การลดลงของนักท่องเที่ยวจีนที่ผ่านมา ไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่เป็นซัพพลายหลักของภาคธุรกิจท่องเที่ยว อย่างเช่นบริษัททัวร์ โรงแรม รถเช่า แหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น ยังกระทบถึงร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ
สอดคล้องกับกระแสข่าวในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ระบุว่า ร้านอาหารชื่อดังต่าง ๆ มียอดขายลดลง และหลายแห่งทยอยปิดสาขา เช่นเดียวกับข่าวของห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ราชดำริ ที่ให้ข้อมูลว่ามียอดขายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งล้วนกระทบต่อไปถึงภาคการผลิตของประเทศ
“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า ททท.รับรู้ถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น และได้พยายามกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยนอกจากโครงการ “สวัสดี หนีห่าว” ที่จะจัดขึ้นระหว่าง 28 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2568 โดยเชิญผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยวตลาดจีนและ KOLs/Influencer รวมประมาณ 500 คนจาก 30 มณฑล มาพบปะเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยแล้ว ททท.ในจีนทั้ง 5 สำนักงานยังร่วมกับพันธมิตรในจีน จัดกิจกรรมเจาะตลาดจีนเชิงรุกอย่างเข้มข้นเพื่อฟื้นเส้นทางบิน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของตลาดจีนยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ภาคเอกชนท่องเที่ยวในนาม “สมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยว” หรือ FETTA ซึ่งประกอบด้วย สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA), สมาคมโรงแรมไทย (THA), สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.), สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA), สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.), สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย (PGAT) และสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) ร่วมถกแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อกระตุกนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมาโดยเร่งด่วน
“ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) และในฐานะแกนนำ FETTA บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการประชุมหารือได้ข้อสรุปว่า ปัญหาความปลอดภัยคือ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการเดินทางมากที่สุด และเป็นประเด็นสำคัญของวิกฤตในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ทุกส่วนมองว่าวิกฤตนักท่องเที่ยวจีนครั้งนี้ ยังมีโอกาสที่ประเทศไทยจะแก้ไขได้ โดยเร่งฟื้นให้ตลาดจีนกลับมาให้ได้โดยเร็ว และพยุงให้สภาพตลาดโดยรวมไม่วิกฤตไปมากกว่านี้ เพราะถ้ามันหลุดไปแล้วจะกลับมายาก จึงอยากให้รัฐบาลรีบทำในช่วงที่ยังไม่ได้เสียหายมาก
ที่สำคัญเพื่อดึงสายการบินและเที่ยวบินไว้ โดยในประเด็นนี้อยากให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอที่ภาคเอกชนของบประมาณ 300 ล้านบาท (ยังไม่เข้าพิจารณาใน ครม.) สำหรับสนับสนุนให้สายการบินกลับมาทำการบินในรูปแบบชาร์เตอร์ไฟลต์
“พวกเราอยากให้รัฐเร่งดำเนินการ และวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ที่รัฐบาลจัดงานสวัสดีหนีห่าว ซึ่งได้เชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วม หากงบฯ 300 ล้านบาทผ่าน ครม. เราก็จะเอาเอเย่นต์ที่จะมาทำแคมเปญโปรโมชั่นร่วมกันมาทำ MOU เพื่อให้งานที่ออกมาเห็นชัดว่างานที่เราทำอยู่มีเป้าหมาย”
ส่วนประเด็นที่รัฐบาลบอกว่าจะสนับสนุนโอทีเอนั้น เบื้องต้นอยากให้รัฐบาลโฟกัสที่สายการบินก่อน เพราะหากเราไม่สนับสนุนเที่ยวบิน แต่ไปสนับสนุนโอทีเอจะเป็นการทำให้ราคาตั๋วบินแพงขึ้น และไม่ได้ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
และประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญคือ เรื่องความปลอดภัย (Safety & Security) โดยสภาวิจัยท่องเที่ยวแห่งชาติจีน ได้จัดทำข้อมูลตลาดเอาต์บาวนด์ (ขาออก) Annual Report of China Outbound Tourism Development 2024 ระบุว่า ในครึ่งปีแรก 2567 ประเทศไทยติดอันดับความนิยมอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวขาออกจีน ส่วนอันดับความพึงพอใจในการเดินทาง ไทยรั้งอันดับ 3 รองจากมาเก๊า และไต้หวัน
สำหรับปัจจัยในการเดินทางพบว่า นักท่องเที่ยวจีนให้ความสำคัญกับความปลอดภัยสำคัญที่สุด และคาดหวังว่าจะได้มาสัมผัสความแปลกใหม่ และชิมอาหารอร่อยที่แตกต่างในสัดส่วนสูงถึง 70.12%
“จากข้อมูลข้างต้นนี้สะท้อนชัดเจนว่าความปลอดภัยเป็นปัจจัยอันดับ 1 ของการตัดสินใจเดินทาง และก็เป็นที่มาว่าทำไมตัวเลขถึงตกลง ปีที่แล้วผลสำรวจความพึงพอใจไทยก็ยังติดอันดับ 3 นั่นหมายถึงมาตรฐานในการบริการของเราก็ยังไม่ได้มีปัญหา จึงอนุมานได้ว่าปัญหามาจากความปลอดภัย”
พร้อมย้ำว่า สิ่งที่เอกชนท่องเที่ยวต้องการคือ อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเรียกระดมความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยอย่างชัดเจน อย่างน้อยก็เพื่อกระตุกตลาดจีนกลับมาให้ได้บ้าง โดยข้อเสนอดังกล่าวนี้จะทำเป็นสมุดปกขาวยื่นต่อนายกรัฐมนตรีภายในสัปดาห์นี้