ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจและภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นที่กดดันภาคธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม “ดุสิตธานี” ยังคงแสดงความแข็งแกร่งของโครงสร้างธุรกิจ และความสามารถในการบริหารการเงินอย่างมีวินัย ด้วยรายได้รวมปี 2567 ที่ 11,200 ล้านบาท สูงสุดในประวัติศาสตร์ก่อตั้ง 77 ปี
แม้จะยังคงมีผลขาดทุนสุทธิจากต้นทุนทางการเงินที่สูงถึง 578 ล้านบาท แต่ผู้บริหารย้ำชัดว่าหากไม่รวมภาระดอกเบี้ย “ดุสิตธานี” จะสามารถทำกำไรจากการดำเนินงานได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะ EBITDA ที่พุ่งขึ้นเกือบเท่าตัวมาอยู่ที่ 1,650 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพของการบริหารธุรกิจหลักอย่างแท้จริง
“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT ให้ข้อมูลว่า สาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทขาดทุนในปี 2567 มาจากภาระต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะดอกเบี้ยจากหุ้นกู้ที่ออกในช่วงโควิด-19 เพื่อรักษาสภาพคล่อง และดอกเบี้ยจากสัญญาเช่าตามมาตรฐาน TFRS 16 ซึ่งรวมแล้วเป็นภาระดอกเบี้ยสูงถึง 578 ล้านบาท
“หากไม่มีภาระดอกเบี้ยเหล่านี้ เราก็จะไม่ขาดทุน”
พร้อมบอกว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา บริษัทเลือกไม่เพิ่มทุนเพราะต้องการรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเดิมให้มากที่สุด แม้จะต้องลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ที่มีมูลค่ากว่า 47,000 ล้านบาท
“ศุภจี” บอกว่า ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ตัวเองเข้ามาบริหารนั้นมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย จากที่มีโรงแรม 27 แห่งใน 8 ประเทศ ปัจจุบัน “ดุสิตธานี” มีโรงแรมในเครือข่าย 58 แห่งใน 19 ประเทศ และเมื่อรวมกับธุรกิจอื่นในเครือ เช่น วิลล่า อาหาร อสังหาริมทรัพย์ และการศึกษา กลุ่มบริษัทก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
แบรนด์ภายใต้เครือก็เพิ่มขึ้นจาก 4 แบรนด์ เป็น 10 แบรนด์ขณะที่จำนวนพนักงานก็เพิ่มขึ้นจาก 7,000 คน เป็นกว่า 10,000 คน โดยทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจโรงแรม ซึ่งในอดีตเคยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของรายได้ทั้งหมด
“เราต้องกระจายความเสี่ยง สร้างฐานธุรกิจให้แข็งแรงเพื่อให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน ถ้าเรายังอยู่กับโรงแรมอย่างเดียว วันที่โควิดมาเราอาจไม่เหลืออะไรเลย”
ที่สำคัญ โครงการใหม่อย่าง “อาศัย” ซึ่งเป็นแบรนด์โรงแรมที่เจาะกลุ่มมิลเลนเนียล และเจเนอเรชั่น Z ก็เป็นผลลัพธ์จากวิสัยทัศน์นี้เช่นกัน
“ศุภจี” ยังบอกด้วยว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของ “ดุสิตธานี” จะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2568 นี้ เมื่อเริ่มทยอยโอนกรรมสิทธิ์โครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ซึ่งปัจจุบันมียอดขายแล้วกว่า 88% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 15,500 ล้านบาท
โดยบริษัทเริ่มโอนตั้งแต่ปลายปี 2567 และต่อเนื่องตลอดปี 2568 ซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์จะช่วยสร้างกระแสเงินสดกลับเข้าสู่บริษัท และลดภาระดอกเบี้ยลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคาดว่าจะทำให้บริษัทกลับมามีกำไรสุทธิได้เต็มรูปแบบ
“ไม่มีสถาบันการเงินไหนจะให้กู้กับบริษัทที่เขาไม่มั่นใจว่าจะคืนเงินได้ และไม่มีใครจัดอันดับ Investment Grade ให้บริษัทที่ไม่มีศักยภาพ” ศุภจีอธิบาย
สำหรับในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2568 ที่ผ่านมานั้น “ศุภจี” แจงว่า บริษัทมีรายได้เติบโต 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดย EBITDA ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 513 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิหดตัวลง 60.7% เหลือ 48 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นผลจากต้นทุนการเปิดโรงแรมใหม่ และการลดลงของรายได้อื่นจากอัตราแลกเปลี่ยน
หากตัดผลกระทบพิเศษเหล่านี้ออก บริษัทจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 37 ล้านบาท ลดลงเพียง 32.7% ขณะที่ EBITDA ปรับตัวดีขึ้นถึง 13.3% เป็นสัญญาณว่าธุรกิจหลักยังคงเดินหน้าอย่างมีเสถียรภาพ
พร้อมย้ำว่า ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2568 “ดุสิตธานี” ยังคงดำเนินธุรกิจตามแผนปกติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างผู้บริหาร โดยงบการเงินไตรมาส 1/2568 ได้รับการจัดทำและสอบทานโดยผู้สอบบัญชีอย่างโปร่งใส และส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา
โดยพยายามคลี่คลายสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการภายในของผู้ถือหุ้นที่บริษัทไม่สามารถแสดงความเห็นได้ และคาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายหลังการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้
“ศุภจี” ยังเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับในปี 2568 นี้ “ดุสิตธานี” ได้ก้าวสู่ปีที่ 77 ของการดำเนินธุรกิจ และผู้บริหารยืนยันว่า กลยุทธ์ระยะยาว 9 ปีที่ประกาศไว้ตั้งแต่วันแรกของการเข้ารับตำแหน่งซีอีโอยังคงเดินหน้าอย่างมั่นคง โดยไม่มีการตัดสินใจใดที่ขัดกับแนวทางเดิม
โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงการขยายแบรนด์โรงแรมใหม่ การสร้างรายได้จากอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ และการลงทุนในธุรกิจบริการด้านอาหารและการศึกษาที่ต่อยอดจากความเชี่ยวชาญของกลุ่ม ล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า
“ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ดุสิตธานียังได้รับคะแนนธรรมาภิบาลระดับ 5 ดาว จาก IOD ต่อเนื่อง และไม่เคยมีข้อสังเกตในงบการเงินจากผู้สอบบัญชีที่เป็นหนึ่งในกลุ่ม Big Four ของโลก อีกทั้งยังได้รับรางวัล Best IR Performance จากตลาดหลักทรัพย์ฯ สะท้อนถึงมาตรฐานการสื่อสารกับนักลงทุนที่โปร่งใสและมืออาชีพ”
พร้อมย้ำว่า ไม่เคยพูดว่าเราเก่ง แต่เราแสดงให้เห็นว่าองค์กรไทยสามารถรักษาความน่าเชื่อถือ แม้ในยามวิกฤต และยังเดินหน้าสู่เป้าหมายระดับโลกได้ด้วยความชัดเจน วินัย และความร่วมมือจากทุกฝ่าย