ผู้ดี-อียูปิดดีลครั้งประวัติศาสตร์
GH News May 22, 2025 08:08 PM

ไม่ผิดอะไรกับการรีเซ็ต ตั้งเครื่องกันใหม่ ในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่าง “สหราชอาณาจักร” ที่นำโดย “อังกฤษ” เจ้าของสมญานามประเทศ “เมืองผู้ดี” กับ “สหภาพยุโรป” หรือ “อียู”

ภายหลังจาก “สหราชอาณาจักร” จัดให้มีลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2016 (พ.ศ. 2559) แล้วปรากฏว่า ชาวสหราชอาณาจักร คิดเป็นจำนวนร้อยละ 52 ต้องการให้ประเทศของพวกเขาออกจากการเป็นสมาชิกภาพของอียู หรือที่เรียก “เบร็กซิต (Brexit)” ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการให้ออกจากอียูมีจำนวนร้อยละ 48 ในสมัยนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ซึ่งมีรายงานในเวลาต่อมาว่า ชาวสหราชอาณาจักร เสียใจและรู้สึกผิดหวังที่สหราชอาณาจักรพ้นการเป็นสมาชิกภาพของอียู โดยผลการสำรวจแต่ละครั้งที่ผ่านมา ก็เกินกว่าร้อยละ 50 หรือเกินครึ่ง ที่รู้สึกเสียใจและผิดหวังกับเบร็กซิต

อย่างไรก็ดี ผลประชามติที่ออกมาข้างต้น ก็ทำให้สหราชอาณาจักร ต้องออกจากการเป็นสมาชิกภาพของอียูไป เช่นเดียวกับนายคาเมรอน ก็มีอันต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอังกฤษไป เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

พร้อมๆ กันนั้น ก็ไม่ผิดอะไรกับการสะบั้นสัมพันธ์กันระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียู ด้วยมาตรการต่างๆ จากทั้งสองฝ่าย ที่จำต้องเข้มงวดกวดขันระหว่างกันขึ้น เพราะถือว่า ไม่ใช่ชาติสมาชิกกลุ่มก้อนเดียวกันแล้ว เป็นต่าง ต่างพวก ที่จะต้องมีกฎระเบียบกำกับบังคับใช้ระหว่างกัน เช่น การเดินทางเข้า-ออกพรมแดน การขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออกสารพัด ตลอดจนความมั่นคงทางการทหาร ไม่เว้นกระทั่งการใช้ประโยชน์ทางน่านน้ำการประมง เป็นต้น นับตั้งแต่นั้น

ลากยาวมาถึงปี 2025 (พ.ศ. 2568) หรือเกือบ 9 ขวบปีให้หลัง ทางสหราชอาณาจักร กับอียู ก็หาหนทางในอันที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นมา ผ่านการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างสหราชอาณาจักร (United Kingdom) หรือยูเค ที่นำโดยอังกฤษ กับทางอียู หรือ “ยูเค-อียู ซัมมิต”

นางเออร์ซุลา ฟ็อน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ แลนายอันโตนิโอ คอสตา ประธานคณะมนตรียุโรป แถลงข่าวร่วมกัน (Photo : AFP)

โดย “ยูเค-อียู ซัมมิต” หนแรก ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์ ที่มีขึ้นเมื่อช่วงสัปดาห์นี้นั้น ก็มีขึ้นที่กรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมขึ้นอย่างเป็นทางการ

มีเหล่าผู้นำทั้งของสหราชอาณาจักร และอียู เข้าร่วม ได้แก่ เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ พร้อมด้วยนางเออร์ซุลา ฟ็อน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปของอียู และนายอันโตนิโอ คอสตา ประธานคณะมนตรียุโรปแห่งอียู ตลอดจนเหล่าผู้นำชาติสมาชิกอียู 27 ประเทศ ตบเท้าเข้าร่วมประชุมกันอย่างคับคั่ง เนื่องจากเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำ หรือซัมมิต ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ผลการประชุมปรากฏว่า ทั้งสหราชอาณาจักรและอียู สามารถ “ปิดดีล” หรือบรรลุข้อตกลงระดับทวิภาคีฉบับใหม่ครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมหลายด้านด้วยกัน

ประชาชนชาวอังกฤษที่ต่อต้านเบร็กซิต ออกมาแสดงพลังสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป หรืออียู บรรลุข้อตกลงที่ดีที่สุดร่วมกัน โดยได้ชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าแลงคาสเตอร์เฮาส์ กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมสุดยอดในนี้ (Photo : AFP)

ถึงขนาดที่ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งสหราชอาณาจักร และอียู ต่างออกมาประสานเสียงยกย่องไปในทำนองทิศทางเดียวกัน ในระหว่างที่แถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมหารือ จนสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ว่า เป็นหมุดหมายที่สำคัญของทั้งสองฝ่าย

ไม่ว่าจะเป็นการลดอุปสรรค์ทางการค้าระหว่างกัน หลังจากที่อุปสรรคทางการค้าดังกล่าว ได้ถือกำเนิดขึ้นตามมาจากผลพวงของเบร็กซิต

ทั้งนี้ ทางการค้าระหว่างกันที่ว่านั้น ก็รวมถึงสินค้าด้านการเกษตร ตลอดจนอาหารต่างๆ ซึ่งทั้งสหราชอาณาจักรและอียู ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันว่า จะยกเลิกการตรวจสอบสินค้ากลุ่มพืชและสัตว์หลายรายการด้วยกัน อันจะส่งผลให้ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากให้คลี่คลาย และที่สำคัญก็คือ สามารถช่วยลดต้นทุนสินค้าได้อีกต่างหากด้วย

ขณะเดียวกัน ข้อตกลงข้างต้น ก็ยังช่วยให้เปิดทางแก่สินค้าส่งออกของสหราชอาณาจักรหลายรายการ เช่น เบอร์เกอร์ หรือขนมปัง อาหารทะเลประเภทหอย สามารถกลับเข้าสู่ตลาดของชาติสมาชิกต่างๆ ของอียูได้อีกครั้ง

การขนส่งลำเลียงสินค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับชาติสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู จะสะดวกขึ้นจากข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์นี้ (Photo : AFP)

ขณะที่ ในด้านการขนส่งสินค้าระหว่างเกาะบริเตนใหญ่กับไอร์แลนด์เหนือ ที่มีกรอบบังคับของความตกลงวินด์เซอร์ หรือวินด์เซอร์เฟรมเวิร์ก ก็เกิดการคล่องตัวมากขึ้นด้วย

ส่วนในด้านการประมง ตามข้อตกลงฉบับใหม่ ทางสหราชอาณาจักรกับอียู ได้ตกลงกรอบความร่วมมือเป็นระยะเวลา 12 ปี โดยสหราชอาณาจักรสามารถเข้าถึงน่านน้ำของอียูได้ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนที่นอกจากสหราชอาณาจักรคงโควตาเดิมให้แก่เรือของอียูแล้ว ทางรัฐบาลสหราชอาณาจักร ก็จะจัดสรรงบประมาณจำนวน 360 ล้านปอนด์ (คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันก็ราวๆ 15,876 ล้านบาท) สำหรับนำไปใช้สมทบในการพัฒนาปรับปรุงกองเรือและเทคโนโลยีต่างๆ ทางนาวี ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น

การประมงระหว่างน่านน้ำของสหราชอาณาจักรกับชาติสมาชิกอียูประเทศหนึ่ง (Photo : AFP)

ทั้งนี้ ข้อตกลงในประเด็นข้างต้น ก็ยังเป็นการปูทางที่จะนำไปสู่ความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคงอื่นๆ ระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูตามมาอีกด้วย ซึ่งจะครอบคลุมถึงกรอบการมีส่วนร่วมของสหราชอาณาจักร ในโครงการที่มีชื่อว่า “เอสเอเอฟอี” ของอียู อันจะเป็นการสนับสนุนการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางการทหารร่วมกัน ซึ่งจะมีการหารือขยายผลเพิ่มเติมในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องเงินงบประมาณที่จะมาสนับสนุน และการจัดการด้านห่วงโซ่อุปทาน หรือซัพพลายเชน ต่อไป

แสนยานุภาพของกองเรือรบแห่งกองทัพเรืออังกฤษอันเลื่องชื่อ (Photo : AFP)

ข้อตกลงในเรื่องความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ก็จะมีการเพิ่มฐานข้อมูลระหว่างกัน รวมถึงให้สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลระหว่างกันได้เพื่อประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวเดินทาง

โดยประเด็นนี้ดูเหมือนว่า ชาวสหราชอาณาจักรได้ประโยชน์ ที่จะสามารถเข้าถึงฐานข้อมูล “ยูโรโพล (Europol) ได้ พร้อมกันนั้น ก็จะมีการยกระดับความมือด้านข้อมูลชีวมิติและทะเบียนรถยนต์ และนักท่องเที่ยวเดินทางจากสหราชอาณาจักร ก็สามารถใช้ช่องทางอัตโนมัต หรือ “อีเกตส์ (eGates)” ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของอียูได้อีกคำรบ อันจะส่งผลให้การตรวจสอบหนังสือเดินทางเอกสารต่างๆ มีความสะดวกยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ในข้อตกลงก็ยังประเด็นเกี่ยวกับโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างกันด้วย โดยในที่ประชุมยูเค-อียูซัมมิตครั้งนี้ ก็ใช้โมเดลเดียวกับสหราชอาณาจักรทำโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นแบบอย่างที่สำคัญสำหรับการดำเนินโครงการ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.