ย้อนดูทรัพย์สิน "ยิ่งลักษณ์" ก่อนชดใช้จำนำข้าว – ยึดแล้ว 30 รายการ
GH News May 22, 2025 08:08 PM

 

จากกรณี ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษา ให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนใน คดีโครงการรับจำนำข้าว เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 10,028,861,880.83 บาท ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 22 พ.ค.68 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า  ผ่านมาประมาณ 8 ปี ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหาย 10,028 ล้านบาท ซึ่งเป็นร้อยละ 50 ของความเสียหายที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ในฐานะที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติต้องชดใช้ค่าเสียหายส่วนระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ 

โดยศาลปกครองสูงสุด เห็นว่านางสาวยิ่งลักษณ์ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวฯ ไม่ได้ติดตามการระบายอย่างเต็มความสามารถและใกล้ชิด และเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ กขค.เพียงครั้งเดียว และตลอดการดำเนินโครงการมีหนังสือทักท้วง และมีข้อเสนอแนะจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินว่าโครงการมีการทุจริต ขอให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว แต่ก็ยังดำเนินโครงการต่อพฤติการณ์ดังกล่าว จึงเห็นได้ว่ายังคงละเว้นเพิกเฉยไม่ติดตามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลความเสียหายให้ทราบเพื่อป้องกันปัญหาซึ่งโดยวิสัยของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เมื่อได้รับทราบว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นก็ควรติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้ดำเนินการจนทำให้เกิดเหตุทุจริตส่งผลให้การระบายข้าวไม่ทัน ต้องนำมาเก็บไว้และเกิดการเน่าเสียพฤติการณ์ของนางสาวยิ่งลักษณ์จึงเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่ต้องรับผิดทางละเมิดต่อกระทรวงการคลัง

ส่งผลทำให้  นางสาวยิ่งลักษณ์ จำต้องชดใช้ค่าเสียหาย 10,028 ล้านบาท แน่นอนแล้ว 

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันเป็นทางการว่า นางสาวยิ่งลักษณ์  มีทรัพย์สินอยู่เป็นจำนวนเท่าไหร่ เพียงพอที่จะชดใช้ค่าเสียหาย 10,028 ล้านบาทหรือไม่ 

แต่ในช่วงปี 2560 สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปแล้วว่า ข้อมูลทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2558 เทียบกับข้อมูลที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงต่อศาลปกครองกลาง สรุปได้ดังนี้

- ช่วงพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 1 ปี เมื่อปี 2558

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า มีทรัพย์สิน 610,843,436 บาท เป็นเงินสด 14,298,120 บาท เงินฝาก 24,908,420 บาท เงินลงทุน 115,531,804 บาท เงินให้กู้ยืม 108,301,369 บาท ที่ดิน 117,186,350 บาท สิ่งปลูกสร้าง 162,368,182 บาท รถยนต์ 21,990,000 บาท สิทธิและสัมปทาน (กรมธรรม์ประกันชีวิต) 596,189 บาท ทรัพย์สินอื่น (เครื่องประดับ) 45,690,000 บาท

ส่วนนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามีนอกสมรส มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 76,633,895 บาท และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีทรัพย์สิน 1,535,795 บาท

น.ส.ยิ่งลักษณ์ แจ้งรายได้รวมต่อปี 9,512,548 บาท เป็นค่าเช่า 888,000 บาท ดอกเบี้ย 2.3 ล้านบาท เงินปันผล 4 ล้านบาท ได้เงินคืนจากการชำระหนี้ของบริษัท แอ็ด อินเด็กซ์ จำกัด บางส่วน 2 ล้านบาท ได้เงินทุนเลี้ยงชีพจากกองทุนผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ระหว่าง ธ.ค. 2556-มี.ค. 2558 เป็นเงิน 324,548 บาท

มีรายจ่ายรวมต่อปี 3,920,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภค 3.6 ล้านบาท ค่าเบี้ยประกัน 3.2 แสนบาท

