จากแสนคนปัจจุบันมีการรวบรวมข้อมูลศิลปินพื้นบ้านทั่วประเทศพบว่า มีจำนวน 40,000-60,000 คน แม้ศิลปินพื้นบ้านจะมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม แต่ปัจจุบันอัตราการจ้างงานกลุ่มศิลปินพื้นบ้านยังไม่เพียงพอ รายได้ไม่แน่นอน เหล่าศิลปินนักแสดงพื้นบ้านทั้งลิเก โนรา หนังตะลุง ขับซอ หมอลำ งิ้ว เจอสารพัดปัญหา บางคณะล้มหายตายจากไป
เพื่อกระตุ้นให้เกิดการส่งเสริมการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ศิลปินนักแสดงพื้นบ้าน รวมถึงศิลปินแขนงอื่น ๆ ในท้องถิ่น กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ผนึก 8 หน่วยงานหลักสนับสนุนและขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ประกอบกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะประธานการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานสร้างความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม ด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน กล่าวว่า กรอบความร่วมมือมีเรื่องหลักๆ 1.ขอให้ 8 หน่วยงานสนับสนุนการจ้างงานศิลปินพื้นบ้านสาขาต่างๆ ผ่านฐานข้อมูลศิลปินนักแสดงพื้นบ้านทั่วประเทศที่สามารถติดต่อจ้างงานได้บนเว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.culture.go.th จัดทำโเดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ. ) หรือติดต่อจังหวัดโดยตรง เพื่อแก้ปัญหาศิลปืนพื้นบ้านไม่ถูกจ้างงาน
2.ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และต่อยอด เน้นทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายของแต่ละหน่วยงาน ในการดำเนินโครงการหรือจัดกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ทั้งด้านวิชาการ และด้านการแสดง เช่น กระทรวงมหาดไทยเชิญศิลปินพื้นบ้านไปร่วมกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ,กระทรวงพัฒนาสังคมฯ จัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตและบำบัดให้แก่กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผ่านกิจกรรมดนตรีและศิลปะโดยศิลปินพื้นบ้านสาขาต่างๆ 3.เปิดพื้นที่บ้านศิลปินพื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กรณีในพื้นที่ไม่มีให้เครือข่ายไปเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมในภูมิภาค
4.พัฒนาฐานข้อมูลศิลปินพื้นบ้านทั่วประเทศให้ครอบคลุม ทันสมัย ข้อมูลนี้จะต่อยอดให้กลุ่มศิลปินพื้นบ้านเติบโตกว่าเดิม และ 5.จัดทำข้อมูล และหลักสูตรการศึกษาเกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รวมถึง การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่น โดยร่วมมือกับ อว. และศธ.
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือถึงความร่วมมือในอนาคต ปลัด วธ. กล่าวว่า MOU ตั้งแต่ปี 2568-2570 ปีนี้เริ่มที่การจ้างงาน ปี 69 จัดทำแผน โดยมีโครงการหรือกิจกรรมที่สอดรับกับความร่วมมือ เมื่อครบตามแผน 3 ปี คาดว่าจะเกิดการจ้างงานศิลปินพื้นบ้านเพิ่มกว่า10-20% เกิดการจ้างงานที่ขยายในวงกว้าง จากเดิมวัด ชุมชน ชาวบ้านจ้างกันเอง มีการถ่ายทอดผลงานมากขึ้น ศิลปินรุ่นครู พ่อครู แม่ครูเติมเต็มความรู้ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่สนใจศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และประยุกต์ให้มีความร่วมสมัยเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เกิดการยอมรับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ตามแผนจะมีการรายงานผลการดำเนินงานที่แต่ละหน่วยงานขับเคลื่อนเรื่องศิลปินพื้นบ้าน โดยแต่ละหน่วยงานจะประสานข้อมูลกับหน่วยงานภายใต้สังกัดในภูมิภาคเพื่อรายงานผล ตลอดจนการขยายสู่ศิลปินพื้นบ้านสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม แต่ละหน่วยงานจะเร่งแจ้งให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมรวบรวมสรุป ภายในต้นเดือนมิถุนายน 2568