สุดจึ้ง เปิดตัว 6 ทูตนฤมิต บางกอกไพรด์ ในชุดอลังการผ้าไทย ตัวแทนพลังแห่งความหลากหลาย พร้อมชวนชาว LGBTQIAN+ ทั่วโลก มาเฉิดฉายในงาน “Bangkok Pride Festival 2025” บนถนนพระราม 1 วันที่ 1 มิถุนายนนี้
ต้อนรับสู่ “Pride Month” เดือนมิถุนายน 2568 ที่เฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความภาคภูมิใจของชาว LGBTQIAN+ หลังกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้แล้ว วันนี้กำลังเดินหน้าต่อ สู่เป้าหมายการรับรองอัตลักษณ์
สำหรับงานนี้ หนีไม่พ้นเจ้าภาพของการจัดงานอย่าง “บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด” ที่ขับเคลื่อนและสร้างปรากฏการณ์ถนนสีรุ้งเมื่อปี 2565 ที่ถนนสีลม และหากใครที่ติดตามข่าวสารของชาวสีรุ้งในทุก ๆ ปี ตั้งแต่ปี 2566 ก็คงจะเคยเห็นภาพกลุ่มก้อนของชาว LGBTQIAN+ ที่สวมใส่เสื้อผ้าสีสันสดใส งานดีไซน์เก๋ไก๋ดูแปลกตา บ่งบอกความเป็นตัวของตนเองได้อย่างลงตัว
โดยเฉพาะ “6 ทูตนฤมิต บางกอกไพรด์” แบรนด์แอมบาสซาเดอร์ หรือตัวแทนพลังแห่งความหลากหลายของงาน “Bangkok Pride” ซึ่งในปี 2568 ตัวแทนพลังแห่งความหลากหลายมาในธีม “Goddess of Rice” ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “ข้าว” สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ล้อไปกับธีม “Born This Way” ของการจัดงานปีนี้ ด้วยการดึงอัตลักษณ์ของความเป็นเพศหลากหลายของคนเอเชียออกมานำเสนอ และสร้างสีสันในงานสุดอลังการ
สำหรับทูตนฤมิต ประจำปี 2568 ทั้ง 6 คนคือผู้ที่เคยเข้าร่วมประกวดในปี 2567 แม้ปีนี้ไม่มีการจัดประกวด แต่ทั้ง 6 คนได้ผ่านการคัดเลือกมาอย่างเข้มข้น จากการมีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอกับกิจกรรมของ “บางกอกไพรด์” และหลายคนก็เป็นนักเคลื่อนไหวที่ทำงานเพื่อชุมชน LGBTQIAN+ มาอย่างต่อเนื่อง ที่พิสูจน์แล้วเห็นว่าความสามารถ และศักยภาพ “มาเต็ม” แบบสมมงกับตำแหน่ง ทูตนฤมิต บางกอกไพรด์ ประจำปีนี้ เพื่อสื่อสาร และเป็นกระบอกเสียงสำคัญของบางกอกไพรด์ในพื้นที่ต่าง ๆ ประเด็นของเพศหลากหลาย
“ป๊อปอาย-มงคล ไทยอ่อน” ทูตนฤมิตสีส้ม ผู้ยืนยันพลังของการแสดงออก โดยเฉพาะ “การแต่งกาย” ที่ป๊อปอาย ยึดถือว่าไม่ใช่แค่เรื่องแฟชั่น แต่คือการประกาศตัวตนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ผ่านแคมเปญส่วนตัว “ใส่กระโปรงแล้วทรงพลัง” ป๊อปอาย เชื่อว่าการแต่งตัวคือภาษาหนึ่งของการเป็นตัวเอง และอยากเห็นผู้คนกล้าที่จะ “เป็นตัวเอง” อย่างเต็มภาคภูมิ
“บีบอนด์-สมประสงค์ ชวดสูงเนิน” ทูตนฤมิตสีแดง ผู้ใช้เสียงของตนในฐานะ survivor ที่ผ่านเหตุการณ์รุนแรงในครอบครัว บีบอนด์ใช้เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเองเพื่อปลุกให้สังคมตระหนักว่า เด็กและเยาวชน LGBTQIAN+ ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ เติบโต และเยียวยาอย่างเท่าเทียมกับทุกคน
“ไฮยีนส์-พิชยา เกตุอุดม” ทูตนฤมิตสีม่วง นักเคลื่อนไหวที่เติบโตจากชุมชนและร่วมผลักดันประเด็นสมรสเท่าเทียม ไปจนถึงการเรียกร้องสิทธิของ LGBTQIAN+ ในเรือนจำ ไฮยีนส์เชื่อในพลังของการรักและเข้าใจตนเอง รวมถึงการยอมรับผู้อื่นอย่างลึกซึ้งว่า คือรากฐานของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
“ดาด้า-ฉัตรชฎา สุวรไตร” ทูตนฤมิตสีฟ้า ผู้หญิงข้ามเพศที่ทำงานด้านการดูแลผู้สูงอายุ และมีความฝันในการสร้างระบบสวัสดิการสุขภาพสำหรับชุมชนหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนศัลยกรรม คลินิกเฉพาะทาง หรือศูนย์พักฟื้นในวัยเกษียณ เพื่อให้คนหลากหลายทางเพศได้เข้าถึงระบบการดูแลอย่างเท่าเทียม
“ฆนา-ฆนรุจ สุสาวรนนท์” ทูตนฤมิตสีเขียว ข้าราชการครูที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนแนวคิด Gender Transformative Education หรือการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงบทบาททางเพศ ฆนาเชื่อว่าโรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยของคนทุกเพศ และการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ยั่งยืน ต้องเริ่มจากห้องเรียน