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงต่อศาลปกครองช่วงต้นปี 2560 ชี้แจงว่า มีรายจ่ายต่อเดือน 2,650,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน 1 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของบุตร 2 แสนบาท ค่าที่ปรึกษาทางกฎหมาย และค่าดำเนินคดี 2 แสนบาท ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 8 แสนบาท และค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือ เยี่ยมเยือนประชาชน 4.5 แสนบาท

น่าสังเกตว่า รายจ่ายต่อเดือนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ช่วงต้นปี 2560 สูงมากเกือบเทียบเท่ารายจ่ายต่อปีในปี 2558 เลยทีเดียว ?

นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่าปัจจุบันมีรายได้จากดอกเบี้ย และเงินฝากในบัญชีธนาคารเท่านั้น พร้อมแนบสำเนาบัญชีเงินฝากของธนาคาร 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ สาขาซอยอารี 4 บัญชี ธนาคารกรุงเทพ สาขาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติอาคาร A รวม 9 บัญชี ธนาคารกสิกรไทย รวม 4 บัญชี และธนาคารยูโอบี สาขาวิภาวดีรังสิต 9 รวม 2 บัญชี

เมื่อย้อนกลับไปดูในบัญชีเงินฝากของธนาคารเหล่านั้น ในช่วงยื่นบัญชีทรัพย์สินเมื่อปี 2558 พบว่า ธนาคารกรุงเทพ สาขาซอยอารี มีทั้งหมด 6 บัญชี แต่ตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุล่าสุด พบว่า มีแค่ 3 บัญชีที่แจ้งในบัญชีทรัพย์สินช่วงนั้น

โดยบัญชีเลขที่ 127-4-20316-3 มีเงินฝากประมาณ 45 ล้านบาท โดยหมายเหตุแจ้ง ป.ป.ช. ว่า ไม่มีเงินฝากของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่เป็นเงินที่ครอบครองในส่วนที่เหลือของการขายหุ้นชินคอร์ปฯ ตามข้อเท็จจริงในการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยว่า นายทักษิณ ชินวัตร (อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชาย น.ส.ยิ่งลักษณ์) ยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นชินคอร์ปฯ จำนวนที่ขายให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปแล้วอยู่ และเคยแจ้งข้อเท็จจริงในการครอบครองไว้แล้วประมาณ 77 ล้านบาท และระหว่างวันที่ 22 มิ.ย. 2555-6 พ.ค. 2558 ได้ยืมเงินฝากในบัญชีดังกล่าวส่วนของนายทักษิณ รวม 33,070,803 บาท ซึ่งนายทักษิณได้อนุญาตให้ยืมเงินดังกล่าวได้โดยไม่คิดดอกเบี้ย

บัญชีเลขที่ 127-4-83724-2 มีวงเงิน 59,463 บาท ส่วนบัญชีเลขที่ 127-4-91339-9 มีวงเงิน 15,562,161 บาท โดยหมายเหตุแจ้ง ป.ป.ช. ว่า เป็นบัญชีใหม่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลุ่มบริษัทเอสซี แอสเสท ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ส่วนบัญชีเลขที่ 127-4-91898-9 ไม่มีปรากฏในบัญชีทรัพย์สินแต่อย่างใด ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดบัญชีเพิ่มเติมภายหลัง

ธนาคารกสิกรไทย 4 บัญชี มีวงเงินรวม 4,879,040 บาท โดยมีบัญชีเลขที่ 799-2-56169-2 หมายเหตุแจ้ง ป.ป.ช. ว่า มีเงินจำนวน 3,381,345 บาท ที่ได้รับจากการปันผลหลักทรัพย์หุ้น บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ธนาคารยูโอบี สาขาวิภาวดีรังสิต 2 บัญชี มีวงเงินรวม 1,741,154 บาท ส่วนธนาคารกรุงเทพ สาขาศูนย์ราชการฯ รวม 9 บัญชี ที่แจ้งต่อศาลปกครองนั้น ไม่ปรากฏในบัญชีทรัพย์สินแต่อย่างใด อาจเป็นไปได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดบัญชีเพิ่มเติมภายหลัง

