ปตท. ตั้งวอร์รูมผุด 5 แผนรับมือเศรษฐกิจถดถอย
GH News May 21, 2025 08:10 PM

ปตท. จับตาสถานการณ์พลังงานผันผวน ตั้งวอร์รูมผุด 5 แผนรับมือเศรษฐกิจถดถอย ลุยปรับสัดส่วนธุรกิจหวังเพิ่ม EBITDA อีก 20,000 ล้านบาท ลั่นศึกษา Alaska LNG นำเข้าเพิ่มตามนโยบายรัฐ

21 พ.ค. 2568 – นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2568 มีสัญญาณสถานการณ์พลังงานที่มีความผันผวน และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเผชิญภาวะถดถอย จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ปริมาณการผลิตน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก และความต้องการใช้พลังงานที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้เกิดความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยปี 2568 ทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว การค้าไม่แน่นอน ความไม่แน่นอนของลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ(FDI) กระทบความสามารถการแข่งขันอุตไทย และกระทบต่อนโยบายรัฐ

ทั้งนี้ ปตท. จึงได้ดำเนินเชิงรุกจัดตั้งวอร์รูม เตรียมแผนรับมือเศรษฐกิจถดถอยครอบคลุมการดำเนินงานใน 5 ด้าน ได้แก่ 1. Strategy ทบทวนกลยุทธ์เดิมพร้อมพิจารณาความท้าทายใหม่ที่จะเข้ามากระทบ พบว่ากลยุทธ์กลุ่ม ปตท. มาถูกทาง เหมาะสม สามารถรับมือกับปัจจัยภายนอกและความท้าทายจากเรื่องสงครามการค้าได้ เพียงแต่บางเรื่องต้องเร่งให้เร็วขึ้น เช่น การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. 2. Financial Management รักษาวินัยการเงิน บริหารต้นทุนการเงิน เสริมสภาพคล่องกระแสเงินสด รักษาระดับ Credit Rating

3. Supply Chain & Customer ดูแลคู่ค้า ลูกค้า เพื่อสร้างความต่อเนื่องตลอด Supply Chain พร้อมเร่งดำเนินโครงการสร้างมูลค่าเพิ่ม 4. Project Management ทบทวนความเป็นไปได้ของโครงการและการลงทุน โดยต้องพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ รวมถึงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (Asset Monetization) ของ flagship  5. Communication สื่อสารและสร้างความเข้าใจการดำเนินธุรกิจแก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง 

“ไตรมากแรกปีนี้ ปตท.มีกำไรสุทธิ 23,315 ล้านบาท หากไม่รวมรายการพิเศษจะใกล้เคียงกับปี 2567 ทั้งนี้ในปี 2568 ปตท. ตั้งเป้าหมาย EBITDA หรือ กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา เพิ่มขึ้นอีก 20,000 ล้านบาท โดยทำการปรับสัดส่วนธุรกิจ(Asset Portfolio) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความมั่นคงในระยะยาว โดยแสวงหาโอกาสเพื่อเพิ่มผลกำไร กว่า 8,000 ล้านบาท และให้ความสำคัญกับการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ซึ่งประเมินกระแสเงินสดจากการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน กว่า 15,000 ล้านบาท” นายคงกระพัน กล่าว

ขณะเดียวกัน ปตท. ยังเดินหน้าลดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยจะทยอยรับรู้จากโครงการกลุ่มปตท. เช่น โครงการ MissionX ยกระดับ Operational Excellence เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าทั้งกลุ่ม ปตท. ประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2027 มีแผนงานชัดเจนและเป้าหมายเป็นรูปธรรมซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว โครงการ Axis นำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งจะสร้างมูลค่าได้อีก 11,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2029

นายคงกระพัน กล่าวว่า ความร่วมมือจากการเจรจาของรัฐบาลไทยกับสหรัฐที่จะต้องนำเข้า LNG รวมกันประมาณ 1 ล้านตันต่อปี และเป็นสัญญายาว 15 ปี มูลค่ากว่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น โดยที่ผ่านมา ปตท. ได้ดำเนินการเจรจาในรายละเอียดของโครงการและพิจารณาความเหมาะสมในเชิงธุรกิจสำหรับการผลักดันความร่วมมือในโครงการ Alaska LNG ร่วมกับฝ่ายสหรัฐฯ เนื่องจากมองว่าน่าสนใจในแง่พื้นที่มากกว่าแหล่งอื่นในอเมริกา รวมทั้งยังมีความยืดหยุ่นในสัญญาการซื้อขาย ว่าไม่จำกัดพื้นที่ขนส่งสามารถนำไปขายได้ที่อื่นด้วย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเติมอื่น ๆ โดยความร่วมมือในโครงการดังกล่าวยังเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือในการลงทุนและผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อสร้างเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของไทย

ขณะที่การหาความร่วมมือในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี คาดว่าในปีนี้จะสามารถสรุปได้ว่ามีการเจรจากับกลุ่มไหน ความก้าวหน้าเป็นอย่างไร โดย ปตท. ยังมองว่าธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจเรือธงของ ปตท. และยังต้องถือหุ้นใหญ่อยู่ โดยส่วนส่วนผู้ที่เข้ามาร่วมพัฒราจะต้องมีความแข็งแรงในหลาย ๆ เรื่องขณะที่บริษัท อินโนบิก(เอเชีย) จำกัด ปัจจุบันก็มีการเจรจากันอยู่ และมีความก้าวหน้าเช่นกัน โดยส่วนตัวบริษัทก็มีการออกไปหาพาทเนอร์ที่มีศักยภาพในแวดวงเดียวกัน

“ยืนยันว่าทุกบริษัมลูก หากมีสินทรัพย์อะไรที่ต้องแปลงเป็นทุนได้ก็ต้องช่วยกันดู อันไหนดีควรขายก็ขาย หรือหาคนมาช่วยดูแล โดยพาทเนอร์จะรูปแบบยังไม่ชัดเจน รวมทั้งยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะต้องเพิ่มทุนหรือไม่ ทั้งไทยออยล์ IRPC และ GC”นายคงกระพัน กล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.