กัลฟ์ บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ในไทย ลงทุนอะไรบ้างในสหรัฐอเมริกา
แม้จะเห็นภาพเพียงแค่ไม่กี่วินาทีของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด แต่การปรากฏตัวของนายทุนใหญ่ท่ามกลางงานดินเนอร์ที่มีเจ้าภาพเป็นถึงกษัตริย์แห่งกาตาร์ กับการยืนพูดคุยกับประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” สร้างความฮือฮาบนโลกออนไลน์ ทั้งยังได้ข่าวดีที่ว่า สหรัฐส่งสัญญาณบวกในการเจรจา พร้อมรับการลงทุนจากไทยอีกด้วย
มหาเศรษฐีไทยวัย 59 ปี ถือเป็นนักธุรกิจไทยเพียงรายเดียวที่ได้รับเชิญเข้าร่วมงานดังกล่าว โดยจากการตรวจสอบความเกี่ยวเนื่องทางด้านธุรกิจกับสหรัฐ พบว่า ในปี 2566 GULF ได้จัดตั้ง Gulf Energy USA, LLC (Gulf USA) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับ J-POWER Jackson Partners, LLC (Jackson Partners) ภายใต้โครงการ Jackson ในสัดส่วน 49% หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 409.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14,000 ล้านบาท
โครงการนี้เป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีขนาดกำลังการผลิต 1,200 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในเขตวิลล์ รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565
แจ็กสันเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (combined-cycle gas turbine) ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูง และเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำที่สุดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจำหน่ายไฟฟ้าให้กับโครงข่ายระหว่างเพนซิลเวเนีย-นิวเจอร์ซีย์-แมริแลนด์ (Pennsylvania-New Jersey-Maryland Interconnection : PJM) ภายใต้ตลาดซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรี (merchant market)
ทั้งนี้ PJM เป็นตลาดซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรีที่มีความมั่นคง และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดในประเทศ โดยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 13 รัฐ และเขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย (District of Columbia)
GULF ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในรูปแบบ holding company ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. ธุรกิจพลังงาน ประกอบด้วยธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจให้บริการที่เกี่ยวข้องของกลุ่มบริษัท ธุรกิจ โดยการลงทุนพัฒนาก่อสร้างและดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้า ทั้งโรงไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
สำหรับธุรกิจพลังงาน กัลฟ์มีแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 7 โครงการ ในช่วงปลายปีนี้ โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 597 เมกะวัตต์ ในขณะที่โครงการ solar rooftop ภายใต้ GULF1 คาดว่าจะดำเนินการจ่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าเพิ่มอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์
อีกทั้ง GULF1 ยังได้เปิดตัวโครงการ “วันอาทิตย์” ซึ่งมุ่งขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มลูกค้าครัวเรือนและที่อยู่อาศัย โดยนำเสนอบริการติดตั้ง solar rooftop แบบครบวงจร ภายใต้แนวคิดประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน
2. พลังงานหมุนเวียนและธุรกิจก๊าซ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค เน้นโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ในด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน, การเชื่อมต่อการเดินทางและด้านเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ
ในส่วนของธุรกิจก๊าซ มีแผนขยายการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 70 ลำ หรือประมาณ 4-5 ล้านตัน เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC GPD HKP และ SPP 19 โครงการ ในส่วนของลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจก๊าซอย่างต่อเนื่อง และทำให้บริษัทรับรู้รายได้จาก shipper fee เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 มีการนำเข้า LNG ไปแล้วจำนวน 19 ลำ หรือประมาณ 1.3 ล้านตัน
สำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค โครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนายังคงเป็นไปตามแผน โดยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2568 ขณะที่สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2569
3. ธุรกิจดิจิทัล เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัท โดยธุรกิจศูนย์ข้อมูล (data center) มีแผนที่จะทยอยเปิดให้บริการเฟสแรกขนาด 25 เมกะวัตต์ ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ โดยบริษัทวางแผนที่จะขยายขนาดการให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 100-200 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปีข้างหน้า
ในขณะที่ธุรกิจ cloud ซึ่งบริษัทได้ร่วมมือกับ Google เพื่อให้บริการ Google Distributed Cloud air-gapped มีแผนเปิดให้บริการในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 เพื่อรองรับความต้องการในการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับทั้งภาครัฐและภาคองค์กร
สารัชถ์ รัตนาวะดี เป็นนักธุรกิจไทยที่ครองทรัพย์สินสูงถึง 1.29 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นอันดับ 2 ของไทย และเป็นอันดับ 184 ของโลก นอกจากนี้เขายังครองแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 6 สมัยซ้อน จากการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยปี 2567 ในวารสารการเงินธนาคาร
ข้อมูลในปี 2567 ระบุว่า หุ้นที่สารัชถ์ถือครองในปีนี้มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 240,341.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49,513.84 ล้านบาท หรือ 25.95%
ทั้งนี้ ตลอด 6 ปีของการครองแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย มูลค่าหุ้นที่สารัชถ์ถือครองอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาททุกปี โดยในปี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกที่ก้าวขึ้นครองแชมป์ สารัชถ์มีความมั่งคั่งรวม 120,959.99 ล้านบาท
ต่อมาในปี 2563 ความมั่งคั่งลดลงไปเล็กน้อยที่ 115,289.99 ล้านบาท ก่อนทะยานสู่ 173,099.73 ล้านบาทในปี 2564 และทะลุไปถึง 218,981.58 ล้านบาทในปี 2565
ส่วนในปี 2566 ความมั่งคั่งลดลงมาที่ 190,828.06 ล้านบาท จนมาในปี 2567 มูลค่าหุ้นที่ถือครองกลับมาพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 240,341.89 ล้านบาท