ส่วนที่ดิน 2 แปลง ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แจ้งต่อศาลปกครอง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 16505 และ 70389 ใช้ปลูกสร้างบ้านเลขที่ 38/9 ซอยนวมินทร์ 111 แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กทม. (ในบัญชีทรัพย์สินระบุด้วยว่า พร้อมสนามฟุตบอล) รวมมูลค่าที่แจ้งในบัญชีทรัพย์ศินที่ดิน 2 แปลง และบ้านหลังดังกล่าวทั้งสิ้น 134 ล้านบาท (เฉพาะบ้าน 110 ล้านบาท)

ที่ดินโฉนดเลขที่ 25401 ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แจ้งต่อศาลว่า ใช้ปลูกสร้างบ้านพักอาศัยของคนงาน ลูกจ้าง และบริวาร และใช้เป็นที่สำหรับจอดรถ ไม่ปรากฏในบัญชีทรัพย์สินแต่อย่างใด

จากข้อมูลดังกล่าว ถ้าทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่หลบหนีคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ที่ศาลฎีกาฯพิพากษาโทษจำคุก 5 ปี ไปอยู่ต่างประเทศ นับตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน 2568 ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เท่ากับว่ามีทรัพย์สินมูลค่า ประมาณ 610 ล้านบาท  เทียบกันไม่ได้เลยกับค่าความเสียหายที่ต้องชดใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ที่ถูกเรียกเก็บ

- กรมบังคับคดีทยอยยึดอายัด ตั้งแต่ปี 60  รวมกว่า 30 รายการ

ขณะที่มีรายงานข่าวว่า ตั้งแต่เดือนก.ค. 2560 เป็นต้นมา กรมบังคับคดี ได้ยึดอายัดทรัพย์สินของน.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมกว่า 30 รายการ มีบ้านและที่ดินทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดประมาณสิบแปลง ห้องชุด และอายัดบัญชีเงินฝากประมาณ 12-13 บัญชี มีเงินหลักล้านบาท

โดยบ้านที่ซอยนวมินทร์ 111 ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากที่สุดในบรรดาทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์สินฯ ที่ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. ระบุว่า มีราคา 110 ล้านบาท

แต่ทรัพย์สินที่กรมบังคับคดีดำเนินการยึด อายัดไว้ ยังไม่มีการนำทรัพย์สินดังกล่าวขายทอดตลาด แม้ว่าตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช. )ที่ให้กรมบังคับคดีมีอำนาจดำเนินการบังคับทางปกครอง ยึดทรัพย์ผู้ต้องรับผิดชอบ ในโครงการรับจำนำข้าวนั้น กรมบังคับคดีสามารถดำเนินการเอาทรัพย์สินออกขาย ทอดตลาดได้เลยก็ตาม

