกอาวุธของนักเรียน นี่คือเสียงสะท้อนว่า ผู้ปกครองไม่ได้เพิกเฉย แต่ยังขาดเครื่องมือในการมีส่วนร่วมป้องกัน นอกจากนี้ เมื่อสอบถามมุมมองของครูและผู้บริหาร พบว่า 52.8% พบปัญหาเด็กติดมือถือและเกม 46.9% ยืนยันว่าปัญหายาเสพติดและบุหรี่ไฟฟ้ายังมีอยู่ 41.7% ตระหนักถึงพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ 40.2% กังวลเรื่องปัญหาจิตใจ ครอบครัว และซึมเศร้า และ 38.9% พบพฤติกรรมรุนแรงในโรงเรียน เมื่อครูต้องเผชิญทุกปัญหาทั้งเชิงพฤติกรรม กฎหมาย และสุขภาพจิต พร้อมกับไม่มี “กลไกเฝ้าระวัง” ที่ทันสมัย ย่อมเกิดคำถามว่า “ใครจะเป็นคนดูแลครูให้แก้ปัญหาได้อย่างปลอดภัย”

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ผลโพลยังพบด้วยว่า ประชาชนคาดหวังให้ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาภัยในนักเรียน (สูงถึง 87.2%) รองลงมาคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (85.7%) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (63.2%) กระทรวงสาธารณสุข (57.4%) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (55.6%) น่าสังเกตว่า การที่ “ศธ.” มีคะแนนนำสูงสุดนั้น แปลว่าประชาชนคาดหวังต่อ ศธ. ให้ดูแลใกล้ชิดเพราะ ไม่ต้องการให้โรงเรียนเป็นเพียงสถานที่เรียน แต่ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยของชีวิตและจิตใจเด็ก ๆ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ในยุคที่โรงเรียนไม่ได้เป็นเพียงสถานที่เรียนรู้ทางวิชาการอีกต่อไป แต่ยังเป็น พื้นที่เปราะบางแห่งการต่อสู้ของพฤติกรรมที่มีทั้งภัยแบบเปิดเผยและภัยแบบเงียบซ่อนอยู่เบื้องหลังรอยยิ้มของนักเรียน การทำความเข้าใจภัยเงียบในโรงเรียนจึงไม่ใช่เพียงหน้าที่ของครูและผู้บริหาร แต่คือพันธกิจร่วมของสังคมทั้งระบบ นอกจากนี้ ผลการสำรวจครั้งนี้มิได้ชี้เพียงว่ามีอะไรเกิดขึ้น แต่ยังสะท้อนถึง ความเปราะบางของระบบที่ยังไม่มีเครื่องมือหรือกลไกเพียงพอในการป้องกัน “ภัยเงียบ” ซึ่งลุกลามจากระดับปัจเจกไปสู่ระดับโครงสร้างในระบบของสังคมไทย ความหมายของ “ภัยเงียบ” ไม่ใช่แค่พฤติกรรมเบี่ยงเบน แต่คือ พฤติกรรมที่เติบโตภายใต้การไม่รับรู้ การละเลย หรือระบบที่อ่อนแอ ภัยเงียบเติบโตขยายวงกว้างขวางจนสั่นคลอนโครงสร้างของสังคมเพราะ “ไม่มีใครกล้าพูด” และ “ไม่มีใครฟังจริงจัง” ระบบการศึกษาไทยกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยน เพราะครูเหนื่อย ผู้ปกครองเครียด เด็กขาดภูมิคุ้มกันทางจิตใจและรัฐยังไม่ตอบสนองอย่างเป็นระบบ

โดยข้อเสนอเชิงนโยบาย (เชิงระบบและปฏิบัติได้จริง) ได้แก่ 1) จัดตั้ง “ศูนย์ความปลอดภัยนักเรียนแห่งชาติ” ภายใต้ ศธ. บูรณาการ ศธ. – ตร. – พม. – สธ. – ดีอีเอส – กสทช. พร้อมระบบรายงานพฤติกรรมเสี่ยง 2) สร้าง แอป “Safe School” สำหรับแจ้งเหตุไม่ปลอดภัยแบบไม่เปิดเผยตัวตน มีฟังก์ชันรับฟัง ให้คำปรึกษา และส่งต่อแบบมีระบบ 3) บรรจุ “วิชาภัยเงียบในโลกดิจิทัล” เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร สอนให้เด็กเข้าใจการพนันออนไลน์ อาวุธ วัฒนธรรมการกลั่นแกล้ง และการรู้เท่าทันภัยทางเพศ 4) โรงเรียนต้นแบบ “Safe Zone School” สร้างโรงเรียนที่มีระบบคัดกรอง กล้องวงจรปิด ครูแนะแนว นักจิตวิทยา และเจ้าหน้าที่ประจำ 5) ใช้ Big Data & AI ในการตรวจสอบพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ต่าง ๆ  โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากโรงเรียน ตำรวจ ผู้ปกครอง

“โดยสรุป ทุกภาคส่วนต้องเปลี่ยน ภัยเงียบ ให้เป็น เสียงแห่งการเปลี่ยนแปลง ภัยเงียบของเด็กไทยในวันนี้ จะกลายเป็นวิกฤตชาติในวันข้างหน้า หากเราไม่ยอมฟังเสียงเงียบๆ เหล่านี้ตั้งแต่ตอนนี้ ภัยเงียบจะไม่เงียบอีกต่อไป ถ้าครู กลไกรัฐ และสังคม จับมือกันสร้างโรงเรียนให้เป็น “บ้านที่ปลอดภัย” และเป็นที่พึ่งของเด็กทุกคนอย่างแท้จริง ภัยเงียบจะไม่ใช่ภัยอีกต่อไป หากเรากล้าฟังสิ่งที่เด็กพูด งานวิจัยนี้ไม่เพียงต้องการเผยแพร่ตัวเลข แต่ต้องการให้ตัวเลขเหล่านี้ “กลายเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงนโยบาย” เพื่อสร้างโรงเรียนที่ปลอดภัย สมดุลทั้งวิชาการและชีวิตจิตใจและเป็นพื้นที่แห่งความหวังของเด็กทุกคนในประเทศไทย” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว

#ซูเปอร์โพล #ข่าววันนี้ #พนันออนไลน์ #บุหรี่ไฟฟ้า #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.