ผู้เขียน | พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก |
---|
สังคมไทยรู้จักเพื่อนบ้าน… “มาเลเซีย” น้อยมากครับ…
ข่าวเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยืดเยื้อ เรื้อรัง ดูเหมือนจะทำให้สังคมไทยรับรู้ “สถานการณ์” จำกัดอยู่ที่เส้นเขตแดนของไทย ถัดออกไปจากนั้น…คือมาเลเซีย …เราแทบจะไม่ได้ยินอะไรมากนัก
บทความนี้…เพื่อการศึกษานะครับ…เพราะแผ่นดินเราติดกัน เราควรเรียนรู้ พึ่งพากัน (ข้อมูลบางส่วนจาก ประชาไท 21 พ.ค.57)
ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประชากรส่วนใหญ่ใน “แหลมมลายู” ได้แก่ คนมลายู บางพวกจะเป็นคนมลายูที่มีหลักแหล่งดั้งเดิมอยู่ในแหลมมลายู บางพวกเป็นคนมลายูที่อพยพมาจากเกาะสุมาตราตั้งแต่สมัยอาณาจักรมะละกา
เมื่อจักรวรรดินิยมอังกฤษได้เข้ามายึดครองดินแดนแถบแหลมมลายู ก็ไปนำ “ชาวจีน” เข้ามาตั้งหลักแหล่งในดินแดนแห่งนี้ เพื่อจะให้คนจีนทำมาค้าขาย สร้างเศรษฐกิจให้เติบใหญ่
คนจีนส่วนใหญ่ มาจากกวางตุ้ง ฟูเกียน กวางลี เข้ามาในแหลมมลายู มาค้าขาย เป็นกรรมกรทำเหมืองแร่ โดยเป็นลูกจ้างให้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ เพราะชนพื้นเมืองมลายูไม่ขอทำงานประเภทนี้
มหาอำนาจอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ เกรียงไกร ยาวนาน 200 ปี ส่ง “เรือปืน” พร้อมทหารไปยึดครองดินแดนทั่วโลกเพื่อทำการค้า รู้จักนิสัยใจคอชนเผ่าต่างๆ ชื่นชอบทักษะการทำมาหากินของชาวจีน ดินแดนที่อังกฤษยึดครองจะมั่งคั่ง เศรษฐกิจจะขยายตัวด้วยพลังงานของชาวจีน
ชาวจีนไปรวมตัวกันทำมาหากิน บนเกาะปีนังและเกาะสิงคโปร์
ทุกอย่าง “เป็นจริง” ตามที่อังกฤษวางแผนเพื่อสร้างความมั่งคั่งในมาเลเซีย …ในเวลาไม่นานนัก…เศรษฐกิจส่วนใหญ่ตกไปอยู่ในการควบคุมของคนจีน
อังกฤษยังขนคนจากอินเดีย เข้ามาอีก 1 เชื้อชาติ
นักประวัติศาสตร์หลายคนเห็นตรงกันว่า…แนวทางของอังกฤษคือการมอบเศรษฐกิจให้กับชาวจีน มอบรัฐบาลให้กับชาวมาเลย์ และให้ประชากรที่อพยพมาจากอินเดียทำงานในภาคเกษตรกรรมและในธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ
วันเวลาผ่านไป… คนมลายูเจ้าถิ่น และชนชั้นนำมาเลเซีย เกิดความไม่พอใจ เพราะหันไปทางไหนก็เป็นธุรกิจของคนจีนทั้งนั้น เป็นเศรษฐกิจ “เพื่อการส่งออก” คนมลายูเชื้อสายจีนขับเคลื่อนการค้าขาย ไปได้สวย กลายเป็นกลุ่มคนที่มั่งคั่ง หากแต่ชาวมลายูยังติดยึดกับอาชีพชาวนา ชาวประมงกันส่วนใหญ่ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ล้าหลัง
(ประวัติศาสตร์ของมาเลเซียเต็มไปด้วยอิทธิพลของต่างชาติ เพราะที่ตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ เป็นแหล่งรวมของพ่อค้า อิทธิพลของศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธแพร่หลาย ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามา การค้นพบทางโบราณคดีที่หุบเขา “บูจาง” เป็นหลักฐานแสดงถึงอารยธรรม ความเจริญของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ สมบูรณ์ด้วยเครื่องเทศ นักล่าอาณานิคม คือ โปรตุเกส ต่อมาฮอลันดาก็เข้ามาครอบครอง และในที่สุดก็ตกเป็นของอังกฤษและก็อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของประชาชน อังกฤษจึงยอมที่จะคืนเอกราชให้กับมาเลเซีย)
31 สิงหาคม พ.ศ.2500 มาเลเซียได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ พรรคอัมโน (UMNO) เป็นพรรคที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ภายใต้การนำของ ตนกู อับดุล ราห์มาน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญเมอร์เดกา” โดยตัวรัฐธรรมนูญกำหนดสิทธิของชาวมลายูจะอยู่เหนือเชื้อชาติอื่นๆ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ
สงวนที่ดินบางส่วนไว้สำหรับชาวมลายู สงวนตำแหน่งราชการบางตำแหน่งให้แก่ชาวมลายูเท่านั้น จำกัดโควต้าการออกใบอนุญาตและใบทะเบียนในส่วนที่เกี่ยวกับถนนและคมนาคมให้แก่ชาวมลายูเท่านั้น
จำกัดโควต้าการให้ทุนช่วยเหลือการศึกษาให้แก่ชาวมลายูเท่านั้น ให้อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ให้ภาษามลายูเป็นภาษาประจำชาติ…
แนวนโยบายที่ “กีดกัน” ชัดเจนแบบนี้… ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนต้องเผชิญกับความขมขื่น โดดเดี่ยว ของพวกตนและลูกหลาน…
ในช่วงเวลานั้น…มีชาวมาเลย์ประมาณร้อยละ 62 ชาวจีนร้อยละ 21 และชาวอินเดียร้อยละ 6
มีเหตุวิวาท ทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน ระหว่างกลุ่มเชื้อชาติ ที่พร้อมจะเป็นชนวนระเบิดใหญ่…ถือเป็นเหตุรายวัน
พ.ศ.2502 และ พ.ศ.2507 มีการจลาจลใหญ่จากปัญหาเชื้อชาติ
9 สิงหาคม 2508 … ก็เรื่อง “เชื้อชาติ” นี่แหละที่ทำให้เกาะสิงคโปร์ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่ถูกกีดกัน จึงขอแยกออกจากมาเลเซียไปตั้งเป็นประเทศสิงคโปร์
เหตุการณ์เกี่ยวกับ “เชื้อชาติ” ตึงเครียดสะสม…ก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป
นักการเมืองชาวมาเลย์คนหนึ่งถูกแก๊งชาวจีนสังหารในปีนัง ขณะที่นักเคลื่อนไหว พรรคแรงงานชาวจีน ถูกยิงเสียชีวิตในการปะทะกับตำรวจในกัวลาลัมเปอร์ กลุ่มหัวรุนแรงเรียกร้องให้คว่ำบาตรการเลือกตั้งและขู่จะใช้ความรุนแรง แต่ขบวนแห่ศพของนักเคลื่อนไหวที่ถูกยิง
เกิดฝูงชนมารวมตัวกันตามเมืองใหญ่ต่างๆ กลุ่มใครกลุ่มมัน
ไฟสุมขอนเริ่มระอุ…ในแผ่นดินมาเลเซีย
9พฤษภาคม 2512 ชาวมาเลย์เชื้อสายจีนออกมาเดินขบวน ถือสัญลักษณ์ของพรรคแรงงาน และรูปของ ลิม ซุน เซง สมาชิกพรรคชาวจีนที่ถูกสังหารระหว่างการเดินขบวนประท้วงที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
โลงศพของเซงถูกหามแห่โดยฝูงชน เซงเสียชีวิตในการปะทะกับตำรวจ ทำให้ความตึงเครียดระหว่างชุมชนชาวมาเลย์และชาวจีนเดือดขึ้น
ตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี พ.ศ.2500 ชาวมาเลย์ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ได้รับสถานะพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญ ในขณะที่ชนกลุ่มน้อยมักถูกปฏิบัติอย่างเลือกปฏิบัติ
เชื่อกันว่าการเสียชีวิตของเซง เป็นชนวนชิ้นหนึ่ง ให้เกิดโศกนาฏกรรมตามมา
10 พฤษภาคม พ.ศ.2512 คือวันเลือกตั้งทั่วไปในมาเลเซีย ผลการเลือกตั้งคือระเบิดลูกใหญ่…คะแนนเสียงของพรรคที่คนจีนสนับสนุนในอดีตเคยได้เพียง 2-5 ที่นั่ง แต่ครั้งนี้กระโจนพุ่งขึ้นไป…ได้เพิ่มมาเป็น 38 ที่นั่ง (พรรคกิจประชาธิปไตยและพรรคเกระกันได้ชัยชนะเหนือพรรคพันธมิตรซึ่งเป็นพรรครัฐบาล)
นับเป็น “ชัยชนะอันยิ่งใหญ่” ของชาวมาเลย์เชื้อสายจีนที่ถูกกีดกัน ถูกปิดกั้น มาตลอด
ค่ำคืนวันนั้น…ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน รวมตัวกันออกมาเฉลิมฉลองแสดงความดีใจตามท้องถนนในเมืองใหญ่เช่น กัวลาลัมเปอร์ ปีนัง อาโลร์เซอตาร์ และอีโปะฮ์
ฝูงชนเชื้อสายจีนนับพันเดินฉลองไปตามถนน กล่าววาจาถากถางเยาะเย้ยชาวมลายู
ในเวลาเดียวกัน…ชาวมาเลย์ถูกนำตัวจากพื้นที่ชนบทมายังกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเป็นเมืองที่มีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ ชาวมาเลย์หลายพันคนเดินทางตั้งขบวนเพื่อ “ตอบโต้” กลุ่มชาวจีน
13 พฤษภาคม 2512 คือ วันมหาวิปโยคในแผ่นดินมาเลเซีย
เกิดการปะทะระหว่างชาวมาเลย์ที่เดินทางไปร่วมขบวนพาเหรดและชาวจีนที่เฝ้าดูอยู่ในส่วนหนึ่งของเมืองหลวง เมื่อข่าวการทะเลาะวิวาทแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ ความรุนแรงก็ขยายตัวออกไปดังไฟลามทุ่ง ชุมชนชาวจีน ถูกปล้นสะดม ทำร้ายร่างกาย วางเพลิง ทำลายทรัพย์สิน ฆาตกรรม
รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ
การจลาจลทางเชื้อชาติครั้งนี้ มีรายงานอย่างเป็นทางการของรัฐบาลระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุจลาจลอยู่ที่ 196 ราย แหล่งข่าวทางการทูตและผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศในขณะนั้นระบุว่ามีผู้เสียชีวิตเกือบ 600 ราย โดยเหยื่อส่วนใหญ่เป็นชาวจีน
พระมหากษัตริย์แห่งมาเลเซีย หรือยังดีเปอร์ตวนอากง (Yang di-Pertuan Agong) ประกาศภาวะฉุกเฉินระดับชาติ ส่งผลให้รัฐสภาต้องระงับการประชุม มีการจัดตั้ง “สภาปฏิบัติการแห่งชาติ” Majlis Gerakan Negara (MAGERAN) ขึ้นเป็นรัฐบาลรักษาการเพื่อปกครองประเทศชั่วคราวระหว่างปี พ.ศ.2512-2514
เหตุจลาจลสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อโครงสร้างทางสังคมและการเมืองของประเทศ อาคารต่างๆ ถูกทำลาย รถยนต์ถูกเผา
(28 มิถุนายน พ.ศ.2512 เกิดการจลาจลขึ้นอีกที่เกาะเซนตุลเมื่อชาวมาเลย์โจมตีชาวอินเดีย มีผู้เสียชีวิต15 ราย)
กล่าวโดยรวมแล้ว…ความไม่พอใจของชาวมาเลย์เกี่ยวกับสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของตน และความกลัวว่าชาวมาเลย์ซึ่งถือเป็นชนพื้นเมือง (ภูมิบุตร) จะต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ เป็นปัจจัย 1 ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบดังกล่าวด้วย
นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย ตุนกู อับดุล ราห์มัน ถูกกดดันให้ลาออก
หลังจากปี พ.ศ.2514 เมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้ว รัฐบาลมาเลเซียประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (NEP) ที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวมาเลย์ ด้วยความมุ่งหมายที่จะลดช่องว่างความมั่งคั่งที่ตามไม่ทันชุมชนชาวจีน
กฎเกณฑ์บางประการ เช่น ไม่ว่าบริษัทไหนที่จดทะเบียนในมาเลเซีย จะต้องมีชาวภูมิปุตราถือหุ้นอย่างน้อย 30% อีกทั้งคนทำงานส่วนใหญ่ของบริษัทก็ควรเป็นคนภูมิปุตราด้วย
“ภูมิบุตร” คือ ชาวมาเลเซียซึ่งอพยพมาจากอินโดนีเซีย ชาวมาเลเซียเชื้อสายสยาม ชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียมุสลิม ชาวจีนช่องแคบ (กลุ่มลูกครึ่งมลายู-จีน) และชาวคริสตัง (กลุ่มคริสตังลูกครึ่งมลายู-โปรตุเกส) แต่ไม่รวมถึงชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนหรืออินเดียในประเทศ
นโยบายดังกล่าว…ไม่ไหลลื่น การลงทุนจากต่างประเทศหดหาย… เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในทางลบนายกรัฐมนตรีที่เข้ามารับตำแหน่งต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
ทุกรัฐบาลหาทางปรับ ผ่อนปรน กฎระเบียบทั้งปวงเพื่อเปิดโอกาสให้ต่างชาติได้เข้ามาลงทุน …ซึ่งก็กำลังขับเคลื่อนไปได้ดี
2 ก.ค.67 กรมสถิติของมาเลเซียประกาศว่า รัฐสลังงอร์มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดในปี 2566 โดยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของประเทศ ทั้งนี้ รัฐสลังงอร์เป็นหนึ่งในสี่รัฐที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามมาด้วยรัฐปะหัง ยะโฮร์ และกัวลาลัมเปอร์…
28 ก.ค.67 ดะโต๊ะ เซอรี อามีร ฮัมซาห์ อาซีซัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่ 2 ของมาเลเซีย ได้กล่าวไว้ในระหว่างการเยือนเพื่อการเจรจาทำงาน (Working Visit) ที่ประเทศสิงคโปร์ว่า มาเลเซียกำลังก้าวหน้าอย่างมากในการกลับมาสู่สถานะเสือแห่งเอเชีย…
2 ต.ค.67 Oracle Corp ประกาศเตรียมลงทุนกว่า 27 พันล้านริงกิต (6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อสร้าง Cloud Region ในมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้องค์กรในมาเลเซียสามารถปรับปรุงระบบ ย้ายงานเข้าคลาวด์และใช้นวัตกรรมด้านข้อมูล การวิเคราะห์ และ AI
ขอส่งท้ายด้วยข้อมูลจาก ลงทุนแมน เมื่อปี 2564 ครับ
ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน กำลังมีสัดส่วนลดลงเรื่อยๆ /โดยรู้หรือไม่ว่า จากการจัดอันดับ 10 มหาเศรษฐีชาวมาเลเซียที่มีทรัพย์สินมากที่สุดโดยนิตยสาร Forbes จะเป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนถึง 9 คน
ปี 2563 มาเลเซียมีจำนวนประชากรที่ถือสัญชาติมาเลย์ทั้งหมด 29.7 ล้านคน 69.6% คือจำนวนประชากรภูมิบุตร หรือชาวมาเลเซียเชื้อสายมาเลย์ที่นับถือศาสนาอิสลาม 22.6% คือจำนวนชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน 7.8% คือจำนวนชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียและอื่นๆ
ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนก็ยังคงมีจำนวนประชากรที่เป็นส่วนน้อยของประเทศ และสัดส่วนนี้ก็กำลังจะลดน้อยลงเรื่อยๆ …
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และไทย
มาเลเซีย คือเพื่อนบ้านที่จะร่วมมือกับไทยได้จริง..ย้ำว่า “จริง”
น่าจะเป็น “ฐานราก” สำหรับการพัฒนา เพื่อพัฒนา แก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้บ้างนะครับ…