ขณะที่ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra ระบุถึงกรณีทรัพย์สินที่ถูกกรมบังคับคดียึดจากคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ระบุว่า หลายคนคงคิดว่าช่วงนี้ทำไมเงียบหายไป ยังมีความสุขดีอยู่มั้ย บางครั้งการพยายามไม่คิดมาก ทำใจให้สงบ มีความสุขก็ทำให้รู้สึกดีขึ้นในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่ความสุขเหล่านั้นก็อยู่บนความสุขที่หน้าชื่นอกตรม เพราะนอกจากตัวเองจะต้องพลัดพรากจากลูก จากครอบครัวและจากพี่น้องประชาชนมาอยู่ต่างแดนแล้วยังต้องสูญเสียบ้าน ทรัพย์สิน บัญชีธนาคาร รวมถึงทรัพย์สมบัติส่วนตัวที่ตนเองหามาตั้งแต่ครั้งยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนมาเป็นนายกรัฐมนตรี และสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ตอบแทน ต้องสูญเสียบ้านที่ถูกยึด และขณะนี้ทรัพย์สินของก็กำลังถูกกรมบังคับคดีประมูลชิ้นต่อชิ้น ตนใช้ข้อต่อสู้ทางกฎหมายทุกรูปแบบแล้วแต่ก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งได้ เพราะนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 (ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557) ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยึดอำนาจ และจนถึงปัจจุบันมาตรา 44 ก็ยังคุ้มครองเจ้าหน้าที่อยู่ ทุกคนจึงเร่งดำเนินการกับคดีตนโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย เพราะจริง ๆ แล้วคดีต้องรอคำพิพากษาศาลปกครองที่ถึงที่สุดว่าตนแพ้คดีก่อนจึงจะสามารถนำทรัพย์เหล่านั้นมาขายทอดตลาดได้ เป็นการถูกกระทำที่ไม่เหมือนใครในประวัติศาสตร์ ซึ่งการนำเอาข้ออ้างของมาตรา 44 มาอยู่เหนือคำพิพากษาของศาลนอกจากไม่ควรจะเกิดขึ้นกับใครแล้ว ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ผลกระทบของการใช้ มาตรา 44 ให้มีอำนาจเหนือรัฏฐาธิปัตย์ถือเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย

"วันนี้ดิฉันเองจึงอยากจะขออนุญาตเล่าความในใจว่า ดิฉันเองจะต้องต่อสู้เรื่องของการถูกประมูลทรัพย์สินทุกชิ้นที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรง มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจนัก แม้กระทั่งทรัพย์สมบัติที่พ่อแม่ให้มา ดิฉันก็ไม่สามารถที่จะปกป้องเอาไว้ได้ ดิฉันต้องอดทนต่อความเจ็บปวดและสะเทือนใจทุกครั้งที่รับทราบว่าทรัพย์ถูกทยอยขายไปทีละชิ้น ทีละชิ้น บางครั้งดิฉันก็ต้องปลอบใจตัวเองและบอกกับตัวเองว่า หากเรายังเศร้าและจมปลักอยู่กับอดีตเราก็จะไม่มีความสุข เรายังต้องมีภาระและดูแลอีกหลายชีวิตที่เขาฝากความหวังไว้กับเรา" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวด้วยว่า ตนต้องพยายามยืนและมองไปข้างหน้าโดยมองอดีตเป็นประสบการณ์ และคนเราควรจะอยู่เพื่อวันนี้และเพื่ออนาคต ไม่เอาอดีตมาทำให้เราไม่สามารถจะหลุดพ้นหรือเดินไปข้างหน้าไม่ได้ เพราะวันนี้พยายามที่จะบอกว่าอยู่กับปัจจุบันและอยู่กับอนาคต เราจะต้องเข้มแข็งและสู้ต่อไป แต่สิ่งหนึ่งในอดีตที่ดิฉันไม่เคยลืมก็คือความไว้วางใจที่พี่น้องประชาชนมีต่อดิฉันโดยเสมอมา #ม.44กฎหมายเลือกข้าง #กฎหมายเลือกข้าง

ณ วันนี้  นางสาวยิ่งลักษณ์ จำต้องชดใช้ค่าเสียหาย 10,028 ล้านบาท อย่างแน่นอนแล้ว หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาชี้ขาดแล้ว 

มีโทษจำคุกติดตัว 5 ปี แถมยังต้องชดใช้เงินอีกหมื่นล้านบาท นับเป็นชะตากรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

ส่วนประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามดูกันต่อไป กระบวนการไล่ล่าทรัพย์สินของ  นางสาวยิ่งลักษณ์ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีความรวดเร็ว มากขึ้นหรือไม่ ถ้านางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่สามารถชดใช้เงินได้ครบถ้วน จะเกิดอะไรขึ้น 

เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นสำคัญ ที่ต้องจับตาดูกันต่อไป แบบห้ามกะพริบตาโดยเด็ดขาด 

ขอบคุณ สำนักข่าวอิศรา

 

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.