“ปังปอนด์-ปอเกียรติ อิทธิทวีอนันท์” ทูตนฤมิตสีเหลือง ผู้หญิงข้ามเพศที่เป็นกระบอกเสียงเรื่องสิทธิในการเข้าถึงฮอร์โมนและการดูแลทางการแพทย์ที่ปลอดภัยสำหรับผู้ข้ามเพศ ปังปอนด์ต้องการให้สังคมตระหนักว่า ยาฮอร์โมนไม่ใช่เรื่องของความสวยงาม แต่คือกุญแจสำคัญที่เชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิต ศักดิ์ศรี และสิทธิมนุษยชน
ทั้งหมดนี้ คือ ทูตนฤมิต ประจำปี 2568 ของ “Bangkok Pride Festival 2025” และทูตนฤมิต ไม่ใช่เพียงแค่ผู้สวมชุดสวยงาม แต่คือผู้สวมพลังของเรื่องราว ความเชื่อ และการเคลื่อนไหว เพื่อประกาศว่า “ความหลากหลาย คือ พลังสร้างสังคมใหม่ที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน”
โดยทั้ง 6 คน จะมาร่วมเดินพาเหรดบนถนนสีรุ้งแห่งการเฉลิมฉลองด้วยกัน ในวันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน 2568 บนถนนพระราม 1 เริ่มตั้งแต่บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ ผ่านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน วัดปทุมวนาราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยาวมาจนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ รวมระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร
พร้อมด้วยธงสีรุ้งขนาดใหญ่ และธงอัตลักษณ์ที่ยาวที่สุดกว่า 200 เมตร ซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกในประเทศไทย และในโลกที่จะโบกสะบัด เพื่อร่วมเฉลิมฉลองความหลากหลาย เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภายใต้แนวคิด “Born This Way” พร้อมทั้งกิจกรรมไฮไลต์ตลอดเส้นทาง ตั้งแต่เวลา 14.00-22.00 น.
รู้จักกับ 6 ทูตนฤมิต บางกอกไพรด์ ในปีนี้กันแล้ว ต่อไปขอพามารู้จักกับ Fashion designers ผู้อยู่เบื้องหลังชุดสุดอลังการ สีสันสดใส ดีไซน์ชนะเริ่ดของเหล่าทูตนฤมิตกันก่อน “โป้ง-จรัญ คงมั่น” ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ดีกรีแฟชั่นดีไซน์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต
โป้งเล่าว่า ตนเองมีความสนใจในเรื่องประเด็นสังคม มาตั้งแต่สมัยเรียน บวกกับเป็นคนชื่นชอบในเรื่องของแฟชั่นและเสื้อผ้ามาตลอด จึงคิดว่าอยากนำความรู้และความถนัดของตนเองมาถ่ายทอดและเป็นไอเดียในการเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านเสื้อผ้า-แฟชั่น เพราะมองว่าแฟชั่นเสื้อผ้า คือ เครื่องมือรูปแบบหนึ่งที่สามารถแสดงออก และสื่อสารประเด็นต่าง ๆ ได้
สำหรับแรงบันดาลใจ หรือแนวทางในการออกแบบชุด ภายใต้ธีม “Goddess of Rice” หรือ “เทพีข้าว” สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ที่ผู้คนในเอเชีย โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์หรืออาเซียน ต่างยึดถือและให้ความเคารพมาอย่างยาวนาน
ข้าว ในฐานะอาหารหลักที่ไม่ได้หล่อเลี้ยงเพียงร่างกาย หากยังเป็นรากฐานของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนในภูมิภาค การใช้สีชุดก็ล้อไปกับขบวนพาเหรดของงาน Bangkok Pride Festival 2025 ที่ปีนี้จัดภายใต้แนวคิดหรือธีม Born This Way หรือการเดินทางจากชัยชนะของกฎหมายสมรสเท่าเทียม สู่จุดมุ่งหมายถัดไปคือ การรับรองอัตลักษณ์อย่างเต็มรูปแบบ
ส่วนการดีไซน์ชุด และการตัดเย็บ ได้ดึงตัวตนของผู้สวมใส่ และแรงบันดาลใจจากไพรด์พาเหรดเป็นแกนหลักในการออกแบบ ทั้ง 6 ชุด 6 สี ของทูตนฤมิตในปีนี้ จึงถ่ายทอดความงดงามของข้าว ผ่านงานออกแบบที่ใช้ผ้าฝ้ายทอมือจากเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัสดุหลัก
โดดเด่นด้วยเทคนิคการเดรปปิ้งที่สะท้อนลายเส้นธรรมชาติของผืนผ้า แซมด้วยผ้าฝ้ายมัดหมี่ลายเม็ดข้าว เพิ่มมิติให้กับชุด ถักทอเรื่องราวของผืนดินและวิถีชุมชนลงในแฟชั่นร่วมสมัย
จึงเป็นทั้งการสวมใส่ “ภูมิปัญญา” และ “ความภาคภูมิใจ” ในความเป็นท้องถิ่น โดยทั้ง 6 ชุด 6 สี มีแคแร็กเตอร์ที่แตกต่างกัน แต่ละชุดจะสื่อความหมาย และบ่งบอกถึงตัวตนอย่างสร้างสรรค์ของผู้สวมใส่ที่ได้รับตำแหน่งทูตนฤมิตทั้ง 6 คนได้อย่างลงตัว