‘สภาพัฒน์’ เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/68 ขยายตัว 3.1% หั่นเป้าจีดีพีทั้งปี โต 1.8% จากเดิม 2.8% จากความเสี่ยง-ไม่แน่นอนเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง อ่วมเจอนโยบายภาษีทรัมป์ จับตาไตรมาส 3 อาจเห็นเศรษฐกิจไทยชะลอตัวชัดขึ้น
19 พ.ค.2568 – นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2568 ขยายตัวได้ 3.1% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 3.3% ในไตรมาสที่4ของปี 2567 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2568ขยายตัวจากโตรมาสที่4ของปี 2567 0.7%โดยเศรษฐกิจในไตรมาสนี้มาจากด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้าและการลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์สูง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลชะลอตัว
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 2.6% ชะลอลงจากการขยายตัว 3.4% ในโตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวในทุกหมวดสินค้า โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัว 1.9% ชะลอลงจาก2.3% ในโตรมาสก่อนหน้า ตามการใช้จ่ายกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญการใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัว 4.5 %ชะลอลงจาก 6.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร และกลุ่มบริการด้านสุขภาพ
สำหรับการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัว 0.9% ชะลอลงจาก 3.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้า และการลดลงของการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่งขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนดดลง1.4% ต่อเนื่องจากการลดลง 9.5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายเพื่อชื่อยานพาหนะลดลง 2.0% เทียบกับการลดลง 21.2% ในไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมันของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ โดยรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 51.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.5 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น3.4% ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้น 5.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยค่าซื้อสินค้าและบริการขยายตัว 9.8% รายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดขยายตัว 6.0% และค่าตอบแทนแรงงานขยายตัว 0.9%
ทั้งนี้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยปี 2568 ข้อจำกัดจากภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2568ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และผลกระทบจากการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐ รวมทั้งความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคเกษตร
ส่วนการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2568 ควรให้ความสำคัญกับ 1.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วเพื่อรักษาแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐ 2.การดำเนินการเพื่อรองรับการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศสำคัญ 3.การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม 4.การให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาด้านการเข้าถึงสภาพคล่องเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง 5.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร และ 6.การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อช่วยขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
นายดนุชา กล่าวว่า การประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2568 ขยายตัว 1.8% อยู่ระดับต่ำกว่าหลายสำนักเศรษฐกิจนั้น สศช.ได้พิจารณาจากตัวเลขอื่นประกอบ และสถานการณ์เจรจาการค้ากับสหรัฐ ซึ่งในรายละเอียดมีหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม ในการประมาณการเป็นเครื่องชี้ช่วยให้ธุรกิจและประชาชน ตระหนักเรื่องเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยไม่ได้มองแง่ร้ายมาก เพราะการคาดการณ์ของสำนักอื่นในต่างประเทศมองไทยอยู่ในช่วงนี้เช่นเดียวกัน โดยเรื่องนี้อาจปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ยืนยันไม่ได้มองแง่ร้าย เป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและมองอนาคต และได้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีปัญหามากตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป
“เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ยังไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐ แต่ช่วงต่อไปผันผวนมากขึ้น ทั้งการค้า อัตราแลกเปลี่ยน เศรษฐกิจชะลอตัว จึงขอให้ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ เตรียมตัวรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น และประชาชนให้เตรียมความพร้อมเรื่องการใช้จ่ายประจำวัน คงต้องรอบคอบมากขึ้น เพื่อทำให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้”นายดนุชา กล่าว
ส่วนมาตรการของทางรัฐบาลมีแนวทางช่วยเหลือหลายเรื่อง นอกจากมาตรการซอฟต์โลนที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้ โดยมาตรการที่ออกมาอาจจะคล้ายกับช่วงโควิด ที่เพิ่มการเข้าถึงสภาพคล่อง เพื่อเป็นการรักษาการจ้างงาน ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะออกมาตรการมาเพิ่มเติมและคาดว่าจะออกมาได้เร็วกว่าเดิม
สำหรับการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท เฟส 3 สำหรับกลุ่มอายุ 16-20 ปี คาดจะแจก 2.7 ล้านคน วงเงิน 27,000 ล้านบาท จะออกมาช่วยเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหนนั้น มองว่าช่วยได้เป็นส่วนน้อยมาก ทำให้รอดูมาตรการที่ออกมาว่ามีอะไรบ้าง นอกจากนี้เรื่องการเพิ่มช่องว่างทางการคลังนั้น ต้องดูในเรื่องการจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้น ดูวินัยการเงินการคลังเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาช่องว่างทางการค้าที่มีอยู่ ในช่วงต่อไปการใช้จ่ายเป็นไปด้วยความระมัดระวัง