‘การท่าเรือ’ เร่งเครื่องทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ ( S1 ) เชื่อมท่าเรือคลองเตย ลุยทบทวนแผนให้สอดคล้องกับแม่บท เล็งชง บอร์ด กทท.จากนั้นเสนอให้คมนาคม พิจารณา เพื่อเสนอ ครม.ไปต่อ
21 พ.ค. 2568 – นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งจะเป็นเส้นทางสำคัญในการเชื่อมต่อและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งของท่าเรือ โดยปัจจุบันรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่าง กทท.ทบทวนให้สอดคล้องกับแผนแม่บท (Master Plan) โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) กทท. และกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตาม กทท. จะนำโครงการดังกล่าว บรรจุอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพเพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคม และครม.ไปในคราวเดียว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ โดยให้ศึกษาออกแบบ พร้อมทั้งรูปแบบการลงทุนในการพัฒนาท่าเรือ ซึ่งให้เริ่มดำเนินการบริเวณหน้าท่า 520 ไร่เป็นพื้นที่แรก คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ภายในปี 2568 และเริ่มการก่อสร้างทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางด่วน S1 พร้อมกับการพัฒนาพื้นที่แรกบริเวณหน้าท่า
“ในระหว่างที่รอการทบทวนแผนแม่บทฯ กทท. และกทพ. จะเร่งหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องสัดส่วนการลงทุน ซึ่งน่าจะไม่มีปัญหาใด ขณะเดียวกันต้องดูรายละเอียดเรื่องแบบการก่อสร้างอีกครั้ง แต่จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงในส่วนหลัก จุดขึ้นลงยังเป็นบริเวณเดิม เพื่อไม่ให้กระทบกับรายงานอีไอเอที่ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว นอกจากนี้จะเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่อีกครั้งก่อนการก่อสร้างทางด่วน โดยที่ผ่านมา กทท. ได้ชี้แจงการดำเนินโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง และประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ขัดข้อง ทั้งนี้มีประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางด่วน S1 ประมาณ 101 ครอบครัว” นายเกียงไกร กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อมีการก่อสร้างทางด่วนดังกล่าว ประชาชนทั้ง 101 ครอบครัว ต้องย้ายออกจากที่อยู่อาศัยเดิม ซึ่งเบื้องต้น กทท. ได้จัดเตรียมพื้นที่บริเวณแฟลตท่าเรือคลองเตย ไว้ให้ประชาชนทั้ง 101 ครอบครัวอยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวแล้ว ก่อนที่ในระยะยาวจะให้ย้ายครอบครัวไปอยู่ในโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) ตามแผนแม่บทพัฒนาการท่าเรือกรุงเทพ ที่จะมีการก่อสร้างในอนาคตต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ วงเงินประมาณ 4,445 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณเทอร์มินอล 3 ของท่าเรือกรุงเทพ แนวสายทางเป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร (ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) ก่อสร้างเป็นโครงสร้างคานคอนกรีตอัดแรงหล่อสำเร็จรูปตัวไอไปตามแนวถนนอาจณรงค์ ข้ามคลองพระโขนงและถนนเลียบทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ จากนั้นแนวสายทางจะแยกเป็นขาทางเชื่อม (Ramp) เข้าเชื่อมกับ S1 ในทิศทางไปทางด่วนบูรพาวิถี และทิศทางไปทางด่วนฉลองรัช มีด่านเก็บค่าผ่านทางฯ 4 จุด จัดเก็บค่าผ่านทางอัตราเดียวกับทางด่วนเฉลิมมหานคร รถ 4 ล้อ 50 บาทต่อคัน รถ 6-10 ล้อ 75 บาทต่อคัน และรถมากกว่า 10 ล้อ 110 บาทต่อคัน โครงการนี้ไม่ต้องเวนคืนที่ดิน เพราะเป็นพื้นที่ของ กทพ. และ กทท. แต่ต้องเจรจากับผู้เช่า และผู้บุกรุกที่ใช้พื้นที่อยู่