แฟ้มภาพ
เปิดมติวิปวุฒิ “มงคล-สว.สีน้ำเงิน”ไม่สนแรงต้าน สั่งเดินหน้าโหวต 3 ป.ป.ช. ศุกร์ 30 พ.ค. มีรองปธ.ศาลฎีกาฯ -อธิบดีอัยการ จับตา อาจมีบางคนโดนตีตกสอยร่วง หากซอยรางน้ำส่งสัญญาณโหวตคว่ำ ถ้าชื่อไม่ตรงปก สภาสูงวิจารณ์ขรม แผนส่งคนคุมคดีชั้น 14 -ร้องเอาผิดทวี และอธิบดีดีเอสไอ
18 พ.ค.2568 – ผู้สื่อข่าวรายงานผลการประชุมคณะกรรมการประสานวุฒิสภาหรือวิปวุฒิสภาเมื่อวันศุกร์ที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมี นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานวิปวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานการประชุมว่า ที่ประชุมมีการหารือเรื่องที่จะมีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในช่วงวันที่ 28-30 พ.ค.ที่สภาฯ จะมีการพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2569 ว่าในส่วนของวุฒิสภา ทางที่ประชุมเห็นชอบให้มีการประชุมวุฒิสภา เป็นเวลาสองวันคือวันพฤหัสบดีที่ 29 พ.ค.และวันศุกร์ที่ 30 พ.ค.
โดยระเบียบวาระการประชุมที่น่าสนใจก็คือ ที่ประชุมวิปวุฒิสภา เห็นชอบให้มีการบรรจุระเบียบวาระเรื่องด่วนสี่เรื่อง ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือก-เห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระและบุคคลสำคัญในองค์กรอื่น ๆ คือ จะมีการประชุมวุฒิสภาวันศุกร์ที่ 30 พ.ค. เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการการเลือกตั้งคนใหม่ คือ นายณรงค์ กลั่นวารินทร์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ที่จะมาแทน นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการ กกต. ซึ่งครบวาระเนื่องจากอายุครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 โดยเป็นแค่ขั้นตอนการตั้งกมธ.สอบประวัติฯเท่านั้นไม่ใช่การโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
รวมถึงที่ประชุมจะมีการตั้งกมธ.สอบประวัติฯ บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่สองคนคือ ศาสตราจารย์ ร.ต.อ.สุธรรม เชื้อประกอบกิจและนายสราวุธ ทรงศิวิไล อดีตอธิบดีกรมทางหลวง รวมถึงตั้งกมธ.สอบประวัติฯ นายอิทธิพร แก้วทิพย์ ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นอัยการสูงสุดคนใหม่ตามที่คณะกรรมการอัยการหรือก.อ.ส่งชื่อมาให้วุฒิสภา
แต่ไฮไลท์สำคัญในการประชุมวันดังกล่าวคือการที่วุฒิสภาจะประชุมลับเพื่อโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นป.ป.ช.ใหม่สามคน ในวันที่ 30 พ.ค.นี้ ได้แก่ นายประกอบ ลีละเปสนันท์ รองประธานศาลฎีกา อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา อดีตประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาให้ถูกเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช.คนใหม่ แทน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตประธานป.ป.ช.ที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว
และยังมีนายเพียรศักดิ์ สมบัติทอง อธิบดีอัยการภาค 2 อดีตอธิบดีสำนักงานคณะกรรมการอัยการ ที่จะมาแทนนายวิทยา อาคมพิทักษ์ และนายประจวบ ตันตินนท์ ผู้สอบบัญชีอิสระ และอดีตผู้บริหารบริษัทมหาชน แทนนางสุวณา สุวรรณจูฑะ โดยนายวิทยาและนางสุวณา พ้นจากตำแหน่งเพราะอายุครบ 70 ปี
ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีกระแสข่าวที่ถูกพูดถึงทางการเมืองว่า การที่สว.สีน้ำเงิน จะผลักดันให้มีการโหวตป.ป.ช.ใหม่สามคนในวันที่ 30 พ.ค.นี้ เป็นเพราะต้องการผลักดันคนเข้าไปเป็นป.ป.ช. เพื่อคุมเสียงข้างมากในป.ป.ช. ในการพิจารณาคดีสำคัญๆ ทางการเมืองเช่น คดีชั้น 14 ทักษิณ ชินวัตรที่ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนฯ เจ้าหน้าที่รัฐ 12 คนไว้แล้ว รวมถึงคำร้องคดีที่สว.สีน้ำเงินเข้าชื่อกันยื่นคำร้องต่อป.ป.ช.ให้ไต่สวนเอาผิด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และพ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีสอบสวนการเลือกสว. หรือคดีฮั้วสว.
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ในช่วงก่อนวันที่ 30 พ.ค. อาจจะมีการส่งสัญญาณจากฝ่ายการเมือง ซอยรางน้ำ มายังสว.ว่าจะให้โหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ รายชื่อว่าที่ป.ป.ช.ใหม่สามคนคนใดบ้าง จากที่ส่งมาสามชื่อ
ซึ่งหลังจากสว.กลุ่มอิสระทราบข่าวว่าวุฒิสภาโดยเฉพาะสว.สีน้ำเงิน จะมีการใช้เสียงข้างมากโหวตเห็นชอบกรรมการป.ป.ช.ใหม่สามคนในวันที่ 30 พ.ค. ก็ทำให้กลุ่มสว.อิสระ เริ่มเคลื่อนไหว ล่ารายชื่อสว.เพื่อยื่นศาลรธน.ขอให้มีคำสั่งให้สว.หยุดปฏิบัติหน้าที่ในการตั้งกมธ.สอบประวัติฯกรรมการองค์กรอิสระ และการโหวตเห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระและตุลาการศาลรธน.ไว้ก่อน ที่จะต้องยื่นให้ศาลรธน.พิจารณาก่อนวันที่ 30 พ.ค.
อย่างไรก็ตาม การยื่นคำร้องดังกล่าวของสว.กลุ่มอิสระ อาจเกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกับองค์กรศาลรธน.ได้เช่นกันเพราะปัจจุบัน ศ.ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบันและนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรธน. อยู่ในตำแหน่งครบวาระตั้งแต่เดือนพ.ย. 2567 แล้ว แต่เนื่องจากตามกฎหมาย ต้องทำหน้าที่ตุลาการศาลรธน.ไปจนกว่าจะมีตุลาการศาลรธน.คนใหม่มาทำหน้าที่แทน
ทำให้หากสว.มีการยื่นคำร้องดังกล่าวไปที่ศาลรธน. ก็เท่ากับ จะทำให้ดร.นครินทร์และนายปัญญา มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย เพราะหากการโหวตตุลาการศาลรธน.คนใหม่สองชื่อ ต้องล่าช้าออกไป จะทำให้ทั้งสองคนก็จะทำหน้าที่ประธานศาลรธน.และตุลาการศาลรธน.ได้ต่อไปเรื่อยๆ อีกนาน จึงทำให้คาดว่าหากมีการยื่นคำร้องไป นายนครินทร์และนายปัญญา อาจต้องถอนตัวในการพิจารณาคำร้องดังกล่าวเนื่องจากมